xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ หนุนแม่น้ำ 5 สายถกประชามติ แย้ม สปช.ลงมติก่อนให้ปชช.ตัดสิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างฯ (แฟ้มภาพ)
กมธ.ยกร่างฯ แจงประชามติจริงต้องแก้ รธน.ชั่วคราว รอดูท่าทีผู้มีอำนาจริเริ่ม รับไม่ใช่เรื่องเสียหายแม่น้ำ 5 สายจะถกเรื่องนี้ ชี้ต้องรอบคอบจะถามทำฉบับหรือรายมาตรา แย้ม สปช.ลงมติก่อนให้ ปชช.ตัดสิน รับเคารพการตัดสินใจ

วันนี้ (6 พ.ค.) นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า หากจะมีการทำประชามติจริงนั้น เริ่มแรกจะต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ก่อน หลังจากนั้นถึงจะสามารถจัดทำประชามติได้ กระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องมีผู้ริเริ่มโดยขณะนี้มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นว่าควรมีการทำประชามติ แต่ตอนนี้ก็ยังมีการรอดูท่าทีกันอยู่ว่าใครจะเป็นผู้ริเริ่ม เพราะคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ คือ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

นายบัณฑูรกล่าวอีกว่า สำหรับท่าทีของคณะ กมธ.ยกร่างฯต่อเรื่องนี้ส่วนใหญ่รวมถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะ กมธ.ยกร่างฯ ก็เห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่คณะ กมธ.ยกร่างฯยังไม่มีการหารือกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งการทำประชามติเป็นเรื่องที่คณะ กมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คนไม่สามารถตัดสินใจเพียงลำพังได้ ทั้งนี้ หากดูสถานการณ์ขณะนี้จะเห็นว่าหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้มีการทำประชามติ ตนจึงมองไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากแม่น้ำทั้ง 5 สายจะนำเรื่องมาคุยกัน

เมื่อถามว่า กระบวนการทำประชามติควรทำเป็นรายมาตราหรือทั้งฉบับ นายบัณฑูรกล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีหลายวิธีการ คงต้องพิจารณาว่าหากจะทำทั้งฉบับจะมีกระบวนการดำเนินการอย่างไร หรือถ้าทำประชามติเป็นรายมาตราก็ต้องดูว่าควรหยิบประเด็นใดขึ้นมาสอบถามประชาชน ขณะเดียวกัน ถ้าทำแล้วและประชาชนลงมติเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ผลจากนั้นจะเป็นอย่างไร จึงมองว่าประเด็นดังกล่าวต้องคิดให้ครบถ้วนและรอบคอบก่อนที่จะมีการตัดสินใจ

เมื่อถามว่า หากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแต่ประชาชนลงประชามติไม่เห็นด้วย ผลจากนั้นควรจะเป็นอย่างไร นายบัณฑูร กล่าวว่า ตามกระบวนการจะต้องให้ สปช.ลงมติก่อนว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ก่อน หลังจากนั้นถึงจะเข้าสู่กระบวนการลงประชามติของประชาชน ดังนั้น สมมติฐานที่เป็นไปได้ คือ ให้ สปช.โหวตเห็นชอบกับและส่งให้ประชาชนยืนยันผ่านการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หากสปช.ลงมติไม่เห็นด้วยแล้วให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยออกเสียงตัดสินก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง

เมื่อถามว่า หาก สปช.ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการทำประชามติอีก นายบัณฑูรกล่าวว่า ถ้า สปช.และประชาชนลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญก็จะเป็นการยืนยันคู่กันว่าร่างรัฐธรรมนูญได้รับการสนับสนุน หากประชาชนโหวตไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น