xs
xsm
sm
md
lg

ใบสั่งปฏิรูปจากต่างชาติ ศักดิ์สิทธิ์กว่ารัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประเทศไทยของเราโดน “ ใบเหลือง” คือ คำเตือนจากประเทศคู่ค้า และองค์กรกำกับดูแลระหว่างประเทศ ให้ปรับปรุงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลถึงสองใบ ในเวลาไล่เรี่ยกัน

ใบแรก เป็นใบเหลืองขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ที่สั่งให้กรมการบินพลเรือนของไทย ตรวจสอบความปลอดภัยของสายการบินระหว่างประเทศ 28 สาย และในประเทศ 14 สาย ใหม่ เพราะเห็นว่าการตรสวจสอบของกรมการบินพลเรือนที่ผ่านมา ไม่ได้มาตรฐาน บุคลากรไม่มีคุณภาพ

สายการบินเหล่านี้ มีทั้งสายการบินหลักที่บินประจำ เช่น การบินไทย แอร์เอเชีย ฯ และสายการบินแบบเหมาลำ ที่มีตารางบินไม่แน่นอน ซึ่งล้วนเป็นสายการบินที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการบินพลเรือน

ICAO ขอให้กรมการบินพลเรือนปรับปรุงระบบการทำงาน ตลอดจนประสิทธิภาพของบุคลากรมานานแล้ว แต่กรมการบินพลเรือนไม่ทำอะไร ตั้งหน้าตั้งตา “ แจก” ใบอนุญาตการบินเป็นหลัก

ครั้งนี้ ICAO ขีดเส้นตายให้ตรวจสอบสายการบิน และปรับปรุงการทำงานให้เสร็จภายในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ หากไม่ทัน อุตสาหกรรมการบินไทยอาจถูกแบน ห้ามบิน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างงรุนแรง

ใบเหลือง จากICAO นี้ ทำให้รัฐบาลต้องลงมือ ปฏิรูป ยกเครื่องกรมการบินพลเรือนครั้งใหญ่ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร มีแต่บอกว่า อาจต้องใช้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดผลอย่างรวดร็ว

อีกหนึ่งใบเหลือง ที่ไทยเพิ่งได้รับมาสดๆ ร้อนๆ คือ ประกาศของสหภาพยุโรป หรือ อียู เกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายของไทย โดยให้เวลาไทย 6 เดือนแก้ปัญหา และต้องทำแผนปฏิบัติการประมงระดับชาติเสนอต่ออียูด้วย

หากไม่ทำ หรือไม่แก้ปัญหา อียูจะให้ใบแดง ห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากไทย ซึ่งมีมูลค่าปีละ 10,000 กว่าล้านบาท

อียู เริ่มจัดการปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ การลักลอบจับปลาโดยไมได้รับอนุญาต ฯลฯ มาตั้งแต่ปี 2010 แล้ว โดยกดดันให้ประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังอียู แก้ไขให้ถูกต้อง

เรื่องนี้ประเทศไทยก็รู้ดี เหมือนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบิน หรือเรื่องการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ไทยถูกสหรัฐฯ ลดอันดับก่อนหน้านี้ แต่หน่วยงานที่รับผิชอบโดยตรงไมได้ทำอะไรให้ดีขึ้นเลย

ครั้งนี้ ใบเหลืองจาก ICAO และ อียู คงจะทำให้ เกิดการปฏิรูปที่เป็นจริงของกรมการบินพลเรือน และอุตสาหกรรมประมงของไทย เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ที่รัฐบาลไม่อาจต่อรอง หรือ ซื้อเวลาผัดผ่อนต่อไปได้อีกแล้ว

การเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิรูปหลายอย่างในอดีต เกิดขึ้นจากแรงกกดันจากต่างประเทศ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การปฏิรูประบบการเงินการธนาคาร หลังวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง ในปี 2540

วิธีการปฏิรูปด้วยการเขียนกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีตัวอย่างที่พิสูจน์แล้วว่า ล้มเหลว เช่น การปฏิรูปการเมือง โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2540 การปฏิรูปสื่อและโทรคมนาคม ตามมาตรา 40 รัฐธรรมนูญ 2540

การปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการออกกฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพแหง่ชาติ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดที่สุด แต่ก็ยังมีข้อถกเถียง ข้อขัดแย้งที่รอการพิสูจน์ว่า เป็นการปฏิรูปจริง หรือเป็นเพียงการโยกย้ายอำนาจในการบริหารจัดการงบประม่าณด้านสาธารณสุข

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งร่างเสร็จแล้ว และนำเสนอที่ประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอภิปรายให้ความเห็น มีบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปประเทศไทยทุกๆ ด้าน ตั้งแต่กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน การเงิน การคลัง การศึกษา สื่อสารมวลชน วัฒนธรรม ฯลฯ ตามพิมพ์เขียวที่ คสช.กำหนด

ปัญหาอยู่ที่การทำให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ ทำอย่างไร การปฏิรุปจึงจะเกืดขึ้นจริง เหมือนการปฏิรูปกรมการบินพลเรือน และ การปฏิรูปการประมงของไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามใบส่งขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และ อียู




กำลังโหลดความคิดเห็น