xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” กังวลปฏิรูปเสียของ รัฐบาลหน้าไม่สานต่อ ถามกลับทำยังไงถึงจะไม่กลับมาขัดแย้งอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรี เผยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของ ครม. มีหลายเรื่อง ชี้ทำอย่างไรการปฏิรูป - ปรองดองชัดเจน ห่วงทำอย่างไรถึงจะไม่เสียของ กังวลรัฐบาลหน้าไม่สานต่อ ย้ำตัวเองเสี่ยงอันตรายแก้ไขปัญหาทั้งหมดของประเทศ เตือนทุกคนอิสระเสรี ลืมไปแล้วว่ารัฐบาลนี้มาจากจุดใด ถามสื่อกลับไปขยายความพวกจ้อต่างแดนทำไม ในประเทศขัดแย้งมากแล้ว ย้ำถ้าไม่อยากให้บ้านเมืองกลับมาแบบเดิมก็ทำอย่างไรถึงจะไม่กลับไปสู่การปฏิวัติอีก

วันนี้ (25 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาการรวบรวมความเห็นขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนส่งความเห็นไปยังกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลาในการประชุมร่วม 3 ชั่วโมง

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ตนพูดในนาม ครม. ไม่ใช่ในนาม คสช. สิ่งที่ ครม. เป็นกังวล คือ ทำอย่างไรกระบวนการปฏิรูปและการปรองดองที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยการมีแต่ละสภา ที่ทำงานอยู่นั้น จะมีอะไรที่เป็นมาตรการชัดเจนนำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ หากทุกคนทราบดีถึงปัญหาความบกพร่องต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน การใช้อำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณ การทุจริต และการรักษาความมั่นคง ทั้งหมดต้องดูว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ทุกอย่างก็อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้วทั้งสิ้น

“ผมถามว่า ถ้าสมมติมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลือกตั้ง แล้วมีอะไรรับประกันได้หรือไม่ว่า สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำไว้จะได้รับการสืบสานต่อ มีองค์กร มีกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่ที่จะทำ แต่ไม่ไปคาบเกี่ยวในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่เขาจะดูเรื่องความมั่นคง ความปรองดอง การเดินหน้ายุทธศาสตร์ประเทศว่าใครจะทำ ผมไม่ได้เป็นห่วงว่าใคร แต่ต้องหาวิธีการมา ทุกคนต้องคิดว่า วันข้างหน้าใครตอบผมได้บ้างว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก เมื่อทุกคนมุ่งหวังเพียงว่า ถ้าเราจะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยได้ก็ต้องเลือกตั้ง ผมก็ไม่ได้ไปเถียงท่าน ซึ่งนักการเมืองก็มองอีกแง่หนึ่งว่า ทำอย่างไรที่จะไม่มีการปฏิวัติขึ้นอีก เขาว่าก็ต้องไปปฏิรูปทหารก่อน เพราะทหารเป็นผู้ปฏิวัติ คิดอย่างนี้บ้านเมืองก็ไปไม่ได้ ถามว่าการปฏิวัติทุกครั้งมันมีสาเหตุอะไร ผมไม่ได้บอกว่ามันถูกต้องแต่ประเทศไทยมันเป็นแบบนี้ ก็แก้ปัญหาแบบนี้มาโดยตลอด ทำอย่างไรปัญหาจะไม่เกิดขึ้นมาอีก ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ มีธรรมาภิบาล มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่ทับซ้อนข้าราชการ เดินหน้าประเทศไปตามขึ้นตอน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า รัฐบาลนี้เกิดมาโดย คสช. และ คสช. เกิดขึ้นมาโดยตน ตนเป็นผู้เสี่ยงอันตราย โดยต้องการแก้ไขปัญหาทั้งหมดของประเทศ ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย วันนี้ทุกคนมีอิสระเสรีจนลืมไปแล้วว่า รัฐบาลนี้มาจากจุดใด ขอให้ดูด้วย ตนไม่ปฏิเสธว่ามันต้องเป็นประชาธิปไตย แต่มันจะแค่ไหน เราวางแผนปฏิรูปประเทศไว้อย่างไร คนในประเทศต้องการอะไร เรื่องดังกล่าวต้องไปถามคนทั้งหมด เช่น ภาคการเกษตรต้องการการช่วยเหลือแบบไหน หรือเขาต้องการเงินอย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นมันก็ไปไม่ได้ การสร้างความเข้มแข็งจะต้องทำในทุกภาคส่วน ทั้งความมั่นคง เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ การปรับโครงสร้าง ไม่ใช่สั่งวันนี้แล้วพรุ่งนี้เปลี่ยน

“อย่างการปฏิรูปตำรวจ ทุกคนบอกว่าต้องปฏิรูปวันนี้ ผมไม่ได้เถียงว่าต้องปฏิรูปวันนี้ อย่าลืมว่าวันนี้เราอยู่ในระยะที่ 2 ของรัฐบาลและ คสช. ซึ่งผมถือว่าเป็นระยะที่ 1 ของการปฏิรูป พอถึงระยะที่ 3 ของรัฐบาลและ คสช. ก็คือ การส่งไปให้รัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งถือเป็นระยะที่ 2 ของการปฏิรูป จะกี่ปีผมไม่รู้ 4 ปี 5 ปีจบ ก็ถือเป็นระยะที่ 2 ของรัฐบาลหน้า ถ้ามันจะต้องมีถึง 10 ปี ก็เป็นอีก 5 ปีของรัฐบาลหน้า ปฏิรูปมันจะแค่ไหน สั่งวันเดียวจบหรือไม่ การแก้ไขในเรื่องการปฏิรูปของรัฐบาลนี้ทำมาในรูปแบบของการบริหารราชการแผ่นดิน มีการปรับให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ทำงานอย่างบูรณาการด้วยการประสานงาน ด้วยการใช้กฎอัยการศึก ใช้มาตรา 44 ไม่เช่นนั้นก็จะอยู่เหมือนเดิม นี่ถือว่าผมปฏิรูปแล้ว เช่น การปฏิรูปโครงสร้างตอนนี้ก็ทำในบางส่วน อาทิ เรื่องของการประมง ไอยูยู ค้ามนุษย์ ก็ใช้อำนาจของผมรวบรวมหน่วยงานที่ถือกฎหมายคนละฉบับมาทำงานร่วมกันให้ได้ และในการทำปฏิรูปขั้นต่อไปมันทำไม่จบหรอก มันต้องไปแก้โครงสร้างในกระทรวงในระเบียบการทำงานแต่ละเรื่อง มีทั้งกฎหมายลูก แต่สิ่งต่างๆ อีกมาก เรื่องนี้รัฐบาลหน้าต้องไปทำต่อ ไม่ใช่ทุกอย่างจะเอาแค่วันนี้ ก็จะเกิดข้อขัดแย้งอีกมากมาย แล้วมันจะอยู่กันได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญก็ทะเลาะกันพออยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เข้าใจว่า ทุกคนมีความตั้งใจดี แต่ต้องเห็นใจตนบ้าง เพราะทำมาถึงขนาดนี้แล้ว หรือใครอยากจะให้กลับไปเหมือนเดิม ถ้าไม่อยากก็ต้องช่วยกันหามาตรการที่เหมาะสมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำอย่างไรจะไม่ให้กลับไปสู่การปฏิวัติอีก ไม่ใช่ไปลดอำนาจใคร อำนาจมันอยู่คนใช้ทั้งรัฐบาลและหัวหน้าส่วนราชการ โดยต้องคำนึงว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาอีกใครจะเป็นคนแก้ ถ้ามุ่งประเด็นว่าต้องทำให้ทหารอ่อนแอ ทหารเล็กลงจะได้ไม่มีการปฏิวัติมันใช่หรือไม่ หรือต้องการจะให้ไปลดโครงสร้างตำรวจ ก็ต้องบอกว่าวันนี้ก็ทำงานกันอยู่ ทั้งหมดก็ต้องเขียนไว้เพื่อจะส่งให้รัฐบาลใหม่ ว่าจะปฏิรูปอย่างไร เมื่อรัฐบาลใหม่มาก็ส่งแผนให้รัฐบาลใหม่เขาก็ต้องทำตามที่เขียนไว้โดยรัฐบาลนี้ ไม่ใช่ไปคิดใหม่ แต่ถามว่าทำอย่างไรรัฐบาลใหม่เขาถึงจะทำ สื่อก็ต้องไปไล่ถามให้ด้วย เหมือนกับที่ไล่ถามรัฐบาลปัจจุบัน ยืนยันว่า เราทำเต็มที่แล้ว แต่ปัญหามันสลับซับซ้อน หลายกระทรวงข้าราชการมีหลายแสนคน ตนก็ทำงานเต็มที่แล้ว และได้สั่งงานไปมาก โดยมี ครม. ช่วยกันมาโดยตลอด ถามว่าสิ่งที่ทำมาวันนี้มีอะไรผิดบ้าง ถ้ามันจะผิดก็คือไม่ตรงตามความต้องการของคนบางพวก บางกลุ่ม เพราะมีทั้งคนได้คนเสีย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่จะทำให้คนได้ทั้งหมดหรือเสียทั้งหมด ต้องเอาว่าคนส่วนใหญ่ได้อะไร

“เคยมีใครพูดแล้วทำอย่างผมบ้างไหม ไปดูผลงานผมที่ทำมา ไม่ใช่ตีทุกเรื่องแล้วก็ไปฟังฝ่ายการเมือง จะดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับทุกคนที่จะเลือกกันมา วันหน้าจะกลับมาใหม่หรือไม่ก็ไม่รู้ ต่างประเทศไม่ต้องไปให้ความสำคัญเพราะไม่ได้อยู่ในกระบวนการของประเทศไทย จะไปขยายความทำไม เพราะความขัดแย้งในประเทศมีมากอยู่แล้ว ไปฟังเขาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นมา สื่อชอบไปเขียนให้เกิดความปั่นป่วน เกิดความสะใจ มีคนด่ากันกลับไปกลับมา ผมเลิกแล้วขี้เกียจ ก้าวข้ามไม่พ้นสักที วันนี้มาตรการทางกฏหมายมีอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า นายกฯ ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะไม่เดินตามแผนที่วางไว้ในการปฏิรูป พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่มั่นใจ แต่เป็นกังวล ท่านมั่นใจหรือไม่ แต่ตนกังวลว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะทำหรือเปล่า แต่เรื่องโละทิ้ง เขาเป็นรัฐบาลเขาโละทิ้งได้ และแก้ได้ทุกอยาง ทำไมจะแก้ไม่ได้ ต้องหามาตรการว่าทำอย่างไรที่จะไม่ต้องแก้ หรือแค่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ได้หรือเปล่า ถ้าทุกคนมองว่าเขียนอย่างนี้หรือมีองค์กรต่างๆ ขึ้นมาดูแลแล้วจะกลายเป็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็กลับไปแบบเก่า ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 หมุนนาฬิกาย้อนกลับไปนั้นเหละจะเป็นแบบนั้น ถ้าต้องการประชาธิปไตยแบบนั้นก็เอา

“ผมถามคนทั้งประเทศจะเอาอย่างไร พูดมา ท่านมั่นใจหรือไม่ เลือกตั้งแล้วจะไม่มีการปฎิวัติอีก หรือเลือกตั้งแล้วจะไม่มีคนใช้อำนาจที่ผิดไม่มีธรรมาภิบาลอีก บ้านเมืองสับสนวุ่นวาย ท่านมั่นใจหรือไม่ ถ้าท่านมั่นใจ ผมก็มั่นใจ แล้วท่านรับประกันได้หรือไม่ นักข่าวทั้งหมด สื่อทั้งหมดว่าจะไม่เกิดขึ้นมาอีก เพราะว่าผมก็ไม่อยู่แล้ว มั่นใจไหมเล่า มาถามผมคนเดียว ทำอย่างไร ไม่มั่นแล้วจะทำอย่างไร ถ้าใช้กฎหมายบังคับท่านก็ตีผมอีก ใช้กฎหมายเกินไป รุนแรงเกินไป ละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมถามคนไทยทั้งสิ้นว่าจะเอาอย่างไร จะให้ประเทศมันล้มเหลว มันเฟล (Fail) อย่างเดิมหรือเปล่า ก็ไปว่ากันมา ถ้าเห็นว่าสิ่งที่ผมทำเป็นประโยชน์ ท่านก็ต้องไปคิดช่วยผม ว่าจะเกิดได้อย่างไรวิธีไหนผมไม่รู้ ไปหามา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของ ครม. ที่เสนอไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีหลายเรื่องที่ควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่สักแต่ว่าแก้

เมื่อถามว่า ถ้าสมมติเกิดแอคซิเดนท์ (Accident - อุบัติเหตุ) รัฐบาลเตรียมแผนสำรองอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มี ถ้าสำรองไว้ ก็บอวก่าตนเตรียมการไว้ล่วงหน้า และตนไม่เคยพูดถึงแผนสำรอง แต่พูดว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้อย่างไร ถ้าไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือผ่าน หากต้องทำประชามติต้องไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จบแค่นี้ ไม่มีสมมติ ถ้าจะใช้รัฐธรรมนูญ ปี 40 หรือปี 50 ตอนควบคุมอำนาจตนก็ออกคำสั่งใช้รัฐธรรมนูญฉบับเหล่านั้น ไม่เสียเวลาด้วย ตนไม่พูดถึง ใครอยากเสนอมาก็ฟังเขาไป แต่ต้องดุว่าอะไรที่เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง ฉะนั้น จะใช้ฉบับ 40, 50, 57 หรือ 59 ขัดแย้งกันต่อก็เอาตามใจ ท่านเลือกของท่านเอง เขาเขียนไว้แล้วว่า ทุกคนในประเทศต้องกำหนดชะตากรรมของตัวเอง กำหนดอนาคตของตังเอง ท่านต้องการอะไร ต้องการความสงบเรียบร้อย ต้องการความเท่าเทียมหรือไม่ ถ้าไม่ต้องการก็จบ ไม่มีใครทำให้ท่านได้ ทุกอย่างอยู่ที่ใจท่าน

“ผมก็เสนอตัวมาทำให้อย่างนี้ แล้วท่านก็ยังมีปัญหาอยู่มากพอสมควร หลายๆ กลุ่ม หลายๆ พวก เขาพยายามที่จะกลับมาที่เดิม แต่คนดีๆ ก็เยอะ ผมไม่ได้ไปรังเกียจการเมือง นักการเมืองทั้งสิ้น แต่นักการเมืองไม่ดีก็มีเยอะ คนเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์จะมาพูดอีกแล้ว และเราก็อย่าไปขยายให้เขา จะไปขยายให้เขาทำไม เขาผิดกฎหมายหรือเปล่า เขาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า ถ้าใครไม่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็อย่าไปพูดให้เขา เท่านั้นก็เบาลงแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า คิดว่าหลายๆ กลุ่ม หลายๆ พวกที่พยายามจะกลับมาจุดเดิมมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้กลับมาจุดเดิมได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ไปถามเขาซิ เขากลัวกฎหมายไหม วันนี้มีกฎหมายขนาดนี้ ถ้าเขาไม่กลัววันหน้าก็ไม่มีทางเอาอยู่หรอก รัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานของประเทศที่จะเดินหน้าประเทศต่อไป รัฐธรรมนูญเขียนเพื่อระงับความขัดแย้งได้หรือไม่ วันนี้เขียนยังไม่จบ ก็มีความเห็นตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้าง ซึ่งจะทำอย่างไรก็ไปหามา ถ้าเขียนแล้วเห็นไม่ตรงกันก็จะเกิดปัญหา พอเกิดปัญหาตนก็ต้องรับผิดชอบอีกใช่หรือไม่ ซึ่งตนต้องรับผิดชอบไม่ให้เกิดความวุ่นวาย แต่ตนไม่ได้วางแผนล่วงหน้าว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ก็พร้อมรับทุกสถานการณ์ อยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศไปเลือกกันมาว่าจะเอาอย่างไร

“อย่าไปคิดเอง กองทัพคือกองทัพ ไม่ต้องไปเขียนว่ามันจะแย่งอำนาจ จะต้องมาอยู่ซัพพอร์ต (Support) ผมไม่จำเป็น ผมอยู่ได้ ผมต้องทำความดี ไม่ใช่อยู่ได้เพราะใครมาปกป้องผม ประชาชนต้องปกป้องผม ไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่กองทัพ กองทัพต้องดูแลประชาชน ประชาชนต้องดูแลผม เข้าใจหรือยัง สื่อต้องดูแลผม ถ้าคิดว่าผมทำในสิ่งที่ผิดก็ว่าผมมา ถ้าทำถูกก็ต้องสนับสนุนผม ไม่ใช่ตีอยู่นั้นเหละ อย่างนู้น อย่างนี้ มาด้วยอย่างนู้น แล้วผมทำดีกว่าพวกที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าไม่ดีกว่ามาบอกผมอะไรบ้างที่ไม่ดี ไม่ใช่รวนไปหมดทุกอัน บริหารไม่ได้ เดินหน้าประเทศไม่ได้ เพราะติดอยู่อย่างนี้ในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องการบริหารงานด้านเศรษฐกิจต้องฟังเขาบ้าง หนังสือพิมพ์ 10 ฉบับไปดู ฉบับไหนบ้างที่เขียนว่าเศรษฐกิจดีขึ้นหรือค่อนข้างเงยหัวขึ้น ต้องดูว่าตกต่ำเพราะอะไร เพราะเขาไม่มีเงินใช้ เนื่องจากเงินหายากใช่หรือไม่ และแต่ก่อนเงินหาง่ายเพราะอะไร เพราะระบบเศรษฐกิจประเทศมันดีหรืออย่างไร มันอยู่ที่บิดเบือนโครงสร้างมาทั้งหมด เงินทองต่างๆ ที่นำมาใช้ข้างล่างมาจากการถูกฎหมายเท่าไหร่ เข้าใจหรือยัง คนที่อยู่ในวงจรเหล่านี้คือคนจนทั้งสิ้น เขาถึงบ่นว่าไม่มีเงิน รัฐบาลก็ต้องสร้างความแข้มแข็งในทุกภาคส่วน สร้างกลไกความต่อเนื่องเชื่อมโยงของคุณค่าทางเศรษฐกิจ ถ้าทำได้สังคมก็อยู่ได้เกษตรกรก็อยู่ได้

“ผมเคยบอกแล้วว่า ถ้าผมเป็นเศรษฐี เป็นคนรวย แล้วขับรถผ่านบ้านคนจนทุกวัน ผมก็ไม่กล้าผ่าน เพราะอายเขา ซึ่งวันนี้ผมนึกถึงเขาทุกวัน นึกถึงทุกเรื่องก็ยังโดนตำหนินู้นนี่ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องคิดตาม หรือคิดเหมือนผมทุกอย่าง มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่อยากให้มองถึงจิตเจตนาดีของผมที่ต้องเสี่ยงภัยเข้ามาวันนี้ไม่ได้มีความสุข คิดว่ามีอำนาจหรือ มีอำนาจแล้วอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงงั้นหรือ ไม่มีใครเขาอยากมีหรอก ไม่มีใครอยากเสี่ยงด้วยซ้ำไป เราเกิดเหตุการณ์แบบนี้มากี่ครั้งแล้ว แล้วทำไมถึงจะทำให้การทำของผมในครั้งนี้เหมือนครั้งเก่าๆ ซึ่งครั้งเก่าๆ เขาไม่ได้ทำแบบผมทำ ไม่ได้แก้ไขโครงสร้างทั้งประเทศทั้งหมดอย่างนี้ ผมกำลังเดินอนาคตของประเทศทุกด้านไม่ใช่ความมั่นคงอย่างเดียว ไม่ใช่จะไปซื้ออาวุธ แต่ส่งเสริมทุกภาค บางอย่างต้องใช้งบประมาณในการลงทุน เพื่อสร้างมหภาคเศรษฐกิจ ทุกด้านผูกพันเชื่อมโยงกันอยู่ ผมกำลังสร้างนี่คือการปฏิรูปของผม เพื่อให้รัฐบาลหน้ารับต่อแต่ปัญหาเขาจะรับหรือเปล่าผมไม่รู้ ไม่มีใครยืนยันกับผม เพราะยังไม่เห็นตัวรัฐบาล ซึ่งอยู่ที่ท่านทั้งหมดจะเลือกรัฐบาลจะเลือกใครก็แล้วแต่ ถ้าเลือกดีก็โชคดีไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ใช้วิธีการปกติไม่ได้ หากปล่อยให้เป็นเหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 มาถึงวันนี้ก็จะเป็นอย่างนั้น และบานปลายไปยิ่งกว่านี้ จึงต้องใช้วิธีการไม่ปกติในการแก้ปัญหา เมื่อสตาร์ท (Start) มาได้แล้วก็ต้องหากลไกที่จะทำให้สิ่งที่เดินมาแล้วไม่เสียของ ทำอย่างไรให้รัฐบาลใหม่ทำต่อ ทำอย่างไรสิ่งที่เราปฏิรูปไว้ในวันนี้จะเชื่อมต่อเข้าใจกันประชาชนยอมรับได้หรือไม่ แต่ไม่มีใครที่จะพอใจเพียงแต่เข้าใจหรือไม่ ถ้าสอนให้เขาคิดไม่เป็นไม่มีวิสัยทัศน์ไม่รู้อนาคตของตัวเองก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ ประเทศไทยก็จะถอยหลังไปเรื่อยๆ และเราก็ต้องเสียศูนย์กลางความเป็นอาเซียนไปเรื่อยๆ วันหน้าไม่มีใครสนใจประเทศไทยอีกแล้ว ถ้าขัดแย้งแบบนี้อีกทีไม่มีใครมาอีก

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวนายกฯ ได้คิดแผนไว้แล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คิดหมดอยู่แล้ว แต่มันจะได้ตรงความคิดหรือเปล่าไม่รู้ แต่ถ้าบอกความคิดไปแล้ววันหน้าทำไม่ได้ก็จะบอกว่าเสียของ ปัทโธ่ รู้อยู่ ความคิดคือความคิด ตนมีร้อยอย่างอยู่ในหัว เป็นพันแล้วมั่งไม่งั้นคงไม่พูดถึงวันนี้หรอก ความคิดของตนเดินเป็นเรื่องๆ เดินที่ละขั้นทหารสอนมาอย่างนั้นมีขั้นตอนการวางแผน ถ้ามีปัญหาก็ต้องเตรียมหนทางปฎิบัติเอาไว้ เพื่อแก้ปัญหาให้ได้ ประเทศชาติก็เหมือนกันมีการเตรียมมาตรการลดความเสี่ยงไว้ เช่น เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา ถ้าเกิดสถานการณ์ต่างๆ จะทำอย่างไร เขาเคยเตรียมเคยคิดสิ่งเหล่านี้กันไว้หรือไม่
















กำลังโหลดความคิดเห็น