สปช. ด้านพลังงาน ยื่นข้อมูลเพิ่มเติมต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หลังพบ ปตท. ไม่ดำเนินการตามมติ ครม. แยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สิน แต่ไปทำสัญญากับบุคคลที่ 3 เชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ส่อรัฐสูญเสียรายได้และเสียประโยชน์
วันนี้ (8 พ.ค) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน และ น.ส.สารี อ่องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ยื่นข้อมูลเพิ่มเติมต่อ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโภภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สามของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามที่ ปตท. ได้เผยแพร่ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สามของบริษัท ปตท. เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 58 ซึ่งถือเป็นการนำสาธารณะสมบัติไปก่อภาระผูกผัน โดยที่ ปตท. จะได้ประโยชน์แต่อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้ แต่ยังเป็นต้นทุนค่าบริการที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชน จึงเสนอขอให้ทาง สตง. มีคำสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวไว้ก่อน
ทั้งนี้ มีการตรวจสอบพบว่า บริษัท ปตท. ไม่ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 18 ธ.ค. 2550 ในการแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินท่อก๊าซของ ปตท. จากปัญหาการตีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 มูลค่า 68,569 ล้านบาท แต่เมื่อ ปตท. จ้างบริษัทเอกชนประเมินมูลค่าใหม่อีกครั้งปี 2551 จากบริษัทเอกชน 2 ราย พบว่ามีมูลค่าท่อก๊าซสูงถึง 150,000 ล้านบาท และอีกบริษัทระบุว่ามีมูลค่า 120,000 ล้านบาท เมื่อประเมินใหม่มีมูลค่าสูงขึ้น แต่ประชาชนกลับซื้อก๊าซราคาแพงเป็นมูลค่านับ 300,000 ล้านบาท
“ทางกลุ่มจึงยื่นเอกสารเพิ่มกรณีการเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ด้วยการตั้งบุคคลที่ 3 นับว่าเป็นการนำท่อก๊าซที่อยู่ในคำร้องไปทำสัญญากับบุคคลที่ 3 อาจทำให้เกิดความสูญเสียรายได้และเสียประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจระยะยาว เพื่อระงับยับยั้งไม่ให้ ปตท. ดำเนินการใดๆ อันมีผลผูกพันต่อระบบท่อส่งก๊าซที่เป็นสมบัติของประเทศ รวมทั้งเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดวันที่ 21 พ.ค. เวลา 10.30 น. เพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยวันที่ 26 ธ.ค. 2551 ซึ่งระบุว่า ปตท.ยกทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว” นางรสนา กล่าว
ด้าน นายพิศิษฐ์ เปิดเผยว่า สตง. เตรียมรวบรวมเอกสารข้อมูลเสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. เร็วๆ นี้ หลังพบข้อมูลว่า ไม่มีการปฎิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเจอปัญหาการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้ส่วนราชการ ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นความเสียหายที่ต้องหาคนมารับผิดชอบ เพราะเมื่อมีการบังคับใช้ไม่ถูกต้องก็ควรดำเนินการตามกฎหมาย
“ไม่ได้หมายความว่าจะก้าวล่วงคำตัดสินของศาลที่ให้หน่วยงานไปตกลงกันเอง แต่จากการตรวจสอบ สตง. พบว่า มีการปฏิบัติผิดมติ ครม. ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเร่งสรุปเพื่อเสนอ คตง. ให้พิจารณาความถูกต้อง เนื่องจากเบื้องต้นพบว่าการไม่ดำเนินการตามมติ ครม. ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องมีผู้รับผิดชอบ เมื่อมีความผิดทางอาญา จึงต้องส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาความผิดในขั้นต่อไป และต้องส่งเรื่องไปยังรัฐบาลเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว” นายพิศิษฐ์ กล่าว