xs
xsm
sm
md
lg

ก.พ.นัดถกพรุ่งนี้ ทบทวนตั้ง “ธีรยุทธ์” ร่วมสอบ “หัสวุฒิ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์
จับตาพรุ่งนี้ (11 พ.ค.) ก.พ. นัดถกทบทวนตั้ง “ธีรยุทธ์” ร่วมสอบ “หัสวุฒิ” หลังรักษาการเลขาฯศาลปกครองร่อนหนังสือตื้อให้พิจารณาอีกรอบ ด้านตุลาการอีกกลุ่มหนุนอำนาจ ก.พ. ชี้มีสิทธิ์แต่งตั้งใครก็ได้ ตามระเบียบ ก.ศป. เอง

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (11 พ.ค.) ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะมีการประชุมกัน โดยจะมีวาระการพิจารณาหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 28 เม.ย. 58 ของ นายไกรรัช เงยวิจิตร รักษาการเลขาธิการศาลปกครอง ที่ทำถึง เลขาธิการ ก.พ. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการแต่งตั้ง นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ คณะกรรมการพลเรือน ให้ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการสอบสวน นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตัวแทนของ ก.พ. เนื่องจากรักษาการเลขาธิการศาลปกครองอ้างว่า นายธีรยุทธ์ เข้าข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการสอบสวนนายหัสวุฒิ เนื่องจากดำรงตำแหน่งรองประธานศาลปกครอง และเมื่อเกษียณอายุ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง โดยความเห็นชอบของนายหัสวุฒิ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สำนักงาน ก.พ. ก็ได้เคยมีหนังสือยืนยันการแต่งตั้ง นายธีรยุทธ์ มาแล้ว ตามที่รักษาการเลขาธิการศาลปกครองได้มีหนังสือสอบถามไปแล้วครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีกระแสข่าวระบุว่า รักษาการเลขาธิการศาลปกครอง ได้ทำหนังสือกลับไปยัง ก.พ. เพื่อยับยั้งการแต่งตั้งนายธีรยุทธ์ในการร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวนนายหัสวุฒินั้น ก็ได้มีบุคลากรภายในศาลปกครองรวมตัวกันภายใต้ชื่อ “คณะตุลาการศาลปกครองผู้รักความเป็นธรรม” ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่สนับสนุนมติการแต่งตั้งนายธีรยุทธ์ของสำนักงาน ก.พ. ไปถึงประธาน และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน โดยระบุว่า เป็นอำนาจของสำนักงาน ก.พ. ในการเสนอแต่งตั้งผู้ใดร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวน ตามระเบียบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 ข้อ 6 (4) จำนวน 5 คน ประกอบไปด้วย ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ากว่าหัวหน้าคณะ เป็นประธานกรรมการ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดที่ จำนวน 3 คน และกรรมการข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับแต่งตั้งจาก คณะกรรมการพลเรือน 1 คน เป็นกรรมการ

คณะตุลาการศาลปกครองผู้รักความเป็นธรรม ยังระบุด้วย ก.ศป. และคณะกรรมการสอบสวน ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการที่จะพิจารณาเกี่ยวกับความเหมาะสมของกรรมการสอบสวนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยชอบจาก ก.พ. และไม่มีสิทธิตามกฎหมายในการที่จะยื่นเรื่องขอคัดค้านกรรมการที่ตนเองเห็นว่าอาจไม่เป็นกลาง

“ความพยายามเปลี่ยนตัวกรรมการสอบสวนที่ ก.พ. ได้แต่งตั้งมา อันเป็นอำนาจโดยแท้ และอิสระของ ก.พ. ซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยที่ไม่มีเหตุผล และไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ย่อมถือเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก.ศป.” เอกสารดังกล่าวระบุไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น