ผ่าประเด็นร้อน
“ในขั้นต้นทางตำรวจได้ดำเนินการมาบ้างแล้ว โดยจะให้ฝ่ายความมั่นคงไปพิจารณาในระยะที่ 1 - 2 - 3 จะทำอย่างไรถ้าระยะที่ 1 รื้อทั้งหมดเลย ผมถามว่า มันไม่ทำงานหรอก เพราะทุกคนไม่รู้อนาคตว่าตัวเองจะอยู่ตรงไหน มันก็ต้องห่วงลูกเมีย จะย้ายไปต่างจังหวัดหรือหน่วยงานใด อนาคตจะเป็นอย่างไร ทุกคนมันมีอนาคตหมด ทำอย่างไรจะให้ตำรวจโตในส่วนที่มันจะต้องโต ไม่ไปทาบทับกัน และแต่งตั้งให้ยุติธรรม ซึ่งตำรวจก็ทำมาบ้างแล้ว ผมสั่งไปก็ไม่มีปัญหาอะไร จะมีใครรู้ดีกว่าตำรวจ เพราะตำรวจเป็นคนใช้กฎหมาย เป็นคนใช้อาวุธ รู้กฎหมายมากกว่าทุกคน เป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด"
“ต้องมาดูว่ากฎหมายโอเคไหม มันดูแลประชาชนหรือไม่ เจ้าหน้าที่มีอำนาจมากเกินไปหรือเปล่า การสนับสนุนอยู่กับใครตรงไหน ตำรวจประจำพื้นที่ควรจะมีไหม ตำรวจของผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะมีไหม ถ้าจะมีมันจะทะเลาะกันหรือเปล่า รัฐธรรมนูญมันจะทาบทับหรือเปล่า ถ้าเราไปคิดว่าเราเดือดร้อนจากตำรวจ เรื่องอะไร คอร์รัปชันหรือตำรวจรังแก ถ้าคิดด้านนี้ด้านเดียวแล้วก็ยุบตำรวจอย่างเดียวมันก็คิดอย่างอื่นได้ ต้องคิดแบบผมว่าทำอย่างไรจะมีตำรวจที่ดีๆ ในวันหน้า คนไม่ดีก็ต้องกำจัดออกไป แต่คนดีมีมากกว่าอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีตำรวจวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น โจรขโมยผู้ร้ายเต็มไปหมด ขนาดวันนี้มีตำรวจยังมีโจรผู้ร้าย เพราะว่าเราไม่วางใจ ก็ต้องปฏิรูปเพื่อให้คนไว้วางใจเขาในการบังคับใช้กฎหมาย”
นั่นเป็นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่พูดถึงแนวทางการปฏิรูปตำรวจ เมื่อบ่ายวันอังคารที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งพยายามนำเอาเนื่อหาคำพูดของเขามานำเสนอกันแบบไม่ตัดทอน เพื่อให้เห็นถึงแนวคิดและแนวทางในการปฏิรูปตำรวจในแบบของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งน่าจะเป็นแนวทางที่ผ่านการหารือในที่ประชุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาแล้ว
พิจารณาจากคำพูดข้างต้นสามารถแยกออกมาเป็นสองสามส่วนใหญ่ คือ หนึ่งการพิจารณาปฏิรูปจะ “ให้ฝ่ายตำรวจเป็นผู้ดำเนินการเอง” โดยอ้างว่าตำรวจเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าสมควรทำอย่างไร รู้กฎหมายดีที่สุด สองขั้นตอนระยะต่อไป คือ ให้พิจารณาโครงสร้างว่าจะเป็นแบบไหน มีสายการบังคับบังคับบัญชาแบบไหน และทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายเกิดความเป็นธรรม
นี่คือความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเชื่อว่า นี่คือ แนวคิดที่ได้รับความเห็นชอบและได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคงที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลตำรวจอย่างแน่นอน เพราะในคำพูดข้างต้นของ พล.อ.ประยุทธ์ ตอนหนึ่งก็บอกแล้วว่าจะให้ “ฝ่ายความมั่นคง” ไปดูแล
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปพิจารณาคำพูดก่อนหน้านี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับพูดไปอีกทางในทำนองว่า “จะไม่มีการปฏิรูปตำรวจในรัฐบาลนี้” อ้างว่า ไม่มีเวลาทำไม่ทันต้องรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการ ซึ่งก็ได้ทันใจ เนื่องจากมีปฏิกิริยาด้านลบกลับมาอย่างแรง เกิดความผิดหวังเสียความรู้สึก เนื่องจากการปฏิรูปตำรวจเป็นความต้องการ “กระแสหลัก” ที่ชาวบ้านต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอันดับต้นๆ เลยทีเดียว
สาเหตุก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความเจ็บปวดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกมองว่าไม่ได้รักษากฎหมาย ไม่ได้อำนวยความยุติธรรม รังแกประชาชน หรือเป็นผู้ทำผิดกฎหมายเสียเอง ที่สำคัญกลับไปรับใช้นักการเมืองจนบางครั้งเกิดพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ
แน่นอนว่านั่นเป็นตำรวจที่เลว ไม่ใช่ตำรวจส่วนใหญ่ทั้งหมด ซึ่งเพื่อความเป็นธรรมตำรวจเลวก็มีเหมือนกับข้าราชการอื่นๆ ที่เลว มีทุกหน่วยงาน แต่สำหรับตำรวจย่อมพิเศษกว่าตรงที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงมีหน้าที่รักษากฎหมาย เป็นผู้ถืออาวุธ เป็นฝ่ายยุติธรรมต้นทาง ซึ่งที่ผ่านมามีตำรวจที่มีพฤติกรรมไม่ซื่อ จนสร้างความเจ็บปวด แม้ว่าตำรวจดียังมีมากกว่าตำรวจชั่ว แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าตำรวจไม่ดีมีไม่น้อย และด้วยระบบโครงสร้างแบบเดิมทำให้คนดีมีความตั้งใจ “ไม่มีหลักประกันความก้าวหน้า” ในวิชาชีพ ตรงกันข้ามระบบเดิมยังเอื้อให้ตำรวจไม่ดีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเสียอีก เพราะระบบเส้นสายการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง นำมาซึงความเสื่อมศรัทธา
ดังนั้น วิธีการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ให้ “ตำรวจปฏิรูปตำรวจ” รับรองได้เลยว่า “ไม่มีทางทำตามความต้องการของประชาชน” ได้เลย แต่อาจสำเร็จตามความต้องการของ “ใครบางคน” ที่ไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาสถานะเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด เพราะแค่เริ่มต้นก็ผิดเพี้ยนแล้ว
แน่นอนว่า การปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้จะต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากภายนอก ซึ่งตำรวจก็ต้องรับฟังความเห็นโดยเฉพาะจากภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็น “นาย” โดยตรง ตำรวจเป็นผู้ปฏิบัติ หากแนวคิดให้ “ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” จริงก็ต้องเดินแนวทางนี้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องรับฟังความเห็นจากฝ่ายตำรวจว่าอึดอัดคับข้องอย่างไรบ้าง จะแก้ปัญหาเรื่องการวิ่งเต้นโยกย้าย ซื้อตำแหน่ง จะทำให้ตำรวจที่ดีที่เก่งมีหลักประกันความก้าวหน้าและความยุติธรรมให้กับพวกเขาอย่างไรบ้าง ทุกอย่างต้องเปิดกว้าง
ไม่ใช่วิธีการให้ “ตำรวจปฏิรูปตำรวจ” แน่นอน หลังจากนั้น ก็ให้ฝ่ายความมั่นคงพอจารณาเห็นชอบ หากทำแบบนี้จริงก็เสียเวลาเปล่าเพราะไม่มีใครยอมรับ และเชื่อว่าจะเกิดแรงต้านมากขึ้นกว่าเดิมอีก ในสังคมยุคใหม่ที่ประชาชนมีพลังตื่นตัว จะไม่ยอมนิ่งเฉย หากพวกเขาเห็นแน่ชัดแล้วว่าผิดเพี้ยนไปจากความคาดหวังที่เคยมีอยู่เดิม
หลายคนอาจจะแย้งว่าตำรวจในยุคปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ก็คงใช่ แต่คำถามก็คือมันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ไม่มีหลักประกันอะไรในอนาคต หลายคนอาจพอใจกับการทำงานของตำรวจในยุคที่มี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเขาก็จะเกษียณอายุราชการพ้นไปแล้ว คนต่อมาที่เข้ามาแทนจะเชื่อใจได้หรือไม่ มีการแต่งตั้งแบบเดิมอีก ความเจ็บปวดแบบเดิมๆ ก็จะกลับมาอีก
แน่นอนว่า การปฏิรูปตำรวจย่อมมีวิธีที่จะต้องจัดการดำเนินการได้ โดยทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนต้อวมีส่วนร่วม แต่รับรองว่าต้องไม่ใช่แนวทางให้ “ตำรวจปฏิรูปตำรวจ” แน่นอน !!