xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” มอง 5 จุดเสี่ยง รธน.หวั่นถูกรื้อจนเละ แนะฟังสังคม-ประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต(แฟ้มภาพ)
“ยะใส” ประเมินอภิปราย สปช. พบ 5 จุดเสี่ยง ร่าง รธน. ปมกระจายอำนาจ ปฏิรูป ตร. การเมืองภาคพลเมือง รูปแบบเลือกตั้ง เห็นต่างอนุรักษนิยม - เสรีนิยม หวั่นถูกรื้อจนเละ แนะฟังความเห็นสังคมให้มาก และควรทำประชามติในขั้นตอนสุดท้าย

วันนี้ (26 เม.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) เผยว่า ได้ติดตามฟังการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้ว มีหลักคิดใหญ่ๆ ที่ปะทะกันในที่ประชุมอยู่ 5 ประเด็น ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกันมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องเร่งพูดคุยเพื่อหาข้อยุติ ไม่เช่นนั้นประเด็นปัญหาเหล่านึ้อาจถูกขยายผลจากผู้ไม่หวังดีจนกลายเป็นจุดเสี่ยงและร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกรื้อเละเทะหรือถูกคว่ำในที่สุด โดย 5 ประเด็นใหญ่ที่ยังไม่ลงตัวกันคือ

1. ประเด็นกระจายอำนาจ มี 2 ขั้วความคิดชัดเจนส่วนหนึ่งมองว่าระบบราชการเดิมดีอยู่แล้ว แค่ปรับปรุงบางส่วน ในขณะที่ร่างของ กมธ. ยกร่างฯและ สปช. ส่วนหนึ่งต้องการลดอำนาจผูกขาดโดยส่วนกลางและเพิ่มอำนาจชุมชนท้องถิ่นให้เข้มข้นขึ้น

2. การปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะการแยกอำนาจสอบสวนเป็นอิสระจากอำนาจสืบสวนและจับกุมนั้นมีแรงต้านมากทีเดียวใน สปช. บางคนมองปัญหาตำรวจแค่การเมืองครอบงำ แต่ยังไม่ได้มองถึงการบริหารจัดการอำนาจใน สตช.ที่ต้องใส่หลักธรรมาภิบาลอย่างเข้มข้นเข้าไปด้วย

3. การเมืองภาคพลเมือง สปช. สายข้าราชการประจำ ยังไม่เชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจการเพิ่มพื้นที่และระดับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือการใช้อำนาจรัฐ บางส่วนยังมองว่าความแข็งแกร่งของรัฐราชการคือคำตอบ ฉะนั้น เสถียรภาพและความเข้มแข็งทางการเมืองจึงมักให้ความสำคัญไปที่องค์กรทางการเมือง แต่ยังไม่ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพและความเข้มแข็งของการเมืองภาคพลเมือง

4. รูปแบบการเลือกตั้งและการเข้าสู่อำนาจ พบว่า สปช. จำนวนมาก ยังติดกับดักเลือกตั้ง ซึ่งลดรูปประชาธิปไตยมีความหมายแค่เลือกตั้ง ยังไม่เข้าใจตัวแทนสาขาอาชีพ และระบบการสรรหา หรือการเลือกตั้งโดยอัอม

5. การปะทะกันระหว่างสายความคิดอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยมใน สปช. ซึ่งก็สะท้อนความขัดแย้งหลักในสังคมไทยโดยตัวมันเอง ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมทั่วไป ที่ต้องหาตรงกลางโดยเฉพาะหาจุดลงตัวที่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ซึ่งทุกฝ่ายก็ต้องทบทวนและปฏิรูปตัวเองเพื่อสร้างสังคมการเมืองแบบพหุนิยมให้ได้

นายสุริยะใส ระบุว่า ปมประเด็นปัญหาเหล่านี้สะท้อนวิธีคิดที่ไม่เป็นเอกภาพและอาจไม่มีทางเป็นเอกภาพใน สปช.ได้ ชึ่งมีความเป็นไปได้ที่ คสช. ครม. และ สนช.จะนำร่างรัฐธรรมนูญไปยำใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าหน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น ขอเสนอให้ คสช. ถ้าจะปรับแต่งร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องฟังและถามประชาชนให้มาก และที่สำคัญต้องทำประชามติในขั้นตอนสุดท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น