xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรประมง เสนอ “บิ๊กตู่” ขอร่วมแก้ปัญหา IUU

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


องค์กรประมงผนึกกำลังยื่นหนังสือ “ประยุทธ์” ขอร่วมแก้ปัญหา IUU ชง 3 เสนอออกอาชญาบัตรให้กับเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. วันนี้ (20 พ.ค.) กลุ่มองค์กรชาวประมง จำนวน 150 คน นำโดยนายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม, นายกำธร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร, นายพงศ์ธร ชัยวัฒน์ นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม, นายเสนาะ มงคลโสภณรัตน์ นายกสมาคมการประมงสมุทรปราการ, นายณรงค์ ยอดศิริจินดา นายกสมาคมการประมงคลองด่านสมุทรปราการ, นางสาวิกา ศิริบุญญาวงศ์ ประธานสหกรณ์ประมง จำกัด, นายณรงค์ เนียมสวัสดิ์ ประธานสหกรณ์ประมงบางเกร็ง-บางแก้ว จำกัด, และนางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ร่วมกันยื่นหนังสือ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กรณีขอชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อประกอบแนวทางแก้ไขปัญหา IUU

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยได้รับการเตือนจากสหภาพยุโรป ว่ามีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม ทางภาครัฐที่ได้ออกคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2558 ออกมาบังคับใช้กับชาวประมงทั่วประเทศ เกื่อแก้ปัญหา IUU ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน โดยทางกลุ่มเห็นว่า การออกคำสั่งดังกล่าวเร่งด่วน โดยที่ยังไม่มีการศึกษาข้อมูล ขาดการรับฟังความคิดเห็นจากชาวประมงก่อนนั้น ทำให้การแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ยากที่จะแก้ไขปัญหา IUU ให้สำเร็จได้ ทางกลุ่มจึงเดินทาง เพื่อขอชี้แจงข้อเท็จจริง และเสนอแนวทางแก้ปัญหา ของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบให้นายกฯทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในการแก้ปัญหาได้ถูกต้องรอบด้านมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มฯ จัดตัวแทน 34 คน เข้าร่วมประชุมกับนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยในที่ประชุมกลุ่มฯได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา IUU โดยเริ่มต้นจากการจัดระเบียบเรือประมงใหม่ทั้งหมดด้วยการออกอาชญาบัตรให้ตรงกับเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน และให้ปรับแก้ระเบียบกรมเจ้าท่าบางข้อที่เป็นอุปสรรคต่อการทำให้ถูกกฎหมายเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ รวมทั้งขอให้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นระบบร่วมกันระหว่างภาครัฐและชาวประมง คือ 1. ขอให้มีตัวแทนภาคประมงมีส่วนร่วมในวงเจรจาเพื่อการแก้ปัญหา

2. ระหว่างที่มีการหาแนวทางแก้ไขปัญหาขอให้ผ่อนผันการตรวจสอบจับปรับ และ 3. ขอให้มีการออกอาชญาบัตรให้ตรงกับเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งในส่วนของกองทัพเรือที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้รับข้อเสนอไว้ทั้งหมดเพื่อนำไปหารือในที่ประชุมชุดใหญ่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การประชุมเสร็จสิ้นในเวลา 12.30 น. โดยนายกมล ประธานในที่ประชุมได้ชี้แจงว่า จะนำปัญหาความเดือดร้อนทั้งหมดนำเรียน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ก่อนจะส่งเรื่องต่อให้นายกฯ เพื่อทราบและหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป ขณะเดียวกันมีตัวแทนกลุ่มฯประมาณ 10 ราย ได้เดินทางไปยื่นเรื่องดังกล่าวต่อกระทรวงมหาดไทยต่อทันที





กำลังโหลดความคิดเห็น