xs
xsm
sm
md
lg

“อียู” เตรียมเยือนไทย 8 พ.ค. ตรวจปัญหาใบเหลือง - อุปทูตสหรัฐฯ พบ “บิ๊กต๊อก” ตามค้ามนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ช่วงเช้าวันนี้(6 พ.ค.) พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารให้การต้อนรับ Mr. W. Patrick Murphy  อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และคณะ เพื่อร่วมหารือข้อราชการ ในประเด็นความร่วมมือด้านการป้องกัน ยาเสพติด ความร่วมมือกับสถาบันการฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมาย (ILEA)  การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงการส่งมอบตัวผู้ร้ายข้ามแดน ณ ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพมหานคร
อุปทูตสหรัฐฯ เยือน ก.ยุติธรรม ติดตามแก้ปัญหาขบวนการการค้ามนุษย์ หลัง “บิ๊กตู่” ขีดเส้น 10 วันสอบเชิงลึก “พล.อ.ไพบูลย์” ย้ำ จะไม่เว้น จนท.รัฐหากพบเกี่ยวข้อง ด้าน ก.แรงงาน เผยสรุปข้อมูลต่อ กต.แล้ว เตรียมทำรายงานภาพรวม เสนอ กต.สหรัฐฯ ในเดือนพ.ค.นี้ ย้ำหากไทยยังอยู “เทียร์ 3” กระทบในเชิงจิตวิทยาการค้าแน่ เสนอจัดหาแรงงานผ่านระบบเอ็มโอยูกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ด้านกองทัพเรือถก กก.ปราบประมงผิด กม.นัดแรก รับ “อียู” เตรียมเยือนไทย 8 พ.ค. และ 20 พ.ค. ตรวจปัญหา “ใบเหลือง”

วันนี้ (6 พ.ค.) หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้สั่งการเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของกลุ่มชาวโรฮิงญา โดยให้เจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่บ้านจนถึงนายอำเภอตรวจสอบพื้นที่ และให้ปลัดจังหวัด ดูในภาพรวมเพื่อตรวจสอบว่าในพื้นที่ต่างๆ มีแหล่งควบคุมกักกัน หรือเป็นพื้นที่ที่รวบรวมคนที่จะส่งต่อไปหรือไม่ โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการเพิ่มเติม 3 ประเด็น คือ 1. ให้เวลาในการตรวจสอบพื้นที่ 10 วันนับตั้งแต่วันนี้ โดยกรมการปกครองจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลในพื้นที่ 2. ทางจังหวัดต้องมีการประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รับทราบนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลว่ารายละเอียดของแต่ละส่วนจะต้องปฏิบัติอย่างไร 3. หากมีข้อมูลพบว่าในพื้นที่หากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจนระดับพื้นที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเองได้ก็ให้รายงานขึ้นมาที่อธิบดีกรมการปกครองซึ่งได้มีการรวบรวมแล้วส่วนกลางจะเข้าไปดำเนินการแก้ไขให้

ที่กระทรวงยุติธรรม นายแพทริก เมอร์ฟีย์ อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยพร้อมคณะได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เพื่อหารือความร่วมมือในด้านต่างๆ

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า นายแพททริกและคณะได้มาพูดคุยหารือกับ พล.อ.ไพบูลย์ ในประเด็นความร่วมมือหลายด้านระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ทางการสหรัฐอเมริกาได้ยืนยันในความร่วมมือใน
5 ประเด็น คือ 1. การติดตามผู้กระทำความผิดที่หลบหนีมายังประเทศ 2. การส่งผู้ร้ายข้ามแดน 3. ความร่วมมือกับสถาบันการฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมาย (ILEA) 4. เรื่องการปราบปรามขบวนการปลอมหนังสือเดินทาง เป็นต้นตอที่นำไปสู่การเกิดอาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย และ 5. การปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก

รมว.ยุติธรรมได้ร้องขอให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาสนับสนุนมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งทางรัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่าและลาว เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวตามโครงการปลูกพืชทดแทน และการสร้างอาชีพ โดยจะมีหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

พล.อ.ไพบูลย์ยังได้ชี้แจงหรือการมาตรการปราบปรามและแก้ปัญหาขบวนการการค้ามนุษย์ของประเทศ โดยระบุว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างจริงจังในการขบวนการการค้ามนุษย์ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวจะมีต้องถูกดำเนินคดีไม่มีการละเว้นไม่ว่าจะระดับใด

ขณะที่ที่กระทรวงแรงงานมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการถูกสหรัฐอเมริกาจัดอันดับเป็นประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระดับ 3 หรือเทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับรุนแรงที่สุด โดยนายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมุ่งดูแลไม่ให้มีการใช้แรงงานบังคับแรงงานเด็กโดยจัดระเบียบการใช้แรงงานต่างด้าวเน้นให้ผู้ประกอบการต้องใช้แรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย ที่ผ่านมาได้มีการเปิดจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติแรงงาน 3 สัญชาติ ทั้งพม่า กัมพูชา และลาวซึ่งมีแรงงานและผู้ติดตามมาจดทะเบียนกว่า 1.6 ล้านคน

ขณะนี้ได้รับการพิสูจน์สัญชาติไปแล้วประมาณ 3 แสนคน ล่าสุดรัฐบาลได้ผ่อนผันขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติออกไปอีก 1 ปี รวมทั้งดูแลไม่ให้มีนายหน้าเถื่อน โดยบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวต้องมาขึ้นจดทะเบียนและพนักงานทุกคนก็ต้องขึ้นทะเบียนเช่น อีกทั้งเก็บค่าใช้จ่ายอย่างเป็นธรรม เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และดูแลไม่ให้นายจ้างยึดเอกสาร พาสปอร์ต ไม่ให้มีการทำงานใช้หนี้

“นโยบายของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน เน้นการนำเข้าแรงงานผ่านระบบความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้บริหารจัดการได้ง่ายและควบคุมการเก็บค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงเกินไป” นายอารักษ์กล่าว และว่าขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานยังเน้นการคุ้มครองแรงงานโดยมีการออกกฎหมายทั้งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 กำหนดให้ห้ามรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในเรือประมง นายจ้างต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างและมีการจัดทำสัญญาจ้าง รวมถึงออกกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรมกำหนดให้ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี นอกจากนี้ ร่วมกับกองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจแรงงานในเรือประมงทะเล 22 จังหวัดชายทะเล

“ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้สรุปรายงานความคืบหน้าการป้องกันและแก้ปัญหาค้ามนุษย์ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำไปประกอบการจัดทำรายงานโดยภาพรวมของประเทศเพิ่มเติมตามที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาขอรายละเอียดเพิ่มภายในเดือน พ.ค.นี้ ก่อนที่จะประกาศผลจัดอันดับเทียร์ในเดือน มิ.ย.นี้ หากไทยยังคงถูกจัดอันดับเทียร์ 3 อยู่เช่นเดิมจะส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยา โดยเฉพาะด้านการค้ากับต่างประเทศอาจจะทำให้ประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา ยุโรปลดการสั่งซื้อสินค้าอย่างกุ้ง ปลา อาหารแช่เยือกแข็งจากไทย อย่างไรก็ตาม หวังว่าไทยจะได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นเพราะที่ผ่านมาได้พยายามป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่” นายอารักษ์กล่าว

ส่วนกรณีที่พบค่ายและหลุมศพชาวโรฮิงญาที่เกาะใน อ.สะเดา จ.สงขลานั้น เชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงและตำรวจจะดำเนินการแก้ปัญหาได้ ขณะที่ในส่วนของกระทรวงแรงงานที่ผ่านมาได้ตรวจสอบแล้วยังไม่พบว่ามีการใช้แรงงานชาวโรฮิงญา อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องนี้ตรวจสอบได้ยาก

อีกด้าน พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ศปมผ.เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ประสานการปฏิบัติรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เขต 1-3 ตลอดจนส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง

พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวเปิดการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่ คณะทำงานของสหภาพยุโรป หรืออียู จะมาติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ และในวันที่ 20 พฤษภาคมจะเป็นคณะผู้บริหารระดับสูงของอียู มาตรวจความพร้อมอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนว่าไทยจะสามารถแก้ปัญหาใบเหลืองได้อย่างไร ตนคิดว่าการตรวจความพร้อมของอียูจะมีผลต่อการพิจารณาใบเหลืองของไทย

ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพื่อให้ความมั่นใจว่า ไทยจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีก นอกจากนี้อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหา เพราะไม่ใช่ภารกิจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตลอดจนถึงความร่วมมือจากสมาคมประมงที่ถือเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งทุกส่วนราชการที่กำลังเร่งแก้ปัญหาเพื่อให้ธุรกิจประมงราบรื่นและสามารถกลับมาส่งออกได้อย่างเสรีเหมือนเดิม

โดยในวันนี้ได้มีการเปิดศูนย์ควบคุมการเข้า-ออกท่าของเรือประมง (PIPO) อย่างเป็นทางการ 28 ศูนย์ใน 22 จังหวัดชายทะเล เพื่อให้สามารถทราบการเข้า-ออกท่าเรือของเรือประมงเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับ ตามแนวทางที่สหภาพยุโรป (อียู) ให้เร่งดำเนินการแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ศปมผ.ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 4-5 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อจัดทำโครงสร้างและแผนงาน ออกเป็น 4 ส่วน คือ 1. ฝ่ายกฎหมาย 2. ฝ่ายประชาสัมพันธ์ 3. ศรชล. 4. สำนักเลขานุการ และมีแผนต่างๆ มุ่งเป้าหมายสำคัญเพื่อให้สหภาพยุโรปยกเลิกใบเหลืองในการทำประมงของไทยให้สำเร็จและยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น