อาฟเตอร์ช็อกระดับรุนแรงยังตามเขย่าเนปาล เผยแผ่นดินไหวครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2,400 คน แถมเกิดเหตุหิมะถล่มใส่ตั้งค่ายผู้ปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ อนุสรณ์สถานเสียหายหนักยากเยียวยา นายกฯ ประยุทธ์สั่ง กต. เร่งช่วยเหลือคนไทย เตรียมส่งเงิน-ข้าวสาร 500 ตันสมทบ สธ.ส่งหน่วยแพทย์ครบชุดช่วยเหลือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชห่วงใย ด้านนิสิตแพทย์ 6 คนปลอดภัยแล้ว
อาฟเตอร์ช็อกระดับรุนแรงหลายต่อหลายครั้งยังตามเขย่าเนปาลเมื่อวันอาทิตย์ (26 เม.ย.) สร้างความหวาดผวาแก่ผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงยิ่งในวันเสาร์ (25) ซึ่งได้ผลาญชีวิตผู้คนไปกว่า 2,400 คน และกระตุ้นให้เกิดเหตุหิมะถล่มใหญ่ เข้าใส่บริเวณที่ตั้งค่ายสำหรับผู้ปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ ขณะเดียวกับที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามขุดหาผู้รอดชีวิตและร่างไร้วิญญาณใต้ซากอาคารในเมืองหลวงกาฐมาณฑุ
ชาวเมืองกาฐมาณฑุที่ยังอยู่ในอาการหวาดกลัว และจำนวนมากถูกบังคับให้ออกมาพักแรมกันนอกอาคารซึ่งหักพังเสียหาย ต้องพากันอกสั่นขวัญแขนเป็นระยะๆ จากอาฟเตอร์ช็อก หรือแผ่นดินไหวตาม ซึ่งเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง โดยครั้งรุนแรงที่สุดนั้นวัดได้ 6.7 ในช่วงเช้ามืดวันอาทิตย์ หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ระดับ 7.9 ในวันเสาร์ อันถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1934 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8,500 ราย
อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นรู้สึกได้ถึงกรุงนิวเดลีของอินเดีย กระทั่งทางการต้องสั่งระงับการให้บริการรถไฟใต้ดิน
ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินแห่งชาติของเนปาลซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงกาฐมาณฑุ รายงานในช่วงค่ำวันอาทิตย์ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวคราวนี้ เฉพาะในเนปาลอยู่ที่ 2,352 คน และบาดเจ็บ 6,239 คน
ขณะที่เจ้าหน้าที่ในอินเดียระบุว่ามีผู้เสียชีวิตในเขตประเทศนั้น 67 คน และสื่อมวลชนภาครัฐของจีนให้ตัวเลขว่า ในเขตปกครองตนเองทิเบตของแดนมังกร มีผู้เสียชีวิตไป 18คน
ทางด้านนักปีนเขาซึ่งกำลังรอกันอยู่ที่บริเวณค่ายฐานเชิงเขาเอเวอเรสต์ รายงานว่าอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดตามมาหลายๆ ครั้งในวันอาทิตย์ (26) ได้ทำให้เกิดเหตุหิมะถล่มใหญ่ในบริเวณยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้ขึ้นมาอีก หลังจากที่เฮลิคอปเตอร์หลายลำเพิ่งขนย้ายผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน เดินทางไปสู่ที่ปลอดภัย พวกเขาประสบเคราะห์เมื่อตอนที่กำแพงหิมะมหึมาอันเกิดจากการกระตุ้นของแผ่นดินไหวใหญ่ ได้ไหลลงมาถล่มค่ายฐานแห่งนี้ในวันเสาร์ (25) ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 18 คน โดยที่คนหนึ่งในจำนวนนี้ คือ แดน เฟรดินเบิร์ก ผู้บริหารของบริษัทกูเกิล
หายนภัยครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเอเวอเรสต์คราวนี้ บังเกิดขึ้นมาเกือบๆ 1 ปีพอดีหลังจากที่เกิดเหตุหิมะถล่มใหญ่ซึ่งสังหารผู้นำทางชาวเชอร์ปาไป 16 คน และจากความเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นใหม่ๆ นี้กำลังบังคับให้ต้องระงับฤดูไต่เขาในปีนี้ไปเลย ขณะที่ยังมีนักปีนเขาราว 800 คนรวมตัวกันอยู่ในช่วงเริ่มต้นของฤดู
ในเวลาที่รัฐบาลเนปาลยังโกลาหลกับโศกนาฏกรรมร้ายแรงนี้ อินเดียได้ส่งเครื่องบินทหาร พร้อมอุปกรณ์การแพทย์และเจ้าหน้าที่ทีมรับมือภัยพิบัติแห่งชาติ 285 คนเดินทางสู่เนปาล ขณะที่จีนส่งทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน 60 คนพร้อมสุนัขดมกลิ่น ปากีสถานจัดส่งเครื่องบินซี-130 จำนวน 4 ลำพร้อมโรงพยาบาลเคลื่อนที่รองรับผู้บาดเจ็บ 30 คน ทีมค้นหาและกู้ภัย และอุปกรณ์บรรเทาทุกข์ และสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศส่งทีมรับมือภัยพิบัติไปสมทบ
หน่วยงานบรรเทาทุกข์เผยว่า โรงพยาบาลต่างๆ ในเมืองหลวงของเนปาล อยู่ในสภาพขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์อย่างหนัก และเจ้าหน้าที่ต้องตั้งเต็นท์รักษาพยาบาลภายนอก เนื่องจากทั้งสถานที่ภายในไม่พอรองรับ และเพื่อความปลอดภัยกรณีที่เกิดอาฟเตอร์ช็อกรุนแรง
ปีเตอร์ ออยลี จากองค์การเซฟ เดอะ ชิลเดรน เผยว่า โรงพยาบาลในกาฐมาณฑุ แวลลีย์ ขาดแคลนทั้งห้องเก็บศพและอุปกรณ์ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลเนปาลเร่งตัดสินใจและสั่งการให้กองทัพสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสุชิล คอยราลา กำลังเดินทางกลับจากต่างประเทศและจะปราศรัยกับชาวเนปาลทันทีที่เดินทางถึง
ทหารและหน่วยกู้ภัยเนปาลทำงานตลอดคืนวันเสาร์ (25) เพื่อเปิดทางเข้าสู่อาคารมากมายที่พังทลายในกาฐมานฑุ เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตและร่างผู้เสียชีวิต
คามาล ซิงห์ บัม โฆษกสำนักงานตำรวจเนปาลเผยว่า ได้ระดมทรัพยากรการค้นหาและกู้ภัยทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ขณะที่สภากาชาดแสดงความเป็นห่วงหมู่บ้านห่างไกลที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวทางตะวันตกเฉียงเหนือของกาฐมาณฑุ
เครือข่ายโทรศัพท์ไร้สายของเนปาลใช้การได้เป็นบางพื้นที่ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ในเมืองหลวงไม่มีไฟฟ้าใช้
หนึ่งในสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองที่ถูกธรณีพิโรธคือ หอธราหารสูง 60 เมตรที่สร้างขึ้นในปี 1832 เพื่อถวายแด่ราชินีเนปาล และเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยตำรวจเผยว่า มีผู้ติดอยู่ใต้ซากหอถึง 200 คน
อิรีนา โบโกวา ผู้อำนวยการยูเนสโกแถลงว่า ยูเนสโกพร้อมช่วยเหลือเนปาลปฏิสังขรณ์สถานที่ประวัติศาสตร์หลายแห่งในกาฐมาณฑุ แวลลีย์ที่เสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้
ผู้คนในเมืองหลวงเนปาลนับหมื่นๆ ต้องนอนกลางถนนท่ามกลางอากาศหนาวเย็นและฝนตก ซ้ำร้ายยังมีการพยากรณ์อากาศว่า ฝนจะตกในกาฐมาณฑุ ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้ชะตากรรมของผู้ประสบภัยเหล่านี้เลวร้ายลงหลายเท่า
แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 80 ปีในเนเปาลครั้งนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโภครา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 และเกิดขึ้นช่วงเที่ยงวันเสาร์ในฤดูกาลท่องเที่ยวของปี ซึ่งเชื่อว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 300,000 คนเดินทางสู่เนปาลเพื่อชื่นชมสถานที่ที่ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลก รวมถึงเดินป่าและปีนเขา
รายงานระบุว่า มีนักปีนเขาและไกด์ชาวเชอร์ปาเกือบ 1,000 คนอยู่บนเอเวอเรสต์ตอนที่หิมะและก้อนหินระลอกแรกถล่มลงมา ภาพจากนักปีนเขาที่เผยแพร่ในสื่อสังคมเผยให้เห็นเต็นท์และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในค่ายฐานที่เชิงเขาราบเป็นหน้ากลอง
เฮลิคอปเตอร์เพิ่งเข้าไปอพยพผู้บาดเจ็บบนเอเวอเรสต์ได้เมื่อเช้าวันอาทิตย์ หลังจากท้องฟ้าโปร่งและสภาพอากาศเป็นใจ นักปีนเขาจำนวนมากที่ปลอดภัยดีเลือกที่จะเดินลงเขาเอง แทนการรอเฮลิคอปเตอร์กลับขึ้นไปรับ เนื่องจากเกรงว่า อาจต้องติดอยู่นานหลายวัน
เนปาลและประเทศอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในแถบเทือกเขาหิมาลัย เป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มสูงในการเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากตั้งอยู่บนรอยแยกของแผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเซีย
***อนุสรณ์สถานในเนปาลเสียหายหนัก
ผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุในวันอาทิตย์ (26 เม.ย.) ว่ามรดกทางวัฒนธรรมในเนปาลได้รับความเสียหายอย่างมาก จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งล่าสุดในประเทศแห่งนี้
ในบริเวณใจกลางของกาฐมาณฑุ มีวัดและสิ่งปลูกสร้างมากมายที่ทำขึ้นเมื่อสมัยศตวรรษที่ 12 - 18 โดยกษัตริย์เนปาล ต้องพังทลายเสียหายไปพร้อมกับเหล่าผู้เสียชีวิตเพราะแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้
"หอธราหาร" ที่มีความสูง 9 ชั้น ซึ่งมีบันไดวน 200 ขั้น จุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญในกาฐมาณฑุ ได้พังทลายลงมาเพราะแผ่นดินไหวขนาด 7.8 เมื่อช่วงเที่ยงวันเสาร์
"ผมเพิ่งจะซื้อตั๋วตรงด้านล่างเพื่อจะขึ้นไปชมหอคอย แล้วจู่ๆ ก็รู้สึกได้ถึงการสั่นไหว" ธาร์มู ซูเบดี ผู้อยู่ในเหตุการณ์วัย 36 ปี เล่าให้นักข่าวฟังขณะที่นอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาลในกาฐมาณฑุ
"ภายในไม่กี่นาที หอธราหารก็ถล่มลงมากองอยู่ที่พื้น อาจมีคนกว่า 100 รายอยู่ในนั้น" ซูเบดี บอกเอเอฟพี
ยูเนสโก พยายามรวบรวมข้อมูลขอบเขตความเสียหาย ซึ่งรวมถึงพระราชวัง 3 แห่งในเมืองปาฏันและภักตปุระ ที่อยู่บริเวณหุบเขากาฐมาณฑุ
"เราเข้าใจว่าจัตุรัสทรวารในกาฐมาณฑุ ปาฏันและภักตปุระ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก"คริสเตียน แมนฮาร์ต ตัวแทนยูเนสโกประจำเนปาล บอกกับเอเอฟพี
"วัดหลายแห่งพังทลายลงมา ในปาฏันมีวัด 2 แห่งที่พังราบไม่เหลือชิ้นดี ส่วนจัตุรัสทรวารในกาฐมาณฑุก็ยิ่งแย่ไปกว่านั้นอีก" เขากล่าว
เขาบอกว่า ตอนนี้กำลังประเมินสถานการณ์และรวบรวมข้อมูลว่ามีอะไรที่เสียหายบ้าง ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดของยูเอ็นได้รับคำขอจากรัฐบาลเนปาลให้ทำการช่วยเหลือ
สถานการณ์ในตอนนี้ เขาบอกว่ายังเร็วไปที่จะพูดคุยถึงเรื่องการก่อสร้างศาสนสถานเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ รวมถึงเรื่องที่ว่ายูเนสโกจะสามารถให้ความช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงใด
แมนฮาร์ตบอกด้วยว่า ตอนนี้หน่วยงานของเขากำลังตรวจสอบดูว่า ในพื้นที่มรดกโลกอีกแห่งอย่าง "ลุมพินี" ซึ่งเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้าเมื่อ 2,600 ปีก่อน ได้รับความเสียหายด้วยหรือไม่
"เรายังไม่ได้รับรายงานความเสียหายที่ลุมพินี แต่เราจะพยายามรวบรวมข้อมูลต่อไป" เขากล่าวถึงบริเวณพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากกาฐมาณฑุไปทางตะวันตกราว 280 กิโลเมตร
ในกาฐมาณฑุ มีชาวบ้านคุ้ยซากปรักหักพังด้วยมือเปล่า ถังและพลั่ว เพื่อค้นหาผู้ที่อาจจะยังติดอยู่ใต้ซากเหล่านั้น ในจัตุรัสทรวารที่เต็มไปด้วยคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติตอนเกิดเหตุร้ายเมื่อวันเสาร์
วัดที่มีหลังคาสองชั้น ซึ่งถูกสร้างโดยกษัตริย์เนปาล ได้ถูกแปรสภาพกลายเป็นเศษอิธ ไม้และซากปรักหักพัง ที่กองพะเนินรวมกันอยู่หลายจุดทั่วจัตุรัสแห่งนี้ ในเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที จากภัยพิบัติครั้งล่าสุด
ยูเนสโกได้ระบุไว้บนเว็บไซต์ว่า อนุสรณ์สถานเหล่านั้นเปรียบได้ดั่งจุดศูนย์รวมของเมือง สังคม ศาสนา ซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อวัฒนธรรมและศาสนาฮินดู พุทธและตันตระ
ยูเนสโกระบุว่า กาฐมาณฑุ ที่มีมรดกเชิงสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ อย่างพระราชวัง วัดวาอารามและสิ่งปลูกสร้าง ได้ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน ศิลปิน นักกวี ทั้งชาวต่างชาติและชาวเนปาล
พี.ดี. บาลาจี คณบดีคณะประวัติศาสตร์และโบราณคดี มหาวิทยาลัยมัดราส ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ การบูรณะให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมนั้นเป็นไปไม่ได้เลย สำหรับความเสียหายร้ายแรงในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของเนปาลแห่งนี้
***ไทยส่งเงิน-ข้าวสาร 500 ตันช่วย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง การช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลว่า รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์มาตั้งแต่ต้น และได้สั่งการไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่ได้ทำไปแล้วคือ จัดหาเครื่องบินในการเดินทางกลับของนายกรัฐมนตรีเนปาลโดยด่วน ซึ่งขณะนี้ได้เดินทางกลับเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ค่อนข้างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตคาดว่า เกิน 2,000 คน ส่วนนักเรียนไทยที่ขณะนี้ได้รวมตัวกันที่สถานทูตไทยในเนปาล ราว 30 คน ทุกคนปลอดภัย ในส่วนของแรงงานไทยที่ทำงานในเมืองกาฐมาณฑุ ราว 100 คน ขณะนี้ปลอดภัยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ ท่าอากาศยานในเนปาลมีปัญหา เนื่องจากมีข้อจำกัดของจำนวนเครื่องบินที่ลงจอด เพราะเป็นพื้นที่ภูเขาล้อมรอบ ดังนั้นเครื่องบินที่จะเดินทางไปต้องเตรียมพร้อม ขณะเดียวกันจะมีการส่งเงินบริจาคจากทางรัฐบาล และสิ่งของอุปโภค บริโภค อาทิ ข้าวสาร 300 - 500 ตัน รวมถึงทีมแพทย์ฉุกเฉินจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าไปช่วยเหลือ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข พร้อมกองทัพ จัดเตรียมทีมแพทย์ และชุดบรรเทาสาธารณภัยเฉพาะกิจ เพื่อส่งเข้าไปบรรเทาทุกข์ตามหลักมนุษยธรรมในประเทศเนปาลโดยเร็วที่สุด
"ท่านนายกฯ เชื่อว่า ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่มิตรประเทศควรปฏิบัติต่อกันคือ การร่วมมือช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และร่วมแบ่งเบาความทุกข์ใจอย่างจริงจัง แม้ไทยจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่น้ำใจคนไทยไม่เคยด้อยกว่าใคร"
นอกจากนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทย ร่วมบริจาคสิ่งของและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพสำหรับพี่น้องชาวเนปาลและผู้ประสบภัยทุกคนในประเทศเนปาลได้ที่ ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมจัดส่งไปบรรเทาความเดือดร้อนในนามประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ
"ในสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดงานรวมน้ำใจคนไทยไปเนปาล เพื่อระดมความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการในส่วนกลาง ผ่านสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 "
ในส่วนการดำเนินการช่วยเหลือคนไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติครั้งนี้ ทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศเนปาล และประเทศใกล้เคียง นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้สถานทูตไทย ดูแลประสานความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด หากผู้ใดต้องการเดินทางกลับก็ให้ดำเนินการส่งกลับตามระเบียบปฏิบัติที่วางไว้ของกระทรวงการต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไตั้งศูนย์ช่วยเหลือดูแลและติดต่อข้อมูล ณ สถานทูตไทยประจำกรุงกาฎมัณฑุ ดังนั้นหากญาติมิตรในประเทศไทยต้องการสอบถามข้อมูลข่าวคราว คยไทยในเนปาล สามารถติดต่อผ่านทั้งทางกระทรวงการต่างประเทศ ที่เบอร์ 094 003 7190 , 094 003 7191 , 094 003 7192 และ 085 911 4076 รวมทั้งติดต่อผ่านทางทางสถานทูตไทยประจำกรุงกาฎมัณฑุ ได้โดยตรง ที่เบอร์ 97714414372 หรือ ที่คุณจักรพันธ์ เลขาเอก สถานทูตไทย หมายเลข +977 9801069233 โทรสาร +97714371410
"ขณะนี้มีคนไทยอพยพมาพักพิงในศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยสถานเอกอัครราชทูตราว 30 คน และอาจจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากญาติพี่น้องต้องตามติดตามสถานการณ์ และติดต่อแจ้งขอความช่วยเหลือ สามารถใช้ทุกเบอร์โทรที่กล่าวมาข้างต้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง"
**เผย 60 คนไทยในเนปาลปลอดภัย
นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สถานทูตไทยได้ตรวจสอบความเสียหาย และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนไทยในเนปาล พบว่ามีคนไทย 60 คน ทั้งหมดปลอดภัยดี บางรายบาดเจ็บเล็กน้อย โดยได้ส่งรถไปตรวจตามโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญว่า มีคนไทยหรือนักท่องเที่ยวหลงเหลือหรือไม่ หรือต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างไรหรือไม่ ปรากฏว่ามีคนกว่า 10 คนมารายงานตัว และรวมตัวกันที่สถานทูตไทยในกรุงกาฐมาณฑุ ทั้งนี้ กรมการกงสุลเปิดสาย Hotline หมายเลขโทรศัพท์ 085-911-4076 เพื่อประสานงานกับญาติคนไทยในเนปาลแล้ว
****สธ.ส่งหน่วยแพทย์ครบชุดช่วยเหลือ
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.กำลังเตรียมความพร้อมส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล โดยกำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศว่าประเทศต้นทางต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด ประสานกับสถานทูตไทยในเรื่องการเดินทาง รวมถึงประสานกับแพทย์ทหารด้วย สำหรับ สธ.มี 2 หน่วยงานที่มีประสบการณ์ในเรื่องการทำงานด้านภัยพิบัติคือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) โดยจะประสานงานร่วมกับศูนย์เตรียมพร้อมบรรเทาภัยพิบัติแห่งเอเชีย (เอดีพีซี) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้เรื่องภัยพิบัติอย่างดี ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลัง 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ จะมีความต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในการช่วยรักษาผู้บาดเจ็บ สธ.ก็จะมีการส่งทีมแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไปช่วยเหลือด้วย ซึ่งขณะนี้กรมการแพทย์ได้เตรียมทีมไว้แล้ว โดยวันที่ 27 เม.ย.จะมีการประชุมหารืออย่างชัดเจนอีกครั้งว่า จะส่งทีมใดไปเมื่อไรอย่างไร
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมส่งทีมแพทย์ประกอบไปด้วยศัลยแพทย์ แพทย์กระดูก และจิตแพทย์ จากกรมการแพทย์ 1 ทีม สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1 ทีม และ รพ. ศิริราช อีก 1 ทีม ไปตั้งรพ.สนามเพื่อรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล พร้อมด้วยยาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ด้วยซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถเดินทางได้ใน 2 วันนี้
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของ สธฉ.และ สพฉ.จัดเตรียมหน่วยแพทย์ครบชุด ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการสุขาภิบาล นักวิชาการควบคุมโรค นักจิตวิทยาพร้อมเวชภัณฑ์ ยารักษาโรค โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อ วัคซีนป้องกันโรค เช่น บาดทะยัก รวมทั้งชุดทำแผลต่างๆ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีบาดแผลซึ่งคาดว่าจะมีความจำเป็นมาก โดยทีมชุดแรกมีประมาณ 30 คน พร้อมจะเดินทางตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ ให้ตั้งศูนย์ปฎิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่สำนักงานปลัด สธ. เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายใน อาทิ กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต ทีมส่วนภูมิภาคในสังกัด และสหวิชาชีพจากหน่วยงานภายนอก อาทิ ศิริราช รามาธิบดี โรงพยาบาลภูมิพลฯ โรงพยาบาลในสังกัด กทม. เป็นต้น จำนวน 3 ทีม พร้อมสามารถปฏิบัติงานได้ในพื้นที่ 3 จุด และติดตามประเมินสถานการณ์ผลกระทบด้านสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิด
"การให้ความช่วยเหลือประเทศเนปาลของหน่วยแพทย์ไทยได้วางแผนไว้ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย อาจมีทั้งการให้เจ้าหน้าที่ไทยร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเนปาลในโรงพยาบาลเนปาล ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่รับความเสียหาย หรืออาจปรับให้เป็นโรงพยาบาลสนามขนาดย่อยๆ 1 โรงพยาบาล หรืออาจปฏิบัติเป็นหน่วยแพทย์บริการเคลื่อนที่ขนาดเท่ากับแผนกผู้ป่วยนอก ของโรงพยาบาลชุมชน รูปแบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์จริงในพื้นที่ 2. การควบคุมโรค และการรักษาความสะอาด ของสุขาภิบาลอาหารและน้ำดื่ม เพื่อป้องกันโรคไม่ให้เกิดซ้ำเติม ที่สำคัญได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 3.การดูแลสุขภาพจิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่สูญเสีย ไร้ญาติ ผู้สูงอายุ เด็ก และอาจร่วมค้นหาผู้รอดชีวิต 4.การจัดการศพ และการพิสูจน์เอกลักษณ์ศพ เป็นต้น" นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวและว่า ในการวางแผนการช่วยเหลือแต่ละด้าน สธ.จะส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ลงไปประเมินสถานการณ์ เพื่อนำมาวางแผนจัดระบบการช่วยเหลืออย่างครบถ้วน ขณะเดียวกันได้ระดมหน่วยแพทย์สำรองไว้อย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเดินทางไปสับเปลี่ยนหรือเสริมการปฏิบัติงานเพิ่มเติมในจุดที่จำเป็น โดยจะให้แต่ละทีมอยู่ปฏิบัติการทีมละ 2 สัปดาห์ เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ภาคสนามไปให้พร้อม เช่น อาหาร น้ำ เครื่องครัว เครื่องปั่นไฟ ระบบการสื่อสาร เพื่อความคล่องตัว ไม่เป็นภาระของประเทศเนปาล
****ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชห่วงใย
สมเด็จพระมหามังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล จึงมีบัญชาให้ พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ประสานงานให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์และชาวพุทธ ตลอดจนประชาชนที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อย่างเร่งด่วน และมอบหมายให้ พระเทพโพธิวิเทศ หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาลจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือขึ้นที่วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในเบื้องต้นแล้ว โดยที่ประเทศเนปาลมีวัดของพระธรรมปโล และพระธรรมโสภโณ พระสงฆ์เนปาลซึ่งเคยมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่ประเทศไทยได้รับความเสียหายอย่างหนัก
อย่างไรก็ตาม ได้เปิดศูนย์รับบริจาค ณ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ศาลา เฉลิมพระเกียรติ (บริเวณภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อีกทั้งประชาชนสามารถโอนเงินผ่านบัญชี "ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเนปาล" เลขที่บัญชี 179-204684-7 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขา วงเวียนโอเดียน
***นิสิตแพทย์ 6 คนปลอดภัยแล้ว
วานนี้ (26 เม.ย.) ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เปิดเผยถึงกรณีจากกรณีที่ผู้ใช้ชื่อเฟซบุก Chayamon Suwansumrit ได้โพสต์รูปภาพของ 6 นักศึกษาแพทย์ชาวไทย ที่ไปปีนเขายังประเทศเนปาล พร้อมระบุว่า หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ทางบ้านก็ยังไม่สามารถติดต่อทั้ง 6 คนได้โดยตลอดทั้งวันมีการส่งต่อข้อมูลดังกล่าวจำนวนมากนั้น ว่า มศว ตรวจสอบพบว่า มีนิสิตคณะแพทยศาสตร์ มศว ปี 4 เดินทางไปทัศนศึกษา จำนวน 6 คน ได้แก่ น.ส.ธัญสุดา อรรถวิน ,น.ส.นวลจันทร์ เจียรพัทนรัก,นายนฤดล นาคหาญ ,นายวศิน ชัยวนนท ,นายเจษฎา ศุภปีติพร ,นายดนูวิทย์ ใจแก้ว
ทั้งนี้ กลุ่มนิสิตแพทย์มีกำหนดการที่จะไปปีนเขาโพคารา ซึ่งเบื้องต้นตรวจสอบแล้วว่า สถานที่ที่กลุ่มนิสิตไปนั้น ไม่ได้รับผลกระทบ จึงเชื่อว่าน่าจะปลอดภัย แต่ขณะนี้ไม่สามารถติดต่อได้ เพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์
ล่าสุดนายวุตติ วุตติสันต์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ แจ้งล่าสุดว่าตอนนี้พบนักศึกษาไทยทั้ง 6 คนแล้ว ทั้งหมดปลอดภัย และสามารถติดต่อกับญาติได้แล้ว ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยฯขอให้ทั้ง 6 คน หาช่องทางเดินทางมายังกรุงกาฐมาณฑุ เพื่อขึ้นเครื่องบินโดยสารกลับประเทศไทย แต่การเดินทางมาที่กรุงกาฐมาณฑุคงต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะสายการบินภายในประเทศเนปาลปิดให้บริการ.