อดีต ส.ส.ปชป.แถลงข้อพิรุธเปลี่ยนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มกลับมาใช้เส้นทางที่ 1 ทั้งที่แพงกว่า ประชาชนเดือดร้อนเพียบ และเห็นพ้อง รฟม.ใช้เส้นที่ 2 แล้ว จี้ “ประจิน” เคลียร์เหตุใดใช้อำนาจโดยพลการกลับมติบอร์ด ย้อนสร้างสถานีใต้เอสพลานาดรอแล้ว ขอ คจร.อย่าอนุมัติ ชี้ส่อผิดกฎหมาย วอน “ประยุทธ์” ระงับโครงการ ปูดมีทุนระดับชาติครอบครองพื้นที่เดินรถ ลั่นประชาชนใช้สิทธิระงับเต็มที่
วันนี้ (5 มิ.ย.) นายธนา ชีรวินิจ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงความไม่ชอบมาพากลในการเปลี่ยนเส้นทางเดินรถสายสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ว่าเดิมมีการกำหนดเส้นทางที่ 1 ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้องเวนคืนที่ดิน การทำจัดทำผลสำรวจสามด้านนั้นย่านดินแดงซึ่งจะมีประชาชนเดือดร้อนกว่าหนึ่งพันครอบครัว ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านและมีการเสนอเส้นทางที่ 2 ซึ่งได้มีการศึกษาและมีความเห็นร่วมกันทั้งประชาชนและ รฟม.ว่าเส้นทางที่ประชาชนเสนอมีเหตุผลในการเดินรถมากกว่าเส้นทางสายที่ 1 โดยมีการรับฟังความเห็นประชาชนปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 ทั้ง รฟม.และประชาชนเห็นตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะประหยัดงบประมาณได้หลายพันล้านและเสียเวลาในการก่อสร้างเพิ่มอีกเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น
“แต่ไม่ทราบเพราะเหตุใด พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคมกลับยึดความเห็นตัวเองว่าจะกลับไปใช้เส้นทางเส้นที่ 1 โดยเสนอ คจร. ในวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ก่อนจะขอความเห็นชอบต่อ ครม.ต่อไป จึงขอถามว่า รมว.คมนาคมมีข้อมูลพิเศษอะไรจึงทำให้ใช้อำนาจโดยพลการกลับมติบอร์ด รฟม.เช่นนี้ และขอให้ทบทวนเรื่องดังกล่าว รวมทั้งหากมีการเสนอไปยัง คจร.ก็ขอเรียกร้องไม่ให้อนุมัติเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมและไม่น่าจะถูกกฎหมาย โดยอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีระงับโครงการดังกล่าวด้วย” นายธนากล่าว
นายธนาระบุว่า เส้นทางที่ 1 ที่ รมว.คมนาคมจะนำกลับมาใช้นั้นเป็นเส้นทางที่ประหลาดที่สุดเพราะขัดต่อหลักการสร้างรถไฟใต้ดินที่ต้องไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจึงมีการสร้างใต้ดินแม้ว่าค่าก่อสร้างจะราคาแพงกว่า แต่เส้นทางนี้วิ่งผ่ากลางดินแดงเลย และพบว่าใต้อาคารเอสพลานาดมีการสร้างขารองรับสถานีรถไฟเส้นดังกล่าวแล้ว จึงอยากถามว่านี่คือเหตุผลที่ต้องใช้เส้นทางนี้เวนคืนที่ดินแถวดินแดงจนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนใช่หรือไม่
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา รฟม.ยอมรับว่าจะมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในโครงการรถไฟใต้ดินเพื่อประโยชน์ของ รฟม.เป็นครั้งแรก คือ พื้นที่โรงเรียนดรุณพิทยาในปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 20 ไร่ โดยอ้างว่าจะใช้พื้นที่นี้สร้างอสังหาริมทรัพย์รองรับประชาชนที่ถูกเวนคืนให้ไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่มีคำถามว่า รฟม.สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้หรือไม่ อีกทั้งเมื่อมีการทักท้วงบอร์ด รฟม.ก็เห็นพ้องกับประชาชนที่จะเปลี่ยนจากเส้นทางที่ 1 มาเป็นเส้นทางที่ 2 ตามข้อเสนอของประชาชนแล้ว
นายธนาตั้งคำถามไปถึง รมว.คมนาคมว่า เมื่อมีการศึกษาแล้วยืนยันว่าเส้นทางที่ 2 ดีกว่า บอร์ด รฟม.มีมติเห็นด้วยเสนอ รมว.คมนาคม และรักษาการผู้ว่า รฟม.เคยทำหนังสือถึงประชาชนว่าเปลี่ยนเส้นทางเป็นเส้นทางที่ 2 เรียบร้อยแล้ว แต่ รมว.คมนาคมกลับเสนอเส้นทางที่ 1 ซึ่งใช้งบประมาณมากกว่าหลายพันล้านบาทเพราะจะยาวกว่าเส้นทางที่ 2 ถึง 1.3 กิโลเมตร จึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มทั้งค่าเวนคืนที่ดินและการก่อสร้าง อีกทั้งยังเป็นจุดที่ประชาชนทั่วไปเข้าไม่ถึงรถไฟสายสีส้ม เพราะไม่มีจุดเชื่อมต่อ
“ขอตั้งคำถามไปยัง รมว.คมนาคมว่ามีข้อมูลพิเศษที่รู้คนเดียวจากใครใช่หรือไม่ว่าการเดินรถไฟเส้นที่ 1 เกิดประโยชน์กว่าเส้นที่ 2 ข้อมูลดังกล่าวคืออะไร เพราะมีข่าวว่ามีกลุ่มทุนระดับชาติไปครอบครองพื้นที่ที่จะมีการเดินรถแล้ว รัฐบาลมาจากการยึดอำนาจเพื่อสร้างความผาสุกให้ประชาชน แต่โครงการนี้ไม่สนองนโยบายดังกล่าว จึงขอให้ทบทวนถ้ายังเดินหน้าหรือมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องประชาชนจะใช้สิทธิระงับยับยั้งตั้งแต่ชั้นศาลปกครองไปจนถึงการร้องต่อ ป.ป.ช.หากมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมากเนื่องจากเส้นทางเดิมปรับระดับของท่อรถไฟใต้ดินสูงเพื่อเข้าสถานีใต้ตึกเอสพานาร์ดจึงต้องผ่าดินแดง ขอให้นึกถึงผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก ถ้าทำไม่ชอบมาพากลผมและประชาชนจะใช้สิทธิที่มีอย่างเต็มที่ต่อไป” นายธนากล่าว
นายธนากล่าวว่า ตนยังเชื่อว่านายกรัฐมนตรีมีเจตนาทำประโยชน์เพื่อประชาชน จึงขอส่งผ่านข้อมูลนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีด้วยว่ามีความไม่ชอบมาพากล ขอให้ใช้อำนาจยับยั้งไม่เช่นนั้นจะเป็นจุดด่างของรัฐบาลชุดนี้แน่นอน โดยประชาชนจะใช้สิทธิทางศาลปกครอง หรือถ้ารัฐมนตรีทำมิชอบ หรือมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องก็ผิดมาตรา 157 จะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพราะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หาประโยชน์ให้รฟม.จะขัดคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดที่เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการเวนคืนที่ดินไว้แล้วว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์สาธารณะเต็มที่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จะต้องคืนทรัพย์ให้ประชาชน เช่น กรณีคำวินิจฉัยที่ อ. 788/2556 จึงขอยืนยันว่าตนและประชาชนจะสู้ทุกขั้นตอนเพราะนี่ไม่ใช่โครงการรถไฟใต้ดินแล้วแต่เป็นโครงการบนดินหากเดินหน้าต่อก็เท่ากับดำเนินการเหมือนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามทำมาก่อนหน้านี้ประชาชนก็ต้องใช้สิทธิทางกฎหมายปกป้องตัวเอง