xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ระบุถก 15 ประเทศแก้โรฮีนจา เน้นความร่วมมือ สร้างมิติมนุษยธรรม ไม่ขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นายกรัฐมนตรี” คาดประชุม 15 ประเทศแก้ปัญหาโรฮีนจา 29 พ.ค. เน้นความร่วมมือสร้างมิติของมนุษยธรรมร่วมกัน และไม่ก่อความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในกลุ่มอาเซียน คาดจะได้ข้อสรุปพอสมควร ยันพม่าไม่ได้ปฏิเสธร่วมหารือ ขณะที่เลขาฯ ยูเอ็นชื่นชมการดำเนินการของไทย ส่วนนายพลทหารเอี่ยวค้ามนุษย์ รอผลการสอบสวนหากผิดจริงพร้อมฟัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายบัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โทรศัพท์มาสอบถามและแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การอพยพของชาวโรฮีนจาว่า เลขาธิการยูเอ็นชื่นชมรัฐบาลที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ และมีแผนที่จะดำเนินการอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งขอบคุณที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม 15 ประเทศในวันที่ 29 พ.ค. เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของไทยอันแน่วแน่ที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

“เลขาธิการยูเอ็นอยากให้เราไปหารือในอาเซียนว่าทำอย่างไรจะแสวงหาความร่วมมือในอาเซียนให้ได้ ผมก็ตอบไปว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่เลขาธิการยูเอ็นพูดทุกอย่าง แต่ก็อยากให้เห็นใจเราหน่อยว่าเราก็มีกฎหมายของเราอยู่ เมื่อเข้ามาโดยผิดกฎหมายเราก็ต้องดำเนินคดีทั้งหมด แต่ถ้าอยู่นอกน่านน้ำเราก็ดูแลตามหลักมนุษยธรรม และขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเขาจะไปที่ไหน หากอยู่นอกน่านน้ำเราไม่สามารถไปทำอะไรเขาได้ แต่ถ้าคนเหล่านี้เข้ามาในน่านน้ำไทยก็จะผิดกฎหมายทันที ฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทุกประเทศต้องเคารพ ทุกประเทศก็มีกฎหมายของตัวเอง และทุกประเทศเขาก็มีปัญหามาตลอดคือไม่ให้ใครเข้าไประเทศเหมือนกัน”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เลขาธิการยูเอ็นยังได้แสดงความเป็นห่วงคนที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่อยากให้เราผลักดันไปที่อื่น เรื่องนี้ตนก็ยืนยันไปว่าประเทศไทยรับอยู่แล้ว และทุกครั้งก็จะมีทหารเรือเข้าไปสำรวจ ทหารเรือก็จะไปถามเขาว่าสมัครใจจะไปที่ไหน หลักฐานก็มีทุกอย่างทั้งภาพถ่าย วิดีโอ และวันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ลงไปดูด้วยตนเองซึ่งกรณีคนเจ็บเมื่อเราพบก็ต้องเอาตัวออกมาเพื่อรักษา เป็นการดูแลตามหลักมนุษยธรรม

อย่างไรก็ตาม การที่เอาคนเหล่านี้เข้ามาแล้วดำเนินคดีตามกฎหมาย เราก็ต้องมาดูอีกว่าจะควบคุมเขาได้อย่างไร เพราะพื้นที่ที่เรามีอยู่ไม่เพียงพอ ถ้าเข้ามามากๆ จะทำอย่างไร จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ไปดูพื้นที่เพื่อที่จะควบคุมคนเหล่านี้ ยืนยันว่าเป็นศูนย์ควบคุม ไม่ใช่ศูนย์พักพิงหรือศูนย์อพยพ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การหารือในวันที่ 29 พ.ค.นี้น่าจะได้ข้อสรุปมาพอสมควร ต้องดูกันให้ชัดว่าต้นทางจะทำอย่างไร กลางทางและปลายทางจะทำอย่างไร เอากฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายของแต่ละประเทศมาดูกันเพื่อหาแนวทางที่ถูกต้อง ปกติหากดำเนินคดีกลุ่มคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายแล้วก็ต้องส่งกลับ หรือไม่ก็ติดคุกแทนค่าปรับ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องดูแลคนพวกนี้มากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของอัตลักษณ์ของคนหลบหนีเข้าเมืองก็มีหลากหลาย เราก็ต้องแยกแยะ เพราะคนที่เข้ามาไม่ใช่เฉพาะชาวโรฮีนจา ซึ่งทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง มาจากไหนก็ส่งกลับไปประเทศนั้น แต่ทั้งหมดนี้จะไปคุยกันในที่ประชุม 15 ประเทศ ต้องให้ชัดว่าประเทศต้นทางเหล่านั้นสามารถรับกลับไปได้หรือไม่ ถ้าไม่รับกลับแล้วจะทำอย่างไร

สำหรับตนในฐานะคนไทยต้องคิดหนัก มองได้ 3 อย่าง คือ 1. เรื่องของมนุษยธรรม ถ้าเห็นเรือก็จะเข้าไปพูดคุย หาอาหารและสิ่งที่ต้องการให้ คนเจ็บก็รักษา นี่คือด้านมนุษยธรรม 2. เรื่องของกฎหมายไทยจะทำอย่างไร เมื่อดำเนินคดีเสร็จแล้วใครจะรับกลับ จะได้ไม่เป็นภาระกับเรามากนัก และ 3. ต้องดูประเทศต้นทาง ซึ่งในอาเซียนจะต้องไม่ทะเลาะกันในเรื่องนี้ ตนและผู้นำประเทศต่างๆ มีความเข้าใจกันทุกอย่าง รู้ดีว่าแต่ละประเทศมีข้อติดขัดและมีข้อจำกัดซึ่งก็ให้กำลังใจซึ่งกันและกันมาตลอด ในส่วนของประเทศต้นทางตนเสนอต่อเลขาธิการยูเอ็นไปแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นยูเอ็น หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล) ต้องมาคุยกัน โดยวันที่ 29 พ.ค.จะมีตัวแทนมา ต้องคุยกันว่าจะเข้าไปดูแลคนพวกนี้ได้หรือไม่ โดยจะดูแลเรื่องการพัฒนา ไม่เกี่ยวกับการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถ้าเอาการเมืองมาด้วยก็จะตีกันหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมในวันที่ 29 พ.ค. พม่าได้ตอบรับเข้าร่วมประชุมหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศ เขาก็ตอบรับมาหมด แต่ถ้าครึกโครมมากๆ มันมีข้อจำกัด เพราะหลายประเทศมีปัญหาภายในหากเราไปกดดันมากๆ หรือโทษกันไปมา เขาก็ไม่อยากมาเพราะตกเป็นเป้าหมาย

“เราต้องทำให้ทุกคนมารวมกันในมิติของมนุษยธรรมว่าจะทำอย่างไร และพัฒนาให้เขาอยู่ได้ มีรายได้เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง ต้องสร้างอย่างนี้สังคมจึงจะเป็นสันติ แต่หากทุกคนขยายความขัดแย้งไปเรื่อย ตีนู่นตีนี่ ซึ่งความจริงต้องรับผิดชอบร่วมกันในฐานะที่เป็นประชาคมโลก มีหน้าที่ดูแลมนุษยชาติของโลก ขณะเดียวกัน ชาติไหนในโลกนี้ไทยก็ต้องดู อยากให้สื่อคิดแบบนี้ และคนไทยต้องคิดแบบนี้ ผมจะไม่เอาภาระอะไรไปให้เกิดความเสียหาย แต่การควบคุมมันจำเป็น และจะต้องไม่เดือดร้อนกับใคร ตรงนี้พูดไว้ก่อนถ้าจำเป็นต้องทำ แต่ถ้าสามารถส่งไปได้เลยภาระก็หมด อย่าไปต้องอย่างนี้อย่างนั้นมันคือปัญหาทั้งสิ้น เข้าใจหรือยัง”

เมื่อถามย้ำว่าสรุปแล้วพม่าได้ตอบรับหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เขาไม่ได้ตอบขัดข้องอะไรมา นั่นคือการตอบชั้นต้นแล้ว แต่จะส่งใครมาใครไปก็เป็นเรื่องของเขา

ส่วนที่ได้พูดคุยกับเลขาธิการยูเอ็นรับปากว่าจะไปดูปัญหาที่ต้นทางให้เลยหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เขาบอกว่าในแนวทางของยูเอ็น หากประชาคมไหน มีปัญหาก็ต้องแก้ปัญหาประชาคมของตนเองให้ได้ โดยการสนับสนุนจากประชาคมโลกภายนอก ซึ่งตนได้พูดไปทั้งสองอย่างคือจะแก้ปัญหาทั้งในอาเซียน และในไทย รวมถึงขอความร่วมมือสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ให้มาช่วยเราด้วยในการที่จะหามาตรการ โดยเฉพาะการดูแลที่ต้นทาง ปัญหาแบบนี้เกิดหลายที่ไม่ใช่แค่นี้ หลายประเทศที่มีการสู้รบมีเยอะ นั่นล่ะทำไมถึงรบกัน ทำไมถึงมีผู้นำ ตนบอกในที่ประชุมหลายครั้งแล้วว่าปัญหาในวันนี้ของโลกคือเรื่องความยากจน ความแห้งแล้ง การไม่พัฒนา ทำอย่างไรทุกประชาคมโลก จะเข้ามาดูแลประเทศเหล่านี้ และเราอยู่ในฐานะที่เป็นประเทศต้องดูแลคนอื่น เพราะเราเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไม่ใช่ผู้รับประโยชน์หรือผู้ขอเขาแล้ว เราต้องเป็นผู้ให้เข้าใจหรือยัง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นองค์กรระหว่างประเทศจะสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เขาจะมาฟังการประชุมในวันที่ 29 พ.ค.นี้ก่อนว่ามติเป็นอย่างไร ตนบอกแล้วว่าในอาเซียนต้องแก้ให้ได้แล้วเสนอขึ้นมาเป็นมติโดยรวม แล้วเขาจะมาตรงไหนได้ก็จะว่าอีกที แต่เขาอยากให้ดูแลเรื่องมนุษยธรรมเป็นหลัก ซึ่งตนก็บอกว่าไทยก็มีกฎหมายของเรา ทุกประเทศมีกฎหมายของแต่ละประเทศก็ต้องเคารพกันตรงนี้ด้วย ทำอย่างไรเพื่อจะไปด้วยกันได้ ข้อสำคัญประชาชนที่เดือดร้อนและอพยพโดยไม่ธรรมชาติ จะไม่ถูกมองเหมือนคนไม่มีค่า

เมื่อถามว่ามั่นใจว่าการประชุมในวันที่ 29 พ.ค. ประเทศต้นทางจะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ชอบถามแบบนี้ ตนไม่ได้เป็นผู้นำประเทศของเขา ต้องเป็นมติที่ประชุม

ส่วนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเอกสารที่มีชื่อทหารยศนายพลร่วมกระทำผิดค้ามนุษย์อยู่ด้วยนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์โมโหว่า “ใคร ชื่ออะไร เขายังไม่รายงานมา ระบุชื่อมาสิ เอามา ทาง ผบ.ทบ.บอกแล้วว่ามีชื่อใครก็สอบสวนหมด แหม อะไรกันนักหนา ชอบไล่กันอยู่อย่างนี้ เขาลงโทษอยู่แล้วไม่ต้องกลัว และยิ่งผมอยู่ตรงนี้ ใครจะไม่ลงโทษ บอกมา กระทรวงไหนบ้าง คราวทีแล้วก็ทีนึง ไอ้ 100 คน ถามอยู่นั่นล่ะ เจอของแข็งของนิ่มอะไรก็ไม่รู้ เรื่องนี้ต้องให้เวลาเขาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และผมค่อยสั่ง ซึ่งเขาก็ยังไม่มีความผิดอะไรเพียงแต่ให้หลุดจากตรงที่มีปัญหา หากมีการร้องเรียนอะไรให้เอาออกมา เพื่อที่จะได้สอบสวนนี่คือหน้าที่รัฐบาลนี้ทำ ไม่ใช่รัฐบาลนี้จะไปชี้ใครผิดใครถูก ให้ติดคุก มันไม่ได้ ผมใช้อำนาจไหมล่ะแบบนี้ แล้วมาบอกผมใช้อำนาจทำร้ายอย่างนี้อย่างนั้น รัฐประหารผมยังไม่ได้ใช้เลย แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ทำ จบหรือยัง มันทำให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ เข้าไปตรวจสอบไม่ได้ทั้งหมด พอเขารายงานมาก็นิ่งๆ เฉยๆ กัน มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ บานปลายไปเรื่อย ความเสียหายก็มากขึ้นเรื่อยๆ”




กำลังโหลดความคิดเห็น