xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” ชมพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญดีกว่าฉบับที่ผ่านมา แต่หลายประเด็นไม่ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา (ภาพจากแฟ้ม)
ผอ.สปท. ชมภาพรวมพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญดีกว่าปี 40 - 50 แต่ยังมีหลายประเด็นไม่ชัดเจน ทั้งการกระจายอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ การเมืองภาคประชาชน การผูกขาดทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปพลังงาน การศึกษา และระบบยุติธรรม เสนอลงรายละเอียดไปดูปัญหาเก่าๆ โดยเฉพาะกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเสนอปฏิรูป

วันนี้ (21 ธ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงพิมพ์เขียวปฏิรูปที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 18 คณะ เสนอต่อกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 15 - 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าพิมพ์เขียวภาพรวมก็ดูดีและก้าวหน้ากว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มีเรื่องประเด็นใหม่ๆ และนวัตกรรมใหม่มากขึ้น เช่น การเพิ่มความสำคัญในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง มาตรการปราบปรามการคอร์รัปชัน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การตรวจสอบถ่วงดุลที่อิสระ เป็นต้น

ทั้งนี้ แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่ปมยังเห็นว่าคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ซึ่ง สปช. และ กมธ. ยกร่างฯ ต้องทำให้เกิดความชัดเจนมากกว่านี้ เช่น 1. เรื่องกระจายอำนาจยังไม่ชัดเจน ยังเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้กับรัฐราชการส่วนกลางที่เป็นรัฐรวมศูนย์ และคงไว้ซึ่งการปกครองส่วนภูมิภาค ไม่เห็นแนวทางปฏิรูปที่เพิ่มอำนาจท้องถิ่น เช่น การนำร่องให้มีจังหวัดจัดการตัวเอง หรือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่มีความพร้อม 2. การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเน้นบทบาทของรัฐ เป็นพระเอกมากเกินไป ยังไม่เชื่อมั่นการบริหารจัดการทรัพยากรโดยประชาชนและชุมชนเท่าที่ควร และยังไม่ให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง หรือการพึ่งพาตัวเอง 3. การเมืองของภาคประชาชนยังไม่มีพื้นที่ หรือที่ทางที่ชัดเจน เน้นแค่การมีส่วนร่วมแต่ไปไม่ถึงการเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจโดยตรงของประชาชน หรือประชาธิปไตยทางตรง เช่น รูปแบบกระบวนการประชามติในโครงการที่กระทบชุมชนต่อสังคมและมีผลผูกพันต่อการตัดสินใจของรัฐ

4. ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และการวางมาตรการจัดการกับธุรกิจที่มีลักษณะผูกขาดและอำนาจเหนือตลาด รวมทั้งการสร้างเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างอำนาจทางธุรกิจกับการเมือง ที่ควบรวมกันจนสร้างปัญหามากมายยังไม่ชัดเจน 5. ปฏิรูปพลังงานยังเป็นนามธรรม เน้นมาตรการระยะยาว ซึ่งยังคงต้องไปตามรื้อตามแก้กฎหมายอีกหลายฉบับ และยังไม่มีข้อเสนอต่อปัญหาระยะสั้น เช่น สัมปทานรอบที่ 21 และปัญหาราคาน้ำมัน แก๊ส ฯล ฯ 6. การศึกษายังเน้นการปฏิรูปการเรียนการสอนในระบบเป็นหลัก การศึกษาทางเลือกยัง การจัดการศึกษาเองโดยชุมชน ยังไม่มีความชัดเจน และ 7. ระบบยุติธรรมโดยเฉพาะมาตรการที่จะทำให้อัยการเป็นองค์กรอิสระและการปฎิรูปตำรวจที่ยังคงตำรวจไว้เป็นเหล่าทัพ ไม่ถือหลังกระจายอำนาจแต่เป็นการแบ่งปันอำนาจภายในกรมตำรวจกันเอง

“ผมเสนอว่าช่วงเวลาจากนี้ไป กมธ. ทั้ง 18 คณะควรลงรายละเอียดไปดูปัญหาอุปสรรคในแต่ละเรื่องเช่น กฎหมายเก่าๆ ที่สร้างปัญหาและขัดขวางการปฏิรูป จะต้องปรับแก้และยกเลิกหรือออกกฎหมายกันใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอปฏิรูป และควรกำหนดระยะเวลาให้ชัดว่าจะต้องปรับแก้หรือยกเลิกกฎหมายเก่าและออกกฎหมายลูกใหม่ภายในกี่ปี” นายสุริยะใส กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น