“นิติธร - นิพิฏฐ์” เข้าให้ข้อมูล ศปป. “นิพิฏฐ์” ห่วงการทำงานของ สปช. ต้อง “พ้นจากเรือแป๊ะ” - ชี้ปมอภัยโทษ ไม่ใช่อำนาจคณะบุคคล เชื่อ รธน.50 ดีสุดแล้ว “นิติธร” ชี้นัยยะของการเคลื่อนไหว อย่ามองแค่ว่าเป็นเรื่องการชุมนุม ด้าน รอง ผอ.ศปปช. ย้ำไม่ได้กดดันใครให้ความเห็น
วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) พลโท บุญธรรม โอริส รองผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ได้เชิญ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษาเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) มาร่วมพูดคุย
พลโท บุญธรรม กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการกดดันแต่เป็นการเชิญมาให้ข้อมูล โดยการเชิญมารายบุคคลเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน เพราะเเต่ละท่านมีหลายประเด็น หากเชิญมาหลายท่านในวันเดียวกันจะไม่สามารถได้ข้อมูลที่ครบถ้วน และจะมีการเชิญมาอีกสำหรับผู้ที่มีความรู้ในเรื่องที่ ศปป. ต้องการ ซึ่งจะต้องรอบคอบในการเชิญมาในแต่ละครั้งเพราะหลายเรื่องมีความละเอียดอ่อน โดยเน้นเรื่องเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าการเมือง
ส่วนการแสดงความกังวลถึงการทำงานของ คสช. สามารถแสดงความเห็นได้เต็มที่หรือไม่ ระบุ เท่าที่เชิญมาไม่ได้แสดงความกังวล แต่เพียงนำเสนอเพิ่มเติม ซึ่งหลายครั้งมีการนำเสนอที่ไม่ตรงเมื่อนำไปออกสื่อ ก็ต้องเชิญมาพูดคุยเพื่อให้นำเสนอตรงกัน และขอให้สื่อนำเสนอข่าวให้ตรงกับข้อเท็จจริงและสร้างสรรค์ และย้ำว่าศปป.ทำงานด้วยความเป็นมิตร ไม่ได้ใช้อำนาจขู่เข็ญ แต่มาด้วยความเต็มใจ เป็นการเชิญมาไม่ใช่พาตัวมา
สำหรับนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองจะเชิญมาพูดคุยหรือไม่ พลโทบุญธรรม กล่าวว่า ยังไม่มีการเชิญ เพราะจะดูในภาพกว้างก่อนในเรื่องสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนประเทศและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ส่วนที่เชิญมาก่อนหน้านี้ก็ได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี
ด้าน นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฎิรูปประเทศไทย (คปท.) ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ได้เสนอในเรื่องรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ตอบโจทย์สำคัญๆ เช่น เรื่องการเข้าสู่อำนาจรัฐ การป้องกันการทุจริต การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ การกระจายอำนาจ ฯลฯ ส่วนเรื่องการปฎิรูปประเทศตนได้เสนอเรื่องการจัดการเลือกตั้งและการตรวจสอบ การเลือกตั้งโดยให้ตัวแทนของพรรคการเมืองเข้าไปเป็นตัวแทนในเขตเลือกตั้ง เพื่อตรวจสอบกันเอง สำหรับการปฎิรูปตำรวจควรแยกอำนาจในการสอบสวนออกมา
เมื่อถามถึงกรณีที่เคยใหัสัมภาษณ์ว่า หากการปฎิรูปไม่มีความคืบหน้าภายในสิ้นปีจะออกมาเคลื่อนไหว นายนิติธร กล่าวว่า ในประเด็นนี้ไม่ได้พูดคุยกัน แต่รัฐบาลที่มาจากอำนาจพิเศษ มักไม่ได้พ้นไปด้วยเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ แต่มักจะพ้นไปด้วยเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ประเด็นนี้จึงควรระมัดระวัง
ทั้งนี้ ประชาชนคาดหวังการปฏิรูปว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ถ้าระยะเวลาผ่านมาพอสมควรแล้วประชาชนอาจจะออกมาทวงถามหรือออกมาเสนอแนะแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา การปฎิรูปในภาพใหญ่ยังไม่มีความชัดเจนในแง่การสั่งการ เห็นว่านายกรัฐมนตรี สั่งการอยู่ เช่น การเอาผิดข้าราชการที่ทุจริต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นัยยะของการเคลื่อนไหวอย่ามองว่าเป็นเรื่องการชุมนุม และอย่ามองมาที่ตน แต่ขอให้มองถึงประชาชนทั่วไปที่จะออกมาทวงถามความคืบหน้า
ส่วน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลัง ว่า บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี เป็นการขอความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง และไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตนได้ให้ข้อเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญ ว่า มีตรงไหนควรปรับปรุง โดยร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังแก้ไขในขณะนี้มองแล้วดีขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ยังเป็นห่วงในบทบัญญัติเรื่องการอภัยโทษที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่อำนาจของคณะบุคคล อย่างไรก็ตาม ตนยังเสนอเรื่องการปรองดอง และการปฏิรูป ที่ต้องทำตลอดเวลา ไม่ควรกำหนดกรอบระยะเวลาตายตัว
การหารือครั้งนี้ไม่ได้พูดคุยถึงการเข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศแต่อย่างใด และถึงมีการทาบทามตนก็ขอปฏิเสธ เพราะเป็นนักการเมืองไม่อยากให้ถูกมองว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย จนประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจ แต่หากถูกเชิญมาให้ความเห็นในลักษณะนี้ ก็ยินดี
ส่วนมองการทำงานของ สปช. อย่างไร นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า การทำงานของ สปช. ยังจับหลักเรื่องปฏิรูปไม่ได้ นับวันก็ยิ่งห่างจากเป้าหมายการปฏิรูป ล่าสุด ที่เสนอให้เปิดกาสิโนถูกกฏหมาย ก็ยิ่งเละเทะ สมควรแล้วที่ถูกไล่ลงจากเรือแป๊ะ ส่วนที่สมาชิก สปช. บางกลุ่มเสนอให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น มองว่าผิดหลักการ เนื่องจากเป็นร่างที่ร่วมกันเขียนขึ้นมา และพยายามโหวตคว่ำร่างเองได้อย่างไร
“ผมมองว่าเป็นสาเหตุนี้ที่โดนไล่ลงจากเรือแป๊ะ เพราะมีส่วนร่วมเขียนรัฐธรรมนูญและประกาศจะคว่ำเอง เป็นผมผมก็ไล่ลง” นายนิพิฏฐ์ กล่าว.