xs
xsm
sm
md
lg

สัมมนาร่าง รธน.พรรคใหญ่-กลาง พร้อมใจค้านกลุ่มการเมือง-พรรคเล็กเห็นต่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สัมมนารับฟังความเห็นพรรคการเมือง-ประชาชนต่อรัฐธรรมนูญ “สมบัติ” หวังฉบับนี้ใช้ไปยาวๆ คัด 7 ประเด็นสอบถามความเห็น พรรคใหญ่-กลาง รุมค้านกลุ่มการเมืองในร่างรัฐธรรมนูญ “จุรินทร์” อัดสองมาตรฐาน ย้อนยุค สนองกลุ่มการเมือง ประชาชนเสียประโยชน์ “สามารถ” ย้ำกลุ่มการเมืองไร้ผู้นำ-นโยบายที่ชัดเจน “นิกร” ตามซ้ำไร้กติกา ด้านพรรคเล็กเห็นต่างหนุนมีกลุ่มการเมือง

วันนี้ (15 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ได้กล่าวระหว่างเปิดเวทีสัมมนาว่า เป็นการรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองเพื่อนำไปประกอบการเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กมธ.ปฏิรูปการเมืองอยู่ระหว่างรวบรวมจะถือเป็นน้ำหนักของประเด็นต่างๆ ตนมีความหวังว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะถูกใช้ไปชั่วลูกชั่วหลาน ดังนั้นต้องทำให้ดีและยั่งยืน ไม่เช่นนั้นอาจถูกคนรุ่นลูกประณามได้ว่าคนรุ่นพ่อเขาทำอะไรกัน โดยในวันที่18 พ.ค.นี้ กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เพื่อรวบรวมประเด็นทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญด้วย

สำหรับประเด็นที่คณะกรรมาธิการตีกรอบให้ตัวแทนพรรคการเมืองและตัวแทนประชาชนอภิปรายแสดงความเห็นมี 7 ประเด็น คือ 1. กลุ่มการเมืองตามร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ 2. ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมและจำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่า 450 คน 3. ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่มาจาก 3 รูปแบบ คือ คัดเลือกกันเองของตัวแทนกลุ่มต่างๆ มาจากการสรรหา ผ่านผู้แทนวิชาชีพ และจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด หลังถูกคัดเลือกโดยคณะกรรมการกลั่นกรอง 4. ที่มาและคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี 5. การตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะมาตรา 181 และมาตรา 182 6. คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เพื่อทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 7. การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยผู้ร่วมสัมมนาสามารถแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หากไม่เห็นด้วยจะให้ปรับหรือแก้ไขอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนพรรคการเมืองขนาดใหญ่ต่างไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้กลุ่มการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และให้สิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดใช้บังคับกับกลุ่มการเมืองซึ่งอาจทำให้มีปัญหาต่อระบบการเมืองได้ ขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็กและภาคประชาชนเป็นส่วนน้อยให้ความเห็นสนับสนุนให้มีกลุ่มการเมืองและส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อาทิ นายสามารถ แก้วมีชัย จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับกลุ่มการเมือง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาสำคัญคือการไม่มีภาวะผู้นำ จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง เพื่ออุดมการณ์

“การหาเสียงเลือกตั้งพรรคการเมืองที่นำนโยบายไปนำเสนอกับประชาชน บอกว่าใครจะเป็นนายกฯ ถือเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ขณะที่กลุ่มการเมืองไม่มีความชัดเจนว่าจะมีนโยบาย หรือนำนโยบายไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ประเด็นให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตกผลึกมานานแล้ว ไม่อยากให้กลับไปแบบที่มีปัญหาอีก”

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การให้มีกลุ่มการเมืองจะทำให้เกิดผลเสียง 5 ข้อ คือ 1. การเมืองสองมาตรฐาน เพราะกรณีที่เป็นพรรคการเมือง มีเงื่อนไขที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ปฏิบัติจำนวนมาก แต่กลุ่มการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหากจะกำหนดกติกาเพื่อบังคับใช้กับกลุ่มการเมือง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปรึกษากับกลุ่มการเมืองด้วย 2. ทำการเมืองย้อนยุคไปเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ในอดีตมีปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วคือการเมืองไร้เสถียรภาพ และส.ส.ขายตัว จนนำไปสู่การยึดอำนาจ 3. สนองการเมืองเฉพาะกลุ่ม และ 4. ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะไม่มีหลักประกันสำหรับกลุ่มการเมืองที่รับผิดชอบต่อนโยบายว่าจะไปปฏิบัติได้จริง

ทางด้านนายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า กลุ่มการเมืองที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการถ่วงดุล หรือสร้างสมดุลในสภาผู้แทนราษฎร และเป็นการแทรกแซงการเมือง แต่หากมีเป้าหมายเพียงเท่านั้นตนมองว่าเหตุผลยังไม่เพียงพอที่จะให้มีกลุ่มการเมือง และอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้ ทั้งนี้ กลุ่มการเมืองไม่มีกติกา หรือกฎหมายใดที่กำหนดข้อปฏิบัติที่ชัดเจน และไม่มีรายละเอียดใดๆ ถือเป็นการตีเช็คเปล่า และเป็นความเสี่ยงมากกว่าจะมีข้อดี ทั้งนี้กลุ่มการเมืองถือเป็นกลุ่มที่มีแรงกดดันทางการเมืองอยู่ภายนอกสภาฯ หากจะสนับสนุนกลุ่มการเมืองควรกำหนดให้กลุ่มการเมืองสามารถจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองได้ง่ายและอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

ส่วนนายบวร ยสินทร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับกลุ่มการเมืองและขอให้แก้ไขให้ผู้สมัคร ส.ส.สามารถลงสมัครอิสระได้เพื่อให้การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อการเสนอตัวรับใช้บ้านเมืองเป็นไปตามสนธิสัญญาแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ กลุ่มการเมืองที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอาจก่อให้เกิดความสับสนในการกำหนดนิยามและการขับเคลื่อนการเมืองจะไม่สอดคล้องกับกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ สำหรับผู้ลงสมัคร ส.ส.แบบอิสระนั้น ถือเป็นผู้ที่เข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ไม่ต้องการเป็นรัฐบาลดังนั้นจึงไม่มีนโยบาย ทั้งนี้ ตนขอให้ปรับแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่อให้บุคคลสามารถรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมืองได้สะดวก ไม่ยุ่งยาก และกำหนดให้มีกลไกตรวจสอบที่เข้มแข็ง

ขณะที่พรรคเล็กอย่างพรรคไทยพอเพียง และพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ได้สนับสนุนให้มีกลุ่มการเมือง เนื่องจากกลุ่มการเมืองนั้นไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศเหมือนกับพรรคการเมือง และควรให้สิทธิกับประชาชนเต็มที่ในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มี 315 มาตรา ควรปรับลดให้เหลือ 79 มาตรา เท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น