xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปแรงงานชงแผนพัฒนาฝีมือรับ AEC ผุดธนาคารเฉพาะ แต่ยังถูกค้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปช.ประชุมรายงาน กมธ.ปฏิรูปแรงงาน เสนอแนวทางพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานให้มีมาตรฐานรับ AEC ชงตั้งธนาคารแรงงานปล่อยเงินกู้ให้แรงงานไทยทุกระดับ ทั้งใน-ตปท. แก้ปัญหาแรงงานถูกบริษัทหางานเถื่อนหลอก ขอให้เปิดใจรับแรงงานข้ามชาติ สมาชิกบางส่วนขวางไม่ควรตั้งธนาคารเพิ่มหวั่นขาดทุนยับ แนะใช้แบงก์ออมสินตั้งโครงการปล่อยกู้เหมาะสมกว่า

วันนี้ (27 พ.ค.) ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. โดย น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปแรงงาน การพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของแรงงานไทย การปฏิรูปการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ และการจัดตั้งธนาคารแรงงานและการจัดทำฐานข้อมูล โดยได้ถือเป็นกลไกใหม่ที่มีอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ โดยจะถือเป็นธนาคารที่มีหน้าที่เฉพาะทางรูปแบบหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการออมในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นสถาบันการเงินให้กับแรงงานที่มีรายได้น้อยที่ต้องการเงินเร่งด่วน หลีกเลี่ยงการกู้เงินนอกระบบ และเป็นไปเพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลกลุ่มแรงงาน

ทั้งนี้ สมาชิก สปช.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปแรงงานตามรายงานดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อาทิ หลักการพัฒนาคนเพื่อให้มีค่าตอบแทนที่มีความเหมาะสม ด้วยการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีพให้มีความเหมาะสมและมีมาตรฐาน และเห็นด้วยกับการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นแหล่งทุนให้กับผู้ใช้ในการเพิ่มทุนความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทั้งภายในและต่างประเทศ และส่งเสริมให้มีสหภาพแรงงานเพื่อนำไปสู่การมีสวัสดิการต่างๆ

พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร สมาชิก สปช. จ.บึงกาฬ อภิปรายว่า ความเป็นจริงธนาคารแรงงานจะให้ประโยชน์หลักกับผู้ใช้แรงงานทั้งประเทศ ส่วนประชาชนทั่วไปจะได้รับประโยชน์เป็นผลพลอยได้เหมือนธนาคารทั่วไป จากข้อมูลปัญหาการใช้แรงงานในต่างประเทศของสำนักงานบริหารแรงงานไทยจากกลุ่ม 8 ประเทศใน ปี 2556 จำนวน 1.2 แสนคน ปี 2557 จำนวน 1.1 แสนคน ส่วนคนหาแรงงานไปต่างประเทศโดยนายหน้าเถื่อนอีกประมาณปีละ 5 หมื่นคน โดยคนกลุ่มนี้จะเลือกใช้บริการจากบริษัทจัดหางานมากกว่าช่องทางอื่น เนื่องจากมีการแจกใบปลิวโน้มน้าวให้หลงเชื่อว่าค่าแรงสูง งานสบาย เงินทางไปง่าย โดยมีการจ้างรถโดยสารตามหมู่บ้านไปแจกใบปลิวและรับคนหางานมาทำงานกับบริษัท โดยให้หัวละ 500-1,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจัดหางานถูกกฎหมายมี 230 บริษัท กรุงเทพฯ 146 บริษัท อีสาน 49 บริษัท กลาง24บริษัท เหนือ 10 บริษัท แต่ภาคใต้ไม่มีบริษัทจัดหางานตั้งอยู่เลย

พล.ต.ต.ขจรกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยเป็นประธานกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา รับรู้ปัญหาความเดือดร้อนของคนหางาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไปหางานต่างประเทศ เนื่องจากส่วนใหญ่รับจ้าง เกษตรกร มีความรู้น้อยอยู่ในชนบท เชื่อคนง่าย หวังว่าจะไปทำงานต่างประเทศจะมีรายได้สูงกว่าทำในต่างประเทศ ยอมทิ้งถิ่นฐานครอบครัว นำที่ดินที่อยู่อาศัยไปจำนองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทนายหน้า

“ผมเคยจัดสัมมนาเรื่องจัดหางานไปต่างประเทศใครได้ใครเสียที่อีสาน มอบให้จัดหางานจังหวัดไปเชิญบริษัทจัดหางานที่ไม่เคยหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศเลยมาร่วมสัมมนา ปรากฏว่าไม่มีแม้แต่บริษัทเดียวที่ไม่เคยหลอกลวงคนหางาน วันเปิดสัมมนาได้ทูลเชิญเพราะเจ้าหลานเธอเป็นประธานพิธีเปิดและทรงบรรยายพิเศษ ในการฉายพระรูปร่วม พระองค์ทรงรับสั่งกับรองประธานวุฒิสภาว่า ‘ฉันดูสำนวนการสอบสวนก่อนเดินทางมาบรรยายเห็นว่าคนหางานยากจน ถูกหลอกลวงจำนวนมาก ขอให้ไปช่วยดูแลด้วย”

พล.ต.ต.ขจรกล่าวว่า กลโกงของบริษัทเหล่านี้ เช่น มีอัตราจ้างงาน 100 อัตรา บริษัทจะเปิดรับสมัคร 500 ราย ได้ไปจริง 100 ราย ใน 1 ปี ถ้าบริษัทมีอัตราจ้างไป 10 ประเทศ จำนวน 100 อัตรา บริษัทจะรับสมัครถึง 5,000 ราย มีคนได้ไปจริงเพียง 1,000 ราย โดนหลอกลวงถึง 4,000 คน และยังต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทที่เรียกเก็บล่วงหน้า ทั้งค่าลงทะเบียน ค่าตรวจสุขภาพ ค่าเรียนภาษา ค่าประกันวีซ่า และอื่นๆ ส่วนค่าแรงที่ได้รับเดือนละ 2 หมื่นบาท บริษัทเรียกเก็บถึง 1.2 แสนบาท แต่ลงไว้ในสัญญา 6 หมื่นบาท เมื่อสอบถามเหตุผลก็บอกว่าหากลงตามจริงบริษัทจะต้องเสียภาษีถึงร้อยละ 15 คนหางานทุกคนจำยอม เรียกสัญญานี้ว่า “สัญญาปิดปาก” เมื่อไม่ได้ไปทำงานและเรียกเงินคืน บริษัทจะคืนให้ตามสัญญาคือ 6 หมื่นบาทไม่สามารถร้องทุกข์ได้ และบริษัทยังมีนายทุนรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ประจำดอกเบี้ยนอกระบบร้อยละ 20 บริการล่วงหน้าอำนวยความสะดวกเพื่อความรวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานที่ดิน เป็นลูกค้าวีไอพีเอาเอกสารมาให้เซ็นถึงบริษัท เมื่อมีการฟ้องร้องก็ถูกยึดทรัพย์ ถือเป็นการซ้ำเติมคนยากจนให้ประสบปัญหาชีวิตและเป็นปัญหาสังคมตามมา ดังนั้น การเสนอให้ตั้งธนาคารแรงงานถือเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด เป็นการตัดวงจรการกู้นอกระบบได้อย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันก็มีสมาชิกบางส่วนแสดงความเป็นห่วงต่อการจัดตั้งธนาคารแรงงานที่อาจจะเกิดปัญหาหลายอย่างเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น การบริหารงาน เงินลงทุน ในการจัดตั้งธนาคาร จึงไม่ควรมีธนาคารแรงงานเพราะเป็นพันธกิจใหญ่ที่ต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล และไม่คุ้มค่าเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้แรงงานที่ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่มาก เนื่องจากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มแรงงานมีประสิทธิภาพในการใช้คืนเงินกู้ได้ต่ำที่สุด เพราะมีรายรับทางเดียวซึ่งขึ้นกับนายจ้าง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร สมาชิก สปช.ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการให้แรงงานได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีธนาคารแรงงาน ด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ 1. วันนี้เรามีธนาคารเฉพาะกิจมากเกินไปแล้วและ และคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ยังได้เสนอให้ยุบบางแห่ง ควบรวมบางแห่ง และเปลี่ยนพันธกิจบางแห่งด้วยซ้ำไป เพราะวันนี้ไม่เหมือนหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารที่ตั้งขั้นมาในระยะหลังประสบปัญหาขาดทุน ตนคิดว่ามีแนวทางอื่นที่ให้เงินกู้กับแรงงานได้โดยไม่ใช้วิธีตั้งธนาคารใหม่ขึ้นมา หลายแห่งตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีประสิทธิภาพ บางแห่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่สามารถสู้เอกชนได้ แต่อยู่ได้เพราะมีเอกสิทธิ์พิเศษ และ 2. การตั้งธนาคารไม่เรื่องง่าย เพราะเงินลงทุนสูงมาก หลายแห่งใช้เงินถึงหมื่นล้านบาทในการลงระบบให้มีประสิทธิภาพ และการจะให้แรงงานเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกต้องมีสาขา ต้องไม่น้อยกว่า 1,000 แห่ง ใช้เงินแห่งละ 10 ล้านบาท เราจะมีทุนจดทะเบียน 2 หมื่นล้าน เท่ากับครึ่งหนึ่งลงทุนไปกับการจัดสาขา อีกส่วนหนึ่งต้องลงในระบบ เงินจะเหลือไม่มาก และที่สำคัญจะเอาบุคลากรที่ไหนมาทำงาน อีกทั้งการจะทำธนาคารแห่งหนึ่งขึ้นมามีคุณภาพจะต้องมี scale (ขนาด) มีสินทรัพย์ที่ใหญ่พอสมควร เพราะธนาคารขนาดใหญ่มีสินทรัพย์ 2-3 ล้านล้านบาทเพราะมี scale มีสาขาครบหมด มีต้นทุนในการบริหารกิจการที่ถูก หากไม่มีต้นทุนการบริหารจัดการก็จะแพงมาก นั่นหมายถึงแรงงานที่จะมาใช้บริการจะต้องได้รับสินเชื่อที่แพง หากไม่แพงแสดงว่าต้องเอาต้นทุนใช้ไปเรื่อยๆ จะต้องยอมแบกรับขาดทุนไปตลอด เหมือนหลายธนาคารเฉพาะกิจที่ไปไม่ได้อยู่ขณะนี้หรือไม่

นายไพบูลย์กล่าวว่า ที่สำคัญความสามารถในการจัดเก็บชำระหนี้ การปล่อยกู้มันง่าย แต่การเก็บเงินมันยาก นั่นหมายถึงเราจะต้องมีสายป่านมียาวพอที่จะทำอย่างไรจะไปเก็บได้ โดยเฉพาะที่บอกว่าผู้ใช้แรงงานทุกคนสามารถไปใช้บริการของธนาคารแรงงานถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะหากผู้ใช้แรงงานมีบัตรเครดิตอยู่แล้ว 10 ใบ เกินภาระที่จะแบกได้แล้ว เรายังสามารถที่จะปล่อยเงินกู้ให้เขาได้อีกหรือไม่ หนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาวันนี้เพราะเราไม่มีวินัยในการปล่อยกู้ และธนาคารที่จะตั้งมานี้ถือว่าเป็นธนาคารใหม่ ไม่ควรเชิญชวนให้ผู้ใช้แรงงานมาร่วมทุนด้วย แม้จะเน้นที่การออม แต่การเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการไม่ถือว่าเป็นการออมแต่เป็นการร่วมทำกิจการ และการเอาประกันสังคมเข้ามาร่วมด้วยถือว่าผิดเข้าไปใหญ่ เพราะทุกวันนี้เงินเขาก็ไม่พอ รัฐบาลต้องใส่เงินเข้าไปเยอะมาก และมีภารกิจรองรับเรื่องผู้สูงวัยและอีกหลายเรื่อง ประเทศกรีซที่ล้มไปก็เพราะเอาเงินประกันสังคมไปในทางที่ไม่ได้ทำในพันธกิจตัวเอง

“ผมเห็นด้วยกับแนวทางให้ผู้ใช้แรงงานได้เข้าถึงแหล่งทุนให้ได้ แต่ไม่ใช่วิธีนี้ อย่างธนาคารออมสินเวลานี้มีสาขาพันกว่าแห่ง มีความพร้อมทุกด้าน แต่ที่ผ่านมาทำพันธกิจผิดทางไปปล่อยกู้ให้สินรายใหญ่ เวลานี้ซุปเปอร์บอร์ดพยายามแก้ปัญหาโดยไม่ปล่อยให้สินเชื่อรายใหญ่ ดังนั้น หากจะมาช่วยผู้ใช้แรงงานจะเป็นวิธีที่ถูกต้องมากกว่า”

จากนั้น พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานกรรมาธิการฯ ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกที่เสนอความเห็น และจะนำไปปรับปรุงแก้ไขรายงานให้มีความสมบูรณ์และตอบโจทย์การปฏิรูปแรงงานให้สัมฤทธิผล และกรรมาธิการจะจัดทำรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับธนาคารแรงงานเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและเกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น และจะศึกษาข้อมูลกฎหมายด้านแรงงานเพิ่มเติม และขอให้เปิดใจยอมรับและให้ความเป็นธรรมกับแรงงานข้ามชาติเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศที่สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างเหมาะสม จากนั้นที่ประชุมได้รับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปแรงงานฯ ฉบับดังกล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น