xs
xsm
sm
md
lg

“รศ.ดร.พิชาย” มองต่าง ลั่นไม่เอาลงประชามติร่าง รธน.แบบตอแหล ได้ไม่คุ้มเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (แฟ้มภาพ)
นักวิชาการนิด้า ฉะทำประชามติร่าง รธน. แค่สนองความมัน ยกเคส รธน.50 ลงประชามติก็ฉีกได้ และไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ แนะไม่ควรตามกระแส ไปลงประชามติแบบปลอมๆ ไร้คุณภาพส่วนเช่นนี้ ไม่มีประโยชน์อะไรแม้แต่น้อย เปลืองทั้งงบประมาณแผ่นดิน เปลืองทั้งเวลา ไร้ประโยชน์ ไร้คุณค่าใดๆ ต่อสังคมทั้งสิ้น มีแต่เรื่องตอแหลทั้งนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 7 พ.ค. เวลาประมาณ 22.00 น. รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Phichai Ratnatilaka Na Bhuket หัวข้อ “ผมไม่เอาการลงประชามติที่ใช้อวิชชาเป็นที่ตั้ง” เพื่อให้ข้อคิดต่างถึงกรณีมีคนพูดสนับสนุนให้ลงประชมมติผ่านร่างรธน. ดังนี้

๑. การทำประชามติมีหลักการสำคัญคือ ประเด็นต้องชัดเจนหนึ่งหรือสองประเด็น เพื่อนำไปสร้างความเข้าใจได้ง่ายและทั่วถึง

การทำประชามติหลายประเด็น อีกทั้งแต่ละประเด็นมีความซับซ้อนมากไม่เหมาะจะนำไปทำประชามติ เพราะไม่อาจทำให้คนส่วนใหญ่ที่ลงประชามติเข้าใจและประเมินได้ ส่งผลให้ลงประชามติแบบไม่รู้ หรือใช้อารมณ์ตามกระแส หรือการถูกชักจูง มติที่ได้จึงไม่ใช่มติที่อยู่บนฐานของความเป็นเหตุเป็นผล แต่อยู่บนฐานของอวิชชา และไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้เกิดความชอบธรรมในเรื่องนั้นได้

๒. การนำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไปลงประชามติ สิ่งที่ได้เป็นเพียงประชามติที่จอมปลอมเท่านั้น

๒.๑ ประชามิติไม่ได้เป็นหลักประกันว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ถูกฉีกอีก

๒.๒ ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะลงรับหรือไม่รับ ไม่ได้ใช้เหตุผลและการวิเคราะห์ที่อ้างอิงเนื้อส่วนใหญ่ของรัฐธรรมนูญ แต่จะลงตามอารมณ์ หรือใช้เพียงบางประเด็นที่ตนเองชอบหรือไม่ชอบในการตัดสินใจ

๒.๓ ประชาธิปไตยที่ถูกกำหนดด้วยอารมณ์และความไม่รู้ ไม่มีทางที่จะเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้

๒.๔ การอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่าลงประชามติ จึงต้องให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลงประชามติอีก เป็นการอ้างที่ภาษาวิชาการเรียกว่า “ทิ้งเหตุผล” ส่วนภาษาชาวบ้านเรียกว่าอะไร ไปคิดกันเอาเอง การอ้างลักษณะนี้บวรศักดิ์ ใช้บ่อย ใช้มาตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ จนผมแปลกใจมากกับการใช้ตรรกะของคนผู้นี้

๒.๕ หากผลการลงประชามติ เสียงส่วนใหญ่ไม่รับ สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างใหม่หรือไม่ และต้องลงประชามติอีกหรือไม่

๒.๖ หากผลออกมาว่าส่วนใหญ่บอกว่ารับ ต่อไปก็คงมีการอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องลงประชามติก่อน หากแก้ไม่ได้จะฉีกรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่

๒.๗ การลงประชามติแต่ละครั้งใช้เงินประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาท ไม่นับค่าเสียเวลาและค่าใช้จ่ายของคนที่ต้องเดินไปลงประชามติว่ามีอีกเท่าไร แต่ผลที่ได้ไม่คุ้มค่าแม้แต่น้อย เพียงแค่สนองภาพลักษณ์ของคนยกร่างและสนองความมันของพวกเพ้อฝันที่ไร้เดียงสา

๒.๘ คนที่พูดสนับสนุนให้ลงประชามติ โดยเฉพาะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีเหตุผลที่หนักแน่นใดๆในเรื่องนี้เลยพูดให้ตัวเองดูดี ตามกระแสเท่านั้น แถม สปช. บางคนเลอะเทอะหนักเข้าไปอีกที่จะให้ลงประชามติรายประเด็นที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ

๒.๙ การอ้างว่าการลงประชามติเป็นการให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยแก่คนในสังคม ผมว่าเป็นการอ้างที่พอจะฟังได้ แต่ก็ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณของชาติที่ต้องใช้ถึงสามพันล้านบาท เพราะ การให้การศึกษาเรื่องนี้ทำได้ร้อยแปดพันประการด้วยวิธีการอื่นๆ ถ้าอยากทำ และใช้เงินไม่ถึงพันล้านบาทด้วยซ้ำไป

๒.๑๐ การลงประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี ๒๕๕๐ เป็นการทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับคมช.และคนร่างเท่านั้น ตอนนั้นอยากคนมีอำนาจคิดว่า ลงประชามติแล้วจะทำให้ตัวเองมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับ แต่ผลเป็นยังไง ไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำ อีกทั้งการลงประชามติครั้งนั้นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดมรรคผลใดๆในการพัฒนาประชาธิปไตยแม้แต่น้อย ความขัดแย้งหลังจากนั้นเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าดังที่ทุกคนทราบกันอยู่ ฉะนั้นการลงประชามติจึงไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ เพียงแต่เป็นเรื่องที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองเด่นชัดขึ้นเท่านั้น

๒.๑๑ ลองคิดดู ลงประชามติ หรือไม่ลง รัฐธรรมนูญก็มีโอกาสถูกฉีกพอๆกัน และความขัดแย้งทางการเมืองก็มีโอกาสเกิดขึ้นพอๆ กัน

๒.๑๒ ผมจึงคิดว่า เราไม่ควรตามกระแส ไปลงประชามติแบบปลอมๆ ไร้คุณภาพส่วนเช่นนี้ ไม่มีประโยชน์อะไรแม้แต่น้อย เปลืองทั้งงบประมาณแผ่นดิน เปลืองทั้งเวลา ไร้ประโยชน์ ไร้คุณค่าใดๆ ต่อสังคมทั้งสิ้น มีแต่เรื่องตอแหลทั้งนั้น

ส่วนใครอยากจะตามกระแสสนับสนุนการลงประชามติแบบตอแหล ก็ตามสบาย แต่ผมไม่เอาด้วยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น