xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทร.เปิด ศปมผ.หวังยกระดับประมงได้มาตรฐาน เผย “ประยุทธ์” สั่งเห็นผลใน 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (แฟ้มภาพ)
“ผู้บัญชาการทหารเรือ” เปิดศูนย์บัญชาการการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ตาม ม.44 ยันมุ่งมั่นตั้งให้เป็นกลไกแก้ที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับประมงไทยให้สอดคล้องมาตรฐานสากล เผยทำระบบเรียบร้อยแล้ว แต่รับเอาเรืออยู่ในกรอบไม่ง่าย ระบุนายกฯ สั่งเห็นผลใน 3 เดือน จ่อศึกษาชาติอื่นหลุดใบเหลืองได้ยังไง หวังอียูเข้าใจติดตั้งเครื่องติดตามเรือ 5 พันลำให้เสร็จในวันสองวันไม่ได้ ด้านอธิบดีกรมการปกครอง เผย 4 เงื่อนไข วอนสื่อช่วยรณรงค์ให้ไต้ก๋งนำเรือมาจดทะเบียน

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่ศูนย์บัญชาการการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กองทัพเรือ เมื่อเวลา 14.00 น. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการ ศปมผ. โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดย พล.อ.ไกรสรกล่าวเปิดงานว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศรวมกับหน่วยงานต่างๆ โดยตนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ ศปมผ.เป็นกลไกที่สำคัญมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมทั้งขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ด้วยการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับมาตรฐานการประมงไทย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมทั้งบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประกอบการประมงให้เป็นรูปธรรมและยั้งยืน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศปมผ.จะเป็นเริ่มต้นเสริมกำลังทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสานผลประโยชน์แก้ปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมทั้งขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ให้บรรลุผลสำเร็จ

หลังจากนั้น พล.ร.อ.ไกรสรให้สัมภาษณ์ว่า หลังจาก ศปมผ.ได้จัดทำระบบเรียบร้อยแล้วจะปฏิบัติงานทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ทางนายกรัฐมนตรีสั่งให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปซึ่งทุกอย่างมีความพร้อม 90% แล้ว สำหรับการแก้ไขปัญหาโจทย์หลักต้องเอาเรือประมงเข้ามาอยู่ในกรอบ ถือไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องดำเนินการเกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว สำหรับแผนการดำเนินงานนั้นทางกองทัพเรือจะติดตามการทำงานของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่าสามารถตอบโจทย์ของอียูมากน้อยแค่ไหน นายกรัฐมนตรีได้กำหนดเวลาให้แก้ปัญหาภายใน 3 เดือน โดยเราจะทำให้ดีที่สุดและต้องตอบโจทย์ของอียูเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ นอกจากนี้ เราจะศึกษาตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาเหมือนกับประเทศไทย ว่าเขามีแนวทางดำเนินการอย่างไรเพื่อให้หลุดจากใบเหลืองตลอดประเทศที่ยังไม่หลุด โดยเราจะมีการประชุม ศปมผ.ในเดือน พ.ค.อีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 6 พ.ค. และ 18 พ.ค.นี้ เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน

“การแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการติดเครื่องติดตามเรือประมง หรือวีเอ็มเอส ในเรือที่มีน้ำหนักเกิน 60 ตัน มีประมาณกว่า 5,000 ลำ จะให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันสองวันคงเป็นไปไม่ได้ คิดว่าทางอียูคงเข้าใจ นอกจากนี้ ความร่วมมือของเรือประมงถือเป็นประเด็นหลักสำคัญ เพราะเรือทั้งในอ่าวไทยและฝั่งอันดามันมีประมาณ 30,000 กว่าลำ และยังไม่รวมเรือนอกน่านน้ำด้วย” พล.ร.อ.ไกรสรกล่าว

พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการในการตรวจตราเรือประมงที่ทำผิดกฎหมายนั้น หากเทียบกับอัตราส่วนของเจ้าหน้าที่แล้วมีความแตกต่างพอสมควร แต่เราจะใช้วิธีการสุ่มตรวจเรือเข้าออก และบังคับใช้กฎหมายต่อเรือประมงที่ทำผิดกฎหมายตามบทลงโทษที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้ 1-2 วันที่ผ่านมา

“ผมมั่นใจว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาได้เสร็จทันภายใน 6 เดือนตามที่อียูได้กำหนดไว้ แต่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากใบเหลืองหรือไม่นั้น ผมไม่ได้เป็นผู้ตัดสิน เพราะทางอียูจะต้องมาประเมินอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหายังไม่จำเป็นต้องใช้ มาตรา 44 มาบังคับใช้ แม้ว่าจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ปฏิบัติงานได้เร็วขึ้นก็ตาม” พล.ร.อ.ไกรสรกล่าว

ด้านนายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวเพิ่มเติมว่า เงื่อนไขที่ทางอียูจับจ้องอยู่นั้นมี 4 เงื่อนไข คือ เรือ 1. จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ตลอดจนการติดเครื่องมือวีเอ็มเอส 2. คนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง และกระทรวงแรงงาน เพื่อจดทะเบียนแรงงานประมงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย.นี้ 3. เครื่องมือที่ใช้ในการประมงต้องถูกต้อง และ 4. สถานที่ทำการประมง โดย ศปมผ.จะตรวจสอบ 4 เงื่อนไขนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะประสบความสำเร็จนั้นนอกจากเจ้าหน้าที่ต้องบูรณาการอย่างแข็งขันแล้ว สมาคมประมง ตลอดจนสื่อมวลชนต้องช่วยกันรณรงค์ให้ผู้ประกอบอาชีพประมงนำเรือและคนมาขึ้นทะเบียน ตอลดจนเครื่องมือมาจดทะเบียนอาชญาบัตรให้เรียบร้อย

ทั้งนี้ ศปมผ.มุ่งดำเนินงานภายใต้นโยบายการบริหารงานที่สำคัญ ได้แก่ 1. การปรับปรุงกฎหมายและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมงให้มีมาตรฐานสากล การนำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมถึงปรับปรุงความร่วมมือกับรัฐชายฝั่งที่เรือไทยไปทำประมง

2. กลุ่มงานจัดระเบียบเรือประมงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในกิจการประมงของไทย โดยจัดให้มีศูนย์ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่เรือประมงแบบเบ็ดเสร็จ หรือ Fishing One Stop Service ประจำในแต่ละจังหวัดชายทะเล เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการด้านเอกสารทางราชการ และปรับปรุงประสิทธิภาพในการจดทะเบียนเรือ การออกและการขอต่อใบอนุญาตทำการประมง รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลด้านการประมงให้พร้อมสำหรับระบบติดตามเรือประมงและระบบการตรวจสอบย้อนกลับ

3. กลุ่มงานด้านการติดตามเรือประมงและการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อก่อให้เกิดผลดีด้านเศรษฐกิจการประมงที่ตามมา ให้มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก-ท่าเรือ การให้เรือประมงตั้งเครื่องติดตามเรือประมงและศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางทะเล ดำเนินการบูรณาการข้อมูลข่าวสารทางทะเลที่เกี่ยวข้อง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ภาพสถานการณ์ทางทะเล และปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ติดตามควบคุมและเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการทำการประมงที่ผิดกฎหมายและให้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับมีความครบถ้วนสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด รวมทั้งปรับปรุงระบบการออกเอกสารการรับรองการจับสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพ

4. กลุ่มงานบังคับใช้กฎหมาย โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายให้มีเอกภาพ และปฏิบัติงานได้อย่างประสานสอดคล้อง โดยให้หน่วยงานภาครัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายต่อเรือไทยที่ทำการประมงในน่านน้ำไทยและน่านน้ำอื่นๆ อีกทั้งปฏิบัติตามกฎหมายและการบริหารจัดการประมงระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น