สนช.ประชุมซักถาม “บุญทรง-ภูมิ-มนัส” ถูกกล่าวหาทุจริตขายข้าวจีทูจีกับจีน แต่เจ้าตัวปฏิเสธที่จะเข้าชี้แจง อ้างคดีถึงศาลฎีกาฯ แล้ว หวั่นส่งผลกระทบในการต่อสู้คดี
ที่รัฐสภา วันนี้ (30 เม.ย.) มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อดำเนินการถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 56 (1) และมาตรา 58 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จากกรณีการทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งเป็นการซักถามคู่กรณีคือ ป.ป.ช. กับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคน ตามที่สมาชิก สนช.ได้ส่งคำถามมายังคณะกรรมาธิการซักถาม
ทั้งนี้ นายสุรชัยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย คือ นายบุญทรง นายภูมิ และนายมนัส ทำหนังสือถึงประธาน สนช.ขอใช้สิทธิไม่มาตอบคำถามต่อ สนช. เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมีคำสั่งรับฟ้องคดีดังกล่าวแล้วจึงไม่อยากให้เกิดความเสียหายในการต่อสู้คดี
จากนั้นคณะกรรมาธิการซักถามได้ตั้งคำถามถึงตัวแทน ป.ป.ช.ว่า 1. ปัจจุบันนายมนัส เกษียณอายุราชการ และถูกออกจากราชการแล้ว แม้จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งก็ไม่สามารถกลับเข้ารับราชการได้ ดังนั้นเหตุใด ป.ป.ช.จึงยังยื่นถอดถอนอีก 2. ให้ชี้แจงความผิดของนายบุญทรง และนายภูมิที่ถูกตั้งข้อหาผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ตอบข้อซักถามว่า เหตุที่ต้องยื่นถอดถอนนายมนัส เนี่องจากการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง นอกจากหมายถึงนักการเมืองแล้วยังครอบคลุมถึงข้าราชการระดับสูงด้วย นายมนัสเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ถือเป็นตำแหน่งข้าราชการระดับสูงที่ต้องได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนในการบริหารงาน ต้องถูกตรวจสอบโดยสภาฯ ได้ อีกทั้งผู้ใดที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เป็นเวลา 5 ปี ยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ดำเนินการด้วยความอาฆาตมาดร้าย พยาบาท แต่ทำตามหน้าที่
ส่วนความผิดของนายบุญทรง และนายภูมิ เนื่องจากการไต่สวนของ ป.ป.ช.พบว่า มีการทุจริตในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับบริษัท ไห่หนาน และบริษัท กวางตุ้ง จำนวน 4.9 ล้านตัน โดยมีการทำสัญญาซื้อขายข้าวในราคาถูกกว่าท้องตลาด และไม่เปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเข้าร่วมแข่งขัน แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัททั้งสองแห่งไม่ใช่บริษัทที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีนให้มาทำสัญญาซื้อขาย จึงไม่ใช่การทำสัญญาแบบจีทูจี แต่สวมรอยนำบริษัทที่อ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีนมาทำสัญญาซื้อขาย และผลสุดท้ายก็ไม่มีการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศจริง มีการส่งออกข้าวไปประเทศจีนเพียงแค่ 3 แสนกว่าตัน ถือเป็นการอุปโลกน์การซื้อขายข้าวแบบจีทูจีขึ้นมา โดยใช้เล่ห์ทางการเมือง มีจุดมุ่งหมายในการซื้อข้าวราคาต่ำกว่าท้องตลาด แล้วนำไปขายต่อในประเทศ โดยบริษัทที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล ถือเป็นการทุจริตการซื้อขายข้าว โดยร่วมมือกันระหว่างฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ
จากนั้น กมธ.ซักถามได้อ่านคำถามที่จะถามฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 17 ข้อ ให้ที่ประชุม สนช.ฟัง โดยไม่มีผู้ถูกกล่าวหามาร่วมตอบคำถาม โดยคำถามที่ถามนายบุญทรงและนายภูมิส่วนใหญ่เป็นคำถามในลักษณะเดียวกัน คือ การมีเอกสารหลักฐานใดยืนยันว่าบริษัท ไห่หนาน และบริษัท กวางตุ้ง ที่เป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายกับข้าวรัฐบาล เป็นตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีน การมีเอกสารยืนยันว่าข้าวที่ทำสัญญาซื้อขายมีการส่งออกไปยังประเทศจีนจริงหรือไม่ จำนวนเท่าใด เหตุใดจึงเปิดกว้างวิธีชำระเงินค่าข้าวในครั้งนี้ถึง 3 วิธี ต่างจากการชำระเงินแบบจีทูจีโดยทั่วไปที่จะใช้วิธี LC เพียงวิธีเดียว และทราบหรือไม่ว่า ข้าวที่ทำสัญญาแบบจีทูจี ราคามิตรภาพ ถูกกว่าท้องตลาด ไม่ถูกส่งออกไปยังประเทศจีน แต่ถูกบริษัทที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลนำไปขายต่อไปในประเทศ ตลอดจนผู้กล่าวหาทั้งสองคนจะให้การอย่างไร จะรับสารภาพ ภาคเสธ หรือปฏิเสธข้อกล่าวหา
ส่วนคำถามที่ถามนายมนัส จำนวน 2 คำถาม คือ เรื่องการมีหลักฐานยืนยันหรือไม่ว่า บริษัท ไห่หนาน และบริษัท กวางตุ้ง เป็นตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีน และยืนยันได้หรือไม่ว่ามีการส่งออกข้าวจากไทยไปจีนจริง เหตุใดจึงใช้วิธีขายสินค้าแบบหน้าคลัง ไม่ใช้วิธีขายแบบเอฟโอบี หรือซีไอเอฟ ที่เป็นวิธีปกติในการซื้อขายทั่วไป
จากนั้นนายสุรชัยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า นายบุญทรง และนายภูมิ ได้ยื่นคำขอแถลงปิดสำนวนคดีด้วยวาจา ขณะที่นายมนัสได้แจ้งความประสงค์ขอแถลงปิดสำนวนคดีเป็นหนังสือ และที่ประชุมได้กำหนดวันแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 7 พ.ค. เวลา 10.00 น.
ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณารายงานการประชุมลับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2558 ใน วันศุกร์ที่ 16 ม.ค. 2558 เพื่อดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบกับมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมลงมติไม่เปิดเผยรายงานลับดังกล่าว
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้กำชับสมาชิก สนช. และกรรมาธิการที่พิจารณาร่างกฎหมาย ให้พิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ โดยระบุว่า สนช.ไม่สามารถลองผิดลองถูกได้ ไม่ใช่วุฒิสภา เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วส่งสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง แต่สภาฯ นี้มีขั้นตอนเดียว คือทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น หากการพิจารณากฎหมายมีปัญหาเกิดข้อขัดแย้งขอให้ กมธ.แก้ไขในชั้น กมธ. หากเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ตนได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะประนีประนอมรับฟังความเห็นของ สนช. หากไม่มีการรับฟังกันจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และเป็นปัญหา จึงขอย้ำว่าพิจารณากฎหมายให้เสร็จสมบูรณ์ในชั้น กมธ.
จากนั้น นายพรเพชรได้สั่งปิดประชุมในเวลา 11.25 น. โดยระบุว่าเนื่องจากมีสมาชิก สนช.40 กว่าคนจะเข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริสยาภรณ์ในช่วงบ่ายวันที่ 30 เม.ย. และในวันที่ 1 พ.ค.จะมีการประชุม สนช.เพื่อพิจารณากฎหมายสำคัญหลายฉบับ ขอให้สมาชิกเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง