xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ชวนคนรวยสละสิทธิ์รักษาฟรี จ่อออก กม.ช่วยผู้มีรายได้น้อยใช้ทรัพย์สินค้ำเงินกู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” แจงล้างบางกระทรวงศึกษาฯ หวังปฏิรูปก่อนเข้า AEC เผยกำลังร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยใช้ทรัพย์สินมีค่าค้ำประกันเงินกู้ได้ จะได้แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ชวนคนรวยสละสิทธิ์รักษาฟรี เพื่อโยกงบไปให้คนรายได้ต่ำจริงๆ บอกอย่าห่วงใบเหลือง IUU แต่ไม่รับปาก 6 เดือนแก้เสร็จ แย้มโรดแมประยะที่ 3 อีกยาวนาน เหตุปัญหาทับซ้อนเพียบ ต้องแก้ทั้งระบบอีกที

วันนี้ (24 เม.ย.) เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสีขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยได้แสดงความเป็นห่วงประชาชน เนื่องจากในระยะนี้ได้เกิดพายุฤดูร้อนและลมกระโชกแรงในหลายจุดทั่วประเทศ อาจสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน เสาไฟ หรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ได้ จึงขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังตรวจสอบและช่วยกันเฝ้าระวัง

พล.อ.ประยุทธ์ได้เน้นย้ำถึงการวางรากฐานของการพัฒนาประเทศว่า 6 เดือนที่ผ่านมานั้น เราได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล หรือที่เรียกว่าทรัพยากรมนุษย์ เป็นอันดับต้นๆ โดยยึดหลัก “มีความรู้ มีอาชีพ มีสุขภาพดี” ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการในหลายด้าน สำหรับเรื่องการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีปัญหามาก ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารงานไป เพื่อให้มีการปฏิรูปโดยเร็ว ซึ่งในระยะที่ 1 จะต้องทำให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ก่อนเข้าสู่ AEC โดยมีคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (Super Board) มาช่วยขับเคลื่อน ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็ต้องผลิตบัณฑิตขึ้นมา ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ ให้มีแรงงานประเภทมีฝีมือ มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

“การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์หรือบุคลากรในกระทรวงศึกษาฯ ต้องรู้ดีกว่าผมอยู่แล้ว แต่ผมจะขับเคลื่อนให้ การทำงานก็มีคนทำอยู่แล้ว แต่มันต้องเร่งรัด ต้องบูรณาการ มันต้องต่อยอดให้ได้ ไม่เช่นนั้นไม่ทันต่อ AEC” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯ เปิดเผยด้วยว่า ในเรื่องของประชาชนผู้มีรายได้น้อยนั้นวันนี้กำลังจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ที่มีภาระหนี้มากแล้วไม่สามารถกู้ได้ โดยใช้สินค้าที่มีอยู่เป็นหลักประกันกู้ยืมเงินในลักษณะเงินด่วน แต่ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดหนี้สูญ เช่นเดียวกับนโยบายนาโนไฟแนนซ์ที่ให้วงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการเงินระยะนี้ไปก่อน ป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งดอกเบี้ยสูงกว่านี้มาก

สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกเหนือจากโครงการตลาดนัดชุมชน ที่ทางกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งขึ้นแล้วมากกว่า 2 พันแห่ง เพื่อเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP มีผู้ร่วมจำหน่ายสินค้าแล้วกว่า 8.3 หมื่นรายแล้วมอบเอกสารขอใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ยังไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ระยะที่ 1 เนื้อที่ 53,697 ไร่ ใน 4 จังหวัด และระยะที่ 2 เนื้อที่ 51,929 ไร่ ใน 8 จังหวัด และก็ระยะที่ 3 ในปี 2559 อีก 50,018 ไร่ ในอีก 17 จังหวัดที่เหลือรวมมีพื้นที่เป้าหมายในการจัดสรรทั้งหมดประมาณ 1.6 แสนไร่

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ในประเด็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และให้ความเป็นธรรมนั้น ตนเห็นว่าประเทศเรามีคนมีฐานะพอสมควร หรือผู้มีรายได้ปานกลางไม่ลำบากมาก จึงได้ให้แนวทางกระทรวงการคลังเพื่อไปพิจารณาสิทธิรักษาพยาบาล ทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือผู้ที่มีสิทธิรักษาโดยไม่เสียค่ารักษาว่า ผู้ใดจะเสียสละไม่ใช้สิทธิดังกล่าวเพื่อตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกไปให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำจริงๆ โดยจะให้มีการขึ้นบัญชี ซึ่งตนเองก็จะสละสิทธินี้ด้วย

“ถ้าท่านเสียสละแบบนี้ ผมว่าเป็นกุศล ผมเองก็พร้อมจะสละ ไปไหนก็หาหมอเองได้อยู่แล้ว แต่คนจนเขาไม่มีโอกาสเลย” นายกฯ ระบุ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้ำด้วยว่า สำหรับการจัดระเบียบสังคมและพื้นที่สาธารณะ ยังทำต่อไป อย่ากลับมาเป็นแบบเดิม

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับการป้องกันและแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชันมีการดำเนินการมาตลอด แต่ไม่อยากให้มันโครมครามมากนัก ก็ขอให้เป็นเรื่องปกติ เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นวาระแห่งชาติ เพราะฉะนั้นที่เราทำอยู่วันนี้ก็พยายามทำให้เร็ว ทำให้เกิดการรับรู้รับทราบ แล้วก็ขจัดสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ โดยนำระบบต่างๆ เข้ามาตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ของภาครัฐ

ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) มีมติภาคทัณฑ์การทำประมงของประเทศไทย หรือ IUU นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินกาแก้ไขมาตลอด มีคณะทำงาน เป็นวาระแห่งชาติ การใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้นก็คือว่าใช้เพื่อจะบูรณาการการทำงานเท่านั้น นำไปสู่การปฏิบัติได้เลย แต่ไม่ใช่เอามาตรา 44 ไปแก้ทุกเรื่อง ไปแก้ไขมะนาวแพง ไปแก้เศรษฐกิจ มันแก้ได้ที่ไหน

“เรื่องใบเหลืองอย่าไปวิตก เราต้องยอมรับ โทษใครไม่ได้ เราต้องแก้ไขให้ได้ รัฐบาลนี้เข้ามาก็แก้เต็มที่นะ ตั้งหลายคณะไปทำ แต่ยังไม่เพียงพอ ผมก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเสร็จภายใน 6 เดือนหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับทุกคน”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การสร้างความปรองดองก็เหมือนกัน มาตรา 44 ใช้ไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องของความยินยอมของแต่ละคน ว่าหัวใจคนไทยแต่ละคน แต่ละพวกที่ขัดแย้งจะยอมรับในการปรองดอง คือพูดจากัน เลิกทะเลาะกัน ไม่ใช้กำลังต่อกัน นั่นแหละปรองดอง แต่ถ้ามีความผิดอยู่แล้ว จะให้เอามาตรา 44 ไปแก้ให้ปรองดอง ให้เลิกกัน ให้ยกโทษความผิด ตนทำให้ไม่ได้ เรียกว่าถ้าใช้แบบนั้นเป็นการใช้มาตรา 44 ในทางที่ผิด ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ ตนก็ฟังอยู่ทุกวันมีโอกาสก็ฟัง ก็แถลงกันทุกคนก็ตั้งใจ ไปคิดกันแล้วกันว่ารัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร จะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปอย่างไร ตนอยากให้ฟังคนอื่นบ้าง เพราะส่วนใหญ่คิดกันเอง เถียงกันเอง ทะเลาะกันเองมาตลอด ไปฟังต่างประเทศเขาว่าอย่างไร ประชาธิปไตยไทย ถ้าเราทำดี โลกเข้าใจเรา วันหน้าจะได้ไม่ถูกประณามไง ในโลกใบใหญ่ ตนก็ต้องระมัดระวัง ไม่อยากให้คนประณาม ตนไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะทำความผิดแล้วก็หลีกเลี่ยงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่คนแบบนั้นนะ

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนคงเข้าใจในเจตนาอันแน่วแน่ของรัฐบาลเราในการแก้ปัญหาทุกอย่าง ในขณะที่เราเป็น คสช. และเป็นรัฐบาล ถือว่าเป็นระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ซึ่งระยะที่ 3 นั้นอีกยาวนานมาก เกิดปัญหาทับซ้อนอยู่ต้องไปแก้ทั้งระบบอีกที” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในที่สุด

หลังจากนั้น นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคมจิตวิทยา ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงด้านสังคมจิตวิยาด้วย

คำต่อคำ : คืนความสุขให้คนในชาติ 24 เมษายน 2558

“สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน ในห้วงฤดูนี้อาจจะมีพายุฤดูร้อน ลมกระโชก อาจจะสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน เสาไฟ ป้ายโฆษณาที่ไม่มั่นคง ขอให้พี่น้องประชาชนช่วยกันระมัดระวัง ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และระมัดระวังเด็กเล็กที่อยู่ใต้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาจจะพังทลายลงมาได้

ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดูแลตรวจสอบเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าวแล้ว จะต้องมีผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณาหรืออะไรก็แล้วแต่ ใครเป็นเจ้าของไปตรวจดูเสียด้วย

รวมทั้งในเรื่องโรคที่มากับอากาศร้อน เช่น โรคท้องร่วง ลมแดด โรคกลัวน้ำ หรือพิษสุนัขบ้า ได้ให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขลงพื้นที่ให้ความรู้ รณรงค์ป้องกันภัยแต่เนิ่น เรื่องสุนัขก็เหมือนกัน ต้องระวัง ทุกคน วันนี้นิยมเลี้ยงสุนัขกันมากขึ้น ไปฉีดยา ไปอะไรให้เรียบร้อย ระมัดระวังด้วย สังเกตอาการของสุนัขด้วย

สำหรับการลงไปเล่นน้ำคลายร้อนตามแม่น้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆ ของเด็กๆ หรือทะเลก็ตาม ขอให้อยู่ในสายตาของผู้ปกครอง มีผู้ใหญ่คอยดูแล คอยแนะนำ และถ้าเขาแนะนำว่าไม่ปลอดภัยก็อย่าลงไป การแนะนำของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในห้วงที่ผ่านมาก็มีจมน้ำเสียชีวิตในทะเลด้วย นอกจากระมัดระวังตนเองแล้ว ก็ต้องดูแลผู้อื่นด้วย ต้องห่วงใยกัน ช่วยเหลือกัน ในยามนี้

ในเรื่องการดูแลประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงนั้น ต้องขอบคุณ กสทช.และมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่ร่วมกันดำเนินการโครงการศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) ในการพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารสำหรับผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและการพูด กว่า 1 แสนคนทั่วประเทศของเรา ให้สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น วิดีโอการสนทนาผ่านล่ามภาษามือ การรับส่งข้อความ ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการบริการ ด้านการศึกษา ด้านการแพทย์ และการบริการภาครัฐต่างๆ นี่ก็คือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อจะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันศูนย์ฯ ดังกล่าวมีการติดตั้งตู้แล้ว จำนวน 120 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ในทวีปเอเชีย รองจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ได้มีการริเริ่มโครงการสร้างสรรค์สังคม ส่งเสริมความเท่าเทียม จัดให้มีการบริการดังกล่าวที่เต็มรูปแบบ จนได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีการประกันที่ทันสมัย มีความก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เรามุ่งเน้นการรับใช้สังคม เพื่อสร้างความเท่าเทียม อันนี้เป็น 1 ใน 11 นโยบายหลักของรัฐบาล ให้ไปใช้บริการดูนะครับ หากมีปัญหาใดที่ต้องการให้เพิ่มเติมเสนอกันมา ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูด้วย ประเมินผลด้วย

ในเรื่องของการทั้งคนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ในการที่จะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ 6 เดือนที่ผ่านมานั้น เราได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ที่เรียกว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นอันดับต้นๆ และได้พูดมาหลายครั้งแล้วว่า ท่านจะต้องมีความรู้ มีอาชีพ และมีสุขภาพที่ดีไปด้วย เราได้ดำเนินการหลายอย่าง การศึกษาวันนี้มีปัญหามากมาย ได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารงานไปแล้ว และดูแลทุกอย่างให้เต็มไปด้วยความเรียบร้อยมีการปฏิรูปหรือในระยะที่ 1 ให้ได้โดยเร็ว เพราะว่าระยะที่ 1 ควรต้องทำให้เสร็จภายในก่อนสิ้นปีนี้ เหลือไม่กี่เดือนแล้ว เพราะปีหน้ามันเข้าสู่เออีซีแล้ว เพราะฉะนั้น ทุนการศึกษามีส่วนสำคัญตรงนี้ การเตรียมแรงงานต่างๆ ที่มีฝีมือ มีความรู้ความสามารถเข้าไปนะครับ ในระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน เราตั้งคณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการศึกษา เพื่อช่วยขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา จริงๆ แล้วคือ กระทรวงก็มีของกระทรวงอยู่แล้ว แต่วันนี้ผมเห็นตรงนี้ ผมก็เอาผู้มีความรู้ในเชิงบริหารบ้าง การศึกษาบ้างไปพูดคุยกัน และแนะนำไป ไม่ใช่ว่าผมจะไปสั่งได้ด้วยตัวเองทั้งหมด มันไม่ได้หรอกครับ การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์มีส่วนในการศึกษาต้องรู้ดีกว่าผมอยู่แล้ว แต่ผมจะขับเคลื่อนให้ เราต้องรีบยกระดับการศึกษาให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สำหรับการศึกษาผ่านระบบศึกษาทางไกลดาวเทียม วันนี้ มหาวิทยาลัยแต่ละภาคของประเทศจะต้องผลิตบัณฑิต เพื่อส่งเสริมภูมิภาคของตนด้วยนะครับ สำหรับครูตู้เราใช้กับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล โรงเรียนชายขอบ ขาดแคลนครู และก็ต้องการความทันสมัยมากขึ้น เพราะมันยากที่เราจะทำทุกโรงเรียนพร้อมๆ กัน ไม่ได้ ต้องใช้ครูตู้แทนไป ส่วนมหาวิทยาลัยต้องผลิตบัณฑิตขึ้นมา ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ เป็นแรงงานประเภทมีฝีมือ มีอาชีพ มีรายได้มั่นคง ไม่ใช่แรงงานที่ใช้แรงงานอย่างเดียว

วันนี้ก็ได้มีการสั่งการและดำเนินการอย่างต่อเนื่องแล้ว นักเรียนอาชีวศึกษามีการฝึกงานระบบทวิภาคีกับโรงงานต่างๆ จบมาแล้วทำงานได้เลย หรือเป็นที่ต้องการของโรงงานที่ไปฝึกงานอยู่แล้ว วันนี้เราต้องแก้ปัญหาง่ายๆให้ได้เสียก่อน การเข้าถึง ความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ความทันสมัยและทันต่อความต้องการของตลาด ต้องเร่งระยะที่ 1 ให้ได้ แต่เรื่องอื่นๆ ต้องไปแก้อีกทีในระยะยาว

สำหรับการส่งเสริมอาชีพรายได้มีการงานทำนั้น วันนี้ทางกระทรวงศึกษา กระทรวงแรงงาน ก็ได้มีการประสานงานร่วมกันหลายส่วน หลายหน่วยงานมากกว่านี้อีก ก็ได้มีการจัดหางานให้แก่ผู้ที่ต้องการมีงานทำไปแล้วจำนวน 416,415 คน คิดเป็น 59.8% จากเป้าหมายที่เราตั้งไว้ 696,000 คน นี่เป็นตัวเลขที่เราต้องตั้งไว้ ถ้าไม่ตั้งตัวเลข ไม่ตั้งเวลามันก็ไม่เสร็จเสียที แล้วได้บรรจุเข้ารับงานประจำแล้ว 224,581 คน และได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยอีก (Smart Job Center) จำนวน 7 ศูนย์ ที่แรงงานจังหวัดสงขลา หาดใหญ่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และนครราชสีมา และจะขยายต่อไปอีก 3 จังหวัด ระยอง นครปฐม และเชียงใหม่

ทั้งนี้ ในเรื่องของการคุ้มครองคนหางานทำในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 507,353 คน ที่คิดเป็น 50.84 เปอร์เซ็นต์ จากเป้าหมาย 997,800 คน ตัวเลขยังห่างอยู่ครึ่งต่อครึ่ง ก็จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ควบคุม ผู้ได้รับอนุญาตจัดหางานทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 400 ราย มีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การจัดตั้งกองทุนเปิดซึ่งลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน วงเงิน 10,000-25,000 ล้านบาท เพื่อจะช่วยเหลือด้านการเงินแก่เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ เร่งรัดศูนย์พัฒนาคุณภาพ ยกระดับฝีมือแรงงาน ทุกอันมีผลแล้ว หลายๆ ศูนย์มีอยู่แล้ว การทำงานก็มีคนทำอยู่แล้ว แต่มันต้องเร่งรัด มันต้องบูรณาการ มันต้องต่อยอดให้ได้ ไม่งั้นมันไม่ทันต่อเออีซี คนที่ว่างงาน คนจบปริญญา คนที่จบทางนู้นทางนี้มา ที่ตลาดต้องการ รู้สึกจะ 7 อาชีพ ถ้ายังไม่มีใครทำ มาต่อยอดซะ เพราะฉะนั้นก็อาจจะเป็นการจัดตั้งหลักสูตรสั้นๆ โรงงานทำก็ได้ เอกชนทำก็ได้ รัฐทำก็ได้ กระทรวงแรงงานทำก็ได้ ถ้าช่วยกัน มันจะได้เร็วขึ้น เราได้ขึ้นบัญชีคนเหล่านี้ไว้ เดี๋ยวปีหน้าเออีซีมันต้องการมากขึ้น จะได้มีคนพร้อมป้อนได้ทันที เวลานี้หลายๆ บริษัทที่มาตั้ง ที่มาลงทุนกับเรา เขาก็ติดปัญหาเรื่องแรงงานฝีมือ และแรงงานที่ใช้แรงด้วย อันนั้นก็คงต้องใช้แรงงานต่างด้าวบ้าง แต่ต้องขึ้นทะเบียนเท่านั้นเอง ต้องทำให้เร็ว รุ่นแรกใช้การต่อยอด รุ่นต่อไปก็ทำใหม่ให้มันยั่งยืน ตรงความต้องการ

ในเรื่องของประชาชนที่มีรายได้น้อย วันนี้กำลังจัดทำร่าง พ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจ ให้ประชาชนสามารถนำสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามาใช้เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ได้ เพราะปัญหาเดิมก็คือ มันต้องมีหลักประกัน ถ้าใครมีหนี้มาก ก็กู้ไม่ได้ ผมก็อยากจะช่วยตรงนี้นะ ก็ต้องช่วยกัน อย่าให้มันหนี้สูญก็แล้วกัน ผมก็บอกว่า ถ้าหนี้เก่ามีอยู่แล้ว แต่มีสินค้าอยู่ แล้วมันยังขายไม่ออก ขายไม่ได้ ก็ประเมินมา แล้วก็เป็นหลักประกันกู้ยืมเงินไป เป็นเงินด่วนในเรื่องของนาโนไฟแนนซ์นี่ด้วยนะครับ ประกอบกันวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี อย่างน้อยก็ให้แก้ปัญหาทางการเงินระยะนี้ไปก่อน ป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งสูงกว่านี้มากนัก ปัจจุบันได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 4 ราย มีคนยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการคือ บริษัท 20 ราย เพราะฉะนั้นคาดว่า เริ่มให้สินเชื่อภายในเดือนพฤษภาคม 58 นี้ ให้ติดตามติดต่อมา สงสัยก็ถามมา อย่าไปบอกว่า ไม่รู้จะไปที่ไหนอีก ผมพูดหลายครั้งแล้วด้วย

โครงการตลาดนัดชุมชน วันนี้ไทยช่วยไทย คนไทยยิ้มได้หลายอย่างนะครับ ช่วยเหลือเกษตรกรโอท็อป ผมอยากให้เป็นเรื่องของเกษตรกรจริง อย่าเอานายทุนเข้าไป ในบางครั้งเราเริ่มต้นเล็กๆ ทุกที เริ่มเล็กๆ แล้วก็ดูดี ชาวบ้านมาอะไรมา ต่อไปอยากจะช่วยกันไง ก็ไประดมกันมา คนโน้นคนนี้มาช่วย ขยายมันจนใหญ่โต ท้ายสุดก็เป็นเรื่องของนายทุนเข้าไปอีก ผมไม่อยากให้เกิดเหล่านี้ ทุกอย่างเราต้องช่วยคนมีรายได้น้อย ให้เขาเป็นตลาดของเขา เขาซื้อเขาใช้ เขาผลิต มันจะได้ประเมินได้ถูกว่า เราต้องผลิตสินค้าไปนอกประเทศเท่าไร ขายชายแดนเท่าไร ขายในประเทศเท่าไร ก็แยกระดับกันไป ให้ตามความสามารถของการมีรายได้ของแต่ละกลุ่มคน ได้มากก็ใช้มาก ได้น้อยก็ใช้น้อย ได้มากอยากจะห้องแอร์เข้าไปซื้อในห้างสรรพสินค้า อาหารอย่างเดียวกันถูกกว่า แต่มันร้อนหน่อย ก็ไปซื้อข้างนอกที่ตลาดชุมชนที่ว่า มันน่าจะเป็นอย่างนั้น ถ้าจะบอกให้ทุกคนขายเท่ากันคงลำบาก มันเป็นธุรกิจ

ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร และโอทอปเหล่านั้น เช่นเดียวกัน วันนี้เราร่วมกับกระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งแล้ว 2,102 แห่ง มีผู้ร่วมจำหน่ายสินค้า 83,224 ราย ขอให้อย่างที่ว่า อย่าให้เป็นเรื่องของนายทุนอีกเลย ให้เป็นเรื่องของเกษตรกร สหกรณ์ ไรก็ว่าไป ในเรื่องที่ดินได้มอบเอกสารของใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่เกตรกรที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ระยะที่ 1 นั้น คือ เนื้อที่ 53,691 ไร่ 4 จังหวัด ระยะที่ 2 เนื้อที่ 57,514 ไร่ 8 จังหวัด และระยะที่ 3 ในปี 59 อีก 50,018 ไร่ อีก 17 จังหวัดที่เหลือ จะรวมมีพื้นที่เป้าหมายในการจัดสรรทั้งหมด ประมาณ 160,000 ไร่ อันนี้ ให้ทำกิน ไม่ให้ไปขายอีกอะไรอีก ด้านบริหารสาธารณสุข สวัสดิการสังคม การดูแลป่วยเจ็บ เกิดเด็ก คนชรา ไรแล้วแต่ สังคมน่ามี เป็นสังคมของคนสูงอายุมากขึ้น และวันนี้เราต้องดูแลเรื่องสิทธิรักษาพยาบาล เงินทุนต่างๆ บางอันก็ดีมีประกันสังคมเพิ่มเติม วันนี้ถ้าทั่วไป คนที่ไม่มีกองทุนประกันสังคมช่วย อันนี้้ต้องใช้งบประมาณรัฐทั้งสิ้น ซึ่งเฉลี่ยแล้วได้น้อย อันนี้ ถ้าเราต้องให้การดูแล เช่น การอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ถึง 1 ปี ในครอบครัวยากจน อันนี้ประมาณ 170,000 คน จำนวน 400 บาทต่อคน ต่อเดือน หรือ 4,800 บาทต่อคนต่อปี การเพิ่มอัตราเบี้ยคนพิการจากเดิม 500-800 และโครงการที่หมอ ครอบครัว เพื่อจะเข้าถึงการบริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ และผู้พิการอีก 35,177 คน

นอกจากนั้น เรามีโครงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวอีก จะมีการมอบสมุดบันทึกประจำตัวผู้สูงอายุ จำนวน 200,000 เล่ม เพื่อเป็นเครื่องมือ เป็นองค์กรความรู้ในการเฝ้าระวังสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ช่วยกันดูแลด้วยนะครับ ลูกหลานดูแลพ่อแม่ ลุง ป้า น้า อา ด้วย มีอายุมากแล้ว หน้าที่ของท่านที่ต้องดูแล ผู้หลักผู้ใหญ่ของท่านเอง เลี้ยงดูท่านมาตั้งแต่ยังเล็กๆ จนโตมีงานมีการทำแล้ว เราไม่ใช่สังคมแบบต่างประเทศ คนไทยอยู่ด้วยกันจนตายจากกัน

ฉะนั้นอีกเรื่อง คือ โครงการพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัด โครงการบ้านมั่นคง ชุมชนริมคลองอีก 248 ครัวเรือน เฝ้าหมายทั้งหมดตั้ง 3,700 ครัวเรือน ชุมชนเมืองอีก 5 พื้นที่ กรุงเทพฯ สุราษฎร์ฯ กระบี่ ขอนแก่น นครสวรรค์ อีก 1,185 ครัวเรือน เป้าหมาย 6,300 ครัวเรือน จะขยายผลสนับสนุนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ให้กับผู้ยากจน และด้อยโอกาสในชนบท ซึ่งมีเป้าหมายอีก 40 จังหวัด 200 ตำบล ก็ใช้วงเงินประมาณ 60 ล้านบาทในขั้นต้น

ปัญหาที่ผมกราบเรียนไปแล้วคือ ปัญหาของรายได้เรา รายได้ประเทศมันไม่มากนัก การค้า การลงทุน ก็มีปัญหาอีก ภาษีต่างๆก็มีปัญหา การปรับปรุงก็ยังไม่สมบูรณ์ ก็ต้องขอความร่วมมือกัน ช่วยกันสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุน ต้องพัฒนาตนเอง ปรับปรุงตัวเอง ถ้าให้รัฐช่วยอย่างเดียวก็ไปได้ไม่มากนัก รายได้ก็ไม่กลับเข้ามา ภาษีก็เก็บไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร แล้วเงินเหล่านี้จะหามาจากไหน ผมไม่อยากให้เป็นเรื่องของการสร้างปัญหา ดีกับประชาชน ดีกับรัฐบาล แต่สร้างปัญหาให้อนาคตไม่ได้ นี่ผมอยากจะให้ทุกคนช่วยกันคิด เราบอกว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความเป็นธรรม ผมว่าบ้านเราคนรวยเยอะนะ หรือกลางๆที่ไม่ลำบากมาก ลองดู ผมให้แนวทางกระทรวงการคลังจะทำได้ไหม เพราะทุกคนใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลหมด 30 บาท หรือ 0 บาท ทุกคนมีสิทธิ์หมด จะเสียสละไหม ไม่ใช้ได้ไหมเพื่อเอาเงินตรงนี้ ตัดยอดออกไปแล้วไปให้คนจนจริงๆที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ไม่ต้องเสียภาษี ที่ผมกำลังให้ขึ้นบัญชี ถ้าท่านเสียสละเหล่านี้ผมว่าเป็นกุศล ผมเองก็พร้อมจะสละ ไปไหนก็หาหมอเองได้อยู่แล้วแหละ พวกเรา แต่คนจนเขาไม่มีโอกาสเลย แต่สำคัญกว่านั้นก็คือ อย่าป่วยเจ็บดีกว่า เพราะฉะนั้น แต่ก็ไม่ใช่ระวังเกินเหตุ แค่ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีคุณภาพให้ครบถ้วน 5 หมู่อะไรก็แล้วแต่ มันก็แข็งแรงเอง ข้อสำคัญคือ ลูกหลานจะเป็นกำลังใจให้มีอายุยืน

เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องสร้างคนดีมีจิตสาธารณะ เพื่อร่วมกันในการพัฒนาสังคมให้มีความสุข เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง พูดไปแล้ว 12 ประการ หมู่บ้านศีล 5 เราก็มี จะต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน การจัดระเบียบสังคมยังทำต่อไปนะครับ แล้วอย่ากลับมาเป็นแบบเดิมก็แล้วกัน วันนี้ผมยังอยู่ คสช.ยังอยู่ก็โอเคอาจจะเป็นไปได้ และวันหน้าผมไม่รู้จะกลับมาอีกหรือเปล่า แต่เราก็ต้องดูแลเขาว่า เขาจะไปขายของที่ไหน จะทำอย่างไรให้เขามีที่อยู่ที่กิน มีอพาร์ทเมนท์ได้ไหม เขาต้องร่วมมือกับเรา เขาก็ต้องมาผ่อนชำระ เช่าซื้ออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ทางนี้ก็ขอฟรี อีกทางก็จะไล่ออกไปจากพื้้นที่ทำมาหากิน มันต้องทำทั้งสองทาง และต้องใช้เวลาทั้งหมด ใช้งบประมาณสูงมาก แต่ก็จะทำนะครับ ถ้าเรายังมีโอกาสทำให้อยู่

จัดระเบียบขนส่งสาธารณะ วินมอเตอร์ไซค์ก็ 9 หมื่นกว่าคัน รถตู้อีก 148 เส้นทาง สถานบริการ หาบเร่แผงลอย ชายหาดแหล่งท่องเที่ยว และขยะมีปัญหามาก วันนี้มีหลายที่ได้รับรายงานว่า เกิดไฟไหม้อีกแล้ว บ่อขยะขนาดใหญ่ แล้วจะทำอย่างไร และบางพื้นที่ก็ต่อต้านการสร้างโรงงานขยะแล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อมันต้องทำ แล้วจะปล่อยให้เป็นขยะอยู่แบบนั้นหรือไง ทำไมไม่เอามาใช้ประโยชน์ ทำไมไม่เอามาทำพลังงาน หลายคนบอกว่า เขาเรียกอะไร ไม่อยากให้ทำไปดัดแปลงทำให้พื้นที่ ทำไมเขาต้องเสียสละอะไรทำนองนี้ แล้วท่านคิดแบบนี้ประเทศชาติอยู่ไม่ได้ เดี๋ยวท่านลองไปดู ถ้าใครที่อยาก ใครจะคัดค้านเรื่องขยะ ไปดูที่อยุธยา ตอนนี้เขาทำไปได้เยอะแล้ว ทุกคนก็พอใจ ไปดูสิ เขาทำอย่างสวยงาม ใหญ่โต สะอาด ได้ประโยชน์ มีการฝังกลบ มีการนำมาใช้เป็นพลังงาน เดี๋ยวคอยดูเถอะ ถ้าตรงไหนไม่สร้าง วันหน้ามันก็จะเกิดปัญหาอีก เมื่อสองวันนี้ เมื่อวานมั้ง ผมก็ได้ยินข่าวว่ามันไหม้อีกแล้ว หลุมขยะขนาดใหญ่ ในกรุงเทพฯ นั่นล่ะคืออันตรายนะครับ ทิ้งไปเฉยๆ เกิดปัญหาด้วย

เรื่องการทยอยคืนผืนป่าเพื่อประชาชน เป็นพื้นที่ทั้งหมด ขณะนี้ 35.34 ล้านไร่ โดยเยียวยาให้กับผู้ได้รับกระทบ 2.71 ล้านราย ด้วยการจัดที่ดินทำกินให้ พวกที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เป็นป่าอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำ อะไรก็แล้วแต่ อันไหนที่เอาออกมาได้ก็ต้องเอาออกมา หาที่ทำกินให้เขา เว้นแต่ว่าต้องไม่มีที่ทำกินจริงๆ ไม่ใช่มีหลายที่ แล้วเราก็ไม่อยากให้ไปขายอีก ที่ผ่านมาพอให้ไปแล้วก็ไปขายต่อ ทำยังไง ก็ต้องไปว่ากันเรื่องกฎหมายว่าจะทำยังไงให้เขาเอาสินทรัพย์ที่มีอยู่ เอาผลผลิตที่มีอยู่ ค้ำประกันอะไรได้ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.เงินทุน ที่ออกไป กำลังดำเนินการอยู่ แล้วก็เรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้ อะไรทำนองนี้ ทวงหนี้ ทวงถาม เอาออกมาให้หมดนะ ดูแลคนจน คนจนก็ต้องช่วยตัวเองบ้าง ปฏิบัติตามกฎหมาย แล้วก็ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อสัตย์ต่อนายจ้าง หรือผู้ให้เช่าด้วย พึ่งพาอาศัยกันอยู่แล้ว

สำหรับการป้องกันแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชันนั้น เราเดินหน้ามาโดยตลอด ไม่อยากให้มันโครมครามมากนัก ขอให้มันเป็นเรื่องปกติได้มั้ย เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นวาระแห่งชาติ เพราะฉะนั้นที่เราทำอยู่วันนี้ก็พยายามทำให้เร็ว ทำให้เกิดการรับรู้ รับทราบ แล้วก็ขจัดสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ ป้องกันการก้าวล่วงซึ่งกันและกันของทุกฝ่าย ทำให้ข้าราชการรัฐเสียหาย และโครงการต่างๆ ก็หยุดชะงักหลายโครงการ วันนี้เราได้เอา FORCE เข้ามา โครงการของต่างประเทศ เข้ามา มาตรวจสอบการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ เรื่องต่อขยายสนามบินสุวรรณภูมิ และอีกอันก็คือข้อตกลงคุณธรรม อันนี้ก็ดำเนินการแล้ว ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างรถเมล์ NGV โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แล้วก็ตรากฎหมายต่างๆ อีกมากมาย วันนี้กฎหมายหลายฉบับเราได้ออกมาแล้ว เท่าที่จำได้เป็นหลายร้อยฉบับนะ ที่มันไม่เคยได้ออกมา แล้วก็ยังค้างอยู่อีกใน สนช.อีกจำนวนมากพอสมควร

อีกอันหนึ่งก็คือ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาต 2558 เพื่อขจัดความล่าช้าของการดำเนินการเราลด 2 อย่างคือ ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส บริการให้เร็ว ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย และมีหลักฐาน มีระเบียบต่างๆ ให้รับทราบ ไปติดต่อที่ และเขาจะไปเดินเรื่องต่อให้ และมารับตามกำหนด หรือเขาจะแจ้งกลับไปว่า อันนี้ไม่ครบ ยังต้องเติมนู้นนี่ จะได้ง่ายขึ้น ให้ง่ายต่อการลงทุน วันนี้มีหลายประเทศทำอย่างนี้นะ ผมดีใจ ผมคิดเองนะว่าทำยังไง ต้องทำให้ได้ แยกเป็นกลุ่มๆ ได้ไหม ในเรื่องการลงทุน อันไหนเป็นเรื่องการ เศรษฐกิจ การค้า ไรแล้วแต่ ถ้าเป็นกลุ่มได้ และมันรวมงานของทุกกระทรวงได้ มันจะจบเร็วขึ้น คู่กับศูนย์ดำรงธรรม ถ้าวันนี้มันยังไม่รู้อะไร ยังไม่รู้ไปไหน นั่นนะศูนย์ดำรงธรรม และเขาส่งได้หมด เขาจะส่งให้กระทรวงต้นเรื่อง เรื่องไรแล้วแต่ วันนี้ใหม่ๆ อาจจะยังไม่คุ้น วันนี้สายด่วน 1567 ประชาชนใช้บริการแล้ว 949,788 เรื่อง ดำเนินการแล้วทั้งหมด 907,353 เรื่อง คิดเป็น 95.54 ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่เคยทำมาก่อน รัฐบาลนี้ทำไปแล้ว ก็ประชาชนมีความพึงพอใจมากขึ้น เรื่องใหญ่ๆ คงต้องไปแก้ ทำความเข้าใจก่อน อย่างเรื่องกฎหมาย ทำได้ทำเลย ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ให้ประชาชนต้องไปบ่น ไปรอสถานที่ราชการทุกวัน เกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ด้วย สายด่วนรัฐบาล 1111 วันนี้ ต้องช่วยกันนะ ตั้งให้แล้ว อย่าโทร.มาแกล้ง อย่าโทร.มาไรแล้วแต่ วันนั้นผมฟังแล้วไม่สบายใจ มีทั้งผู้หญิงผู้ชายโทรมา ถ้าเป็นผู้หญิงรับสาย ผู้ชายมักพูดจาไม่สุภาพ มันไม่สมควรนะ รังแกสุภาพสตรีแบบนั้น เขาอุตส่าห์มาทำงานให้ ยังไปพูดจาไม่ดีอีก ในเชิงชู้สาวไรมั่ง ถ้าเป็นผู้ชายส่วนใหญ่ไม่มีไร อย่างมากก็โดนตำหนิ โดนว่า ใช้คำพูดหยาบๆ เท่านั้นเอง เพราะว่าคงไม่มีผู้หญิงที่ไหนโทร.หาผู้ชายแล้วก็พูดแบบนี้ ไม่มีหรอก

ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว สังคมไทยเราน่าจะดีขึ้น มีความสงบสุข ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียม พูดกันเยอะแล้ว แต่ผมสามารถพิสูจน์ หรือแจ้งท่านได้ว่าเรื่องที่ผมพูด มันทำอะไรไปแล้วบ้าง แล้วผลมันเป็นยังไง แต่มันยังไม่ทั่วถึงแน่นอน ผมไม่สามารถสัญญาท่านได้ทุกอย่างนะ ว่าผมจะทำได้สำเร็จในสมัยที่ .. เรามีเวลาแค่นี้ ผมเริ่มต้นให้ ผมหยุดอะไรให้ หยุดความรุนแรงให้ อะไรให้ แล้วก็เริ่มต้นปฏิรูปให้ แก้ไขเร่งด่วนก่อน แต่เรื่องที่มันยาวๆ ผูกพันยาวๆ ผมก็ไม่สามารถทำได้หรอก ผมไม่รับประกัน เพราะเวลามันมีแค่นี้ แต่ผมวางรากฐานให้ท่าน ท่านก็ไปว่ากันต่อไป ถ้าท่านอยากจะให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเร็วๆ ท่านก็ไปเตรียมการให้เขาทำต่อไปก็แล้วกันนะ

นอกจากมาตรการทางเศรษฐกิจแล้ว คมนาคมขนส่ง ศูนย์บริการธุรกิจ การบริหารจัดการน้ำ คืบหน้าไปเรื่อยๆ แล้วก็มีมาตรการอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้ไทยนั้นมีศักยภาพในการแข่งขัน คือเขาเรียกว่า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ ไปขายสินค้าแข่งกับเขาในโลกได้ ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ทั้งภูมิภาค เวทีโลก

ฐานข้อมูลที่สำคัญวันนี้การจดทะเบียน 3 สัญชาติ ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา ประมาณ 1 ล้าน 6 แสนกว่าคน นี่จดทะเบียนแล้ว บัตรที่ออกให้เป็นการชั่วคราวก่อน เพราะมันยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติครบ เดิมมันต้องพิสูจน์สัญชาติให้ครบภายใน 6 เดือน ถ้ามันพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ก็ต้องต่อไปเป็นปี ทำไมมันยากรู้มั้ยครับ ไม่ใช่เราผิดนะ เราขึ้นทะเบียนให้นี่ก็เก่งแล้วนะ แต่การให้สัญชาติต้องให้แต่ละชาติที่เขาเป็นแรงงานของเขา จัดชุดเข้ามา แล้วก็มาพิสูจนสัญชาติของเขาเอง ตอนนี้เขามาได้น้อย เพราะฉะนั้นผลผลิตในการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติมันน้อย ไม่ใช่ความผิดของเรา มันเป็นความไม่พร้อม เราต้องเห็นใจนะ มิตรประเทศเราเขาก็เป็นประเทศเล็กๆ บางครั้งก็ไม่พร้อม วันนี้ก็เลยยังจดน้อยอยู่ เดี๋ยวผมต่ออายุให้ แต่ข้อสำคัญนายจ้างที่เอามาจด หรือมาร้องขอ จะต้องไม่ปล่อยให้แรงงานเหล่านี้ไปทำงานที่อื่น เพราะมันเป็นบัตรชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล ถ้าแรงงานเขาบ่นก็บอกเขาไปเร่งประเทศของเขาเองว่าให้เข้ามาพิสูจน์สัญชาติให้เร็วขึ้น วันนี้จัด 10 ชุด 15 ชุด วันหนึ่งก็ได้ไม่กี่คน ของเรานี่จัดเป็นร้อยๆ ชุด มันก็ทำได้

เรื่องการจดทะเบียนเรือประมง วันนี้จดไปแล้ว 50,970 ลำ เดิมน้อยมาก แล้วก็การจดทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะต้องรีบดำเนินการ ทุกคนจะต้องมีบัตร หรือมีรายละเอียดในบัตรประชาชน อะไรก็แล้วแต่ ว่ามีรายได้เท่าไร ผมก็ไม่ได้ไปประเมินว่าท่านจะต้องมีรายได้สูงๆ หรอก อย่างมาก ถ้าคนรายได้น้อยมันก็คำนวณได้จากต่ำๆ ก็คือวันละ 300 บาท อาจจะไม่ถึงด้วยซ้ำไป ก็สมมุติว่า เสียภาษีเท่าไร ถ้าท่านไม่ต้องเสีย เพราะท่านอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่ท่านต้องมีนะ รัฐจะได้รู้ว่าท่านทำอาชีพอะไร วันหน้าจะได้สนับสนุนได้ถูก เอาเงินไปช่วย หากองทุนมาให้ วันนี้ถ้าต้องให้หมดเลยมันไม่ไหวนะ วันหน้าก็เป็นภาระอีก

การจัดทำผังเมืองทั่วประเทศ ต้องชมเชยกระทรวงมหาดไทย ยุคนี้ ทำได้เร็วขึ้น 19 จังหวัดมั้ง ทำมาตั้งหลายปีแล้วด้วย 2 รัฐบาลแล้วมั้ง ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา สิ้นปีนี้จะทำให้ครบ 77 จังหวัด ต้องขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ขอบคุณข้าราชการทุกคนที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้สำเร็จก็แล้วกัน เป็นความคาดหวัง จะได้ทำให้การจัดระเบียบ การจัดแผนที่ดิจิตัลต่างๆ แบบบูรณาการ ทั้งป่า ทั้งเกษตร ทั้งอุตสาหกรรม เมืองที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการเรื่องของผังเมืองให้เหมาะสม ก็มีหลายจังหวัดเหมือนกันที่มาร้องเรียนเข้ามาว่ามีปัญหาเรื่องการวางผังเมือง ก็ไม่เป็นไรครับ ผมก็จะให้กรมที่ดิน ให้กระทรวงมหาดไทย เข้าไปแก้ปัญหา

เรื่องของการใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ ผมไม่ได้ต้องการให้ทุกกระทรวงมาเสนอผม หรือเสนอข้าราชการด้วยกัน ผมอยากให้ประชาชน เพราะประชาชนมีโทรศัพท์เกือบทั้งหมด ถ้าสามารถกดได้ แอปพลิเคชัน รู้เรา รู้โลก รู้สิทธิ รู้ดินน้ำอากาศ เป็นต้น มันก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานประชาชนทั่วไปจะได้รู้ เกษตรกรเขาจะรู้ราคาสินค้า รู้ว่าจะต้องไปติดต่อราชการที่ไหน หรือโรคอะไร จะไปหาใคร โรคนี้จะเป็นไอ้นี้หรือเปล่า ท่านจะได้ถามได้เร็วๆ ผมคิดว่าวันหน้าจะต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือใช้โทรศัพท์ให้มากขึ้นเขาเรียกว่า ดิจิตอล ซึ่งเรากำลังจะตั้งกระทรวงดิจิตอลอะคาเดมี่ไง มันต้องเรียนรู้ด้วยกัน เป็นเขาเรียกอะไร เกษตรกรสมัยใหม่ ประชาชนยุคใหม่ที่เป็นยุคแห่งความทันสมัย และเกิดประโยชน์ และใช้อย่างพอเพียงให้มันครบ ทำอะไรให้มันครบ คิดอะไรให้มันครบ

ในเรื่องของการลงทุนเช่นกัน จะมีข้อมูลในการลงทุน ในเรื่องของการพัฒนาส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยพัฒนาให้สู่การผลิต ผมเร่งรัดไปแล้วนะครับ วันนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา และตั้งงบประมาณการวิจัยพัฒนา ให้สูงกว่า 1% ของจีดีพี เดิมมันต่ำกว่านี้ เขาจะตั้ง 3-4 มันไม่ไหว เอา 1 ก่อนแล้วกัน และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในอุตสาหกรรมวิจัยพัฒนา เดิมนี่ 200% เป็น 300% เขาจะได้ตั้งเองช่วยรัฐด้วย และการจัดทำบัญชีนวัตกรรมให้เป็นนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นวาระแห่งชาติ จะได้ให้สถานประกอบการที่สนใจชุมชนได้นำผลงานวิจัย และพัฒนาต่างๆ ไปสู่การผลิต วันนี้มีจำนวน 29 ราย และในเรื่องของนวัตกรรมใหม่นั้นจะสามารถทดแทนการนำเข้าใช้ประโยชน์ในราชการได้ 6 เรื่องด้วยกันเช่น การแปรรูปยางธรรมชาติไปทำเป็นพื้นลู่ลานกรีฑา ลานอเนกประสงค์ หรือใช้เป็นเตาอบย่างแผ่นรมควันประหยัดพลังงาน หลายๆ อย่างต้องแก้ไขหมดเลย กฎหมาย พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง การรับรองมาตรฐานสินค้าให้สามารถจัดซื้อจัดหาได้ เพราะระเบียบเดิมมันซื้อไม่ได้ ถ้าไม่มีการทดสอบ ไม่มีการทดลองใช้ก่อน วันนี้ผมได้แก้ระเบียบตรงนี้ ต้องเอาของของราชการมาซื้อใช้ก่อน และวันหน้าก็ไปจดทะเบียนต่างประเทศ เพื่อจะขายต่างประเทศให้ได้ต้องช่วยกันนะครับ วันนี้ผมให้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว ผมเร่งรัดภายในปีนี้ เขาก็รายงานมาว่า เขาจะขึ้นทะเบียนประมาณ 100 นวัตกรรมเป็นอย่างน้อยนะครับ ที่คนไทยคิดทั้งหมด และเดี๋ยวจะนำสู่การผลิต และให้ทุกกระทรวงสามารถซื้อได้ คงไม่ใช่เรื่องอะไรที่ใหญ่โต อาจจะเป็นน้อยๆ ที่มันไม่ต้องสิ้นเปลือง ราคามันถูก และมีความคงทนเหมาะสมกับอาเซียน เหมาะสมกับไทย ถ้าเราไม่คิดแบบนี้วันหน้าก็แบบเดิม เศรษฐกิจตก ขายใครไม่ออก

ในเรื่องของไอยูยู ผมก็แก้มาตลอด มีคณะทำงานเป็นวาระแห่งชาติ การใช้มาตรา 44 นั้นก็คือว่า ใช้เพื่อจะบูรณาการเท่านั้นเอง ในช่วงก่อนหน้านี้อาจจะไม่ได้เอามาตรา 44 ก่อนหน้านี้เราตั้งอันนี้มานานแล้ว พอเราเข้ามา เราก็รู้แล้วว่ามีปัญหานี้ เราพยายามจะบูรณาการ เพราะต้องใช้ที่มีอยู่แล้ว เขาเรียกไร ยกเลิกไป มีมาตรา 44 นั่นแหละ คือ เดิมนะแหละ ที่เอามาใช้บางข้อเท่านั้น คือเรื่องการบูรณาการ แล้วแต่จริงๆ ทั้งหมด เพื่อจะรวบทุกอย่างให้มันทำได้โดยเร็ว ไม่ติดขัด และนำสู่การปฏิบัตได้เลย แต่จากการที่จะทำต่อเป็นเรื่องกฎหมายปกติ ทุกเรื่องใช้มาตรา 44 แบบนี้ จะให้มาตรา 44 ไปแก้ทุกเรื่อง ไปแก้ไขมะนาวแพง ไปแก้เศรษฐกิจ ไปแก้ ไอซีทีโอ มันแก้ได้ที่ไหน มันต้องไปแก้ทั้งระบบ และ 44 ไปอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ที่ทหารไม่ได้ทำ ทำไม่ได้ คือประเด็น เรื่องใบเหลืองอย่าไปวิตกนะ เราต้องยอมรับ โทษใครไม่ได้ เราต้องแก้ไขให้ได้ รัฐบาลนี้เข้ามาแก้เต็มที่ หลายคณะไปทำ แต่ยังไม่เพียงพอ ผมรับประกันไม่ได้จะเสร็จภายใน 6 เดือนหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับทุกคน ถ้าวันนี้ ผมรายงานว่า เรือยังไม่ครบเลย ถามใครก็ไม่รู้มันอยู่ไหน ไอ้ที่ไม่จดทะเบียน บอกอยู่ต่างประเทศ และที่ไหน และที่ผ่านมาอยู่ยังไง ลูกเรือมาจากไหน มีการจ้างงานไหม ไม่มี และผมจะสู้ใครได้ และทำไมเราจะแก้ไขได้โดยเร็ว แต่ผมก็หวังจะแก้ได้นะ ให้เวลาเรา 6 เดือน ใช่ไหม มันขึ้นกับทุกคน เพราะต้องไปให้เขาปรับระดับให้เรา ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเกียร์ 2 เกียร์ 3 มันไม่ใช่ผม ไม่ใช่รัฐบาลจะทำได้ตามใจตัวเอง ตามใจทุกคน มันเป็นเรือ่งของคนอื่นเขาต้องประเมินเรา แต่เราต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาทำงานได้เท่านั้นเอง แต่ทำเต็มที่ นะยืนยัน ไม่เกินคาดการณ์ ยังไงก็ไม่ผ่าน เราทำได้ จดทะเบียนเรืออย่างเดียวก็แย่แล้ว ใช้เวลาไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน ทำไม่หมดหรอก และต่อไปนี้ ผมจะให้มีการตั้งศูนย์ต่างๆ ตามท่าต่างๆ ด้วยแล้วกัน มีทหารตำรวจไปเฝ้า เรือเข้าออก ท่านต้องร่วมมือ ผมจะใช้แบบนี้ ไปแล้วไม่กลับ ไปแล้วไม่ รายงาน ไม่แจ้ง ลูกเรืออยู่ไหน ไม่รู้ นี่แหละผิดทั้งหมด ทำให้เกิดปัญหาทุกวันนี้ เรื่องค้ามนุษย์ก็เหมือนกัน คนละเรื่องกันนะ ค้ามนุษย์กับไอซีเอโอ ใช้มาตรา 44เพื่อทำงานได้เท่านั้นเอง อย่าไปกังวล

เรื่องการส่งออก อย่าไปกังวลนะครับ วันนี้ก็คุยกับภาคเอกชนแล้วอาจมีผลกระทบไม่มากนัก แต่ต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะให้โอกาสแล้ว แจ้งมาแล้วตั้งแต่ 2548 กี่ปีแล้ว นี่ผมทำมาได้แค่ 6 เดือนเอง ก็ทำไปเยอะเป็นปึกเลย เขาก็บอกว่า ยินดีที่ไทยมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ เห็นแล้วว่าเราตั้งใจที่จะแก้ รัฐบาลตั้งใจที่จะแก้ แต่ก็อยากจะให้เร็ว เพราะฉะนั้นยังไม่สามารถที่จะลดระดับได้ เขาต้องการให้เป็นตัวอย่างไปกับประเทศอื่นๆด้วย เรื่องนี้ผมพยายามแก้ไขทั้งหมด กฎหมายประมงก็ต้องทำใหม่ การจดทะเบียน การติดตั้งจีพีเอส ที่อยู่ของเรือ ติดตั้งวีเอ็มเอส ระบบการจับปลา คือจับที่ไหนต้องรู้ ไม่เช่นนั้นคุมไม่ได้ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ควบคุมประมงชายฝั่ง

วันนี้กฎหมายมันตั้งไม่ได้ เราจะต้องตั้งใช้มาตรา 14 ไปทำ ตั้งและใช้กฎหมายปกติดำเนินการว่า ผิดตรงไหน จะลงโทษอย่างไร จะปรับอย่างไร ดำเนินคดีไหม ติดคุกไหม ว่ากันมา ระมัดระวังให้ทางผู้ประกอบการ ทั้งผู้บริโภค ทั้งแรงงาน ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ในเรือทหารเรือก็จะไปช่วยจับกุมดำเนินคดี จริงๆมันทำไม่ได้ เป็นหน้าที่ของประมง หน้าที่ของเจ้าท่า หน้าที่ของส่วนราชการพลเรือน เจ้าหน้าที่รัฐจะไปทำทั้งหมด เราต้องให้อียูรับทราบ อย่าไปมองว่าเขามาจับผิดเรา เขาก็ทำทุกประเทศเหมือนกัน เผอิญเราช้าหน่อย แต่หนักพอสมควรเพราะไม่แก้กันมา อย่าท้อถอยนะครับ ใช้วิกฤตเป็นโอกาสแล้วกัน สร้างความเข้าใจ ร่วมมือกัน สื่อต้องช่วยกัน เสนอข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ว่ามันมีปัญหาอย่างนี้ แล้วตอนนี้รัฐบาลนี้กำลังแก้อย่างนี้ ถ้าอย่างนี้โอเคเลย แต่ไม่ใช่ว่าล้มเหลวทำไม่สำเร็จ จะสำเร็จได้อย่างไร มัน 6 เดือนเอง ถ้าอยากให้ทำสำเร็จ ก็ไปฝากใครทำแล้วกัน เร็วๆ ทำไม่ได้หรอก ใช้อำนาจอะไรก็ไม่ได้

ในเรื่องของความพยายามเขาเห็นใจในความพยายามของเรา และให้โอกาสเราที่ปรับปรุง ผมคิดว่า มันก็เป็นความหวังว่า น่าจะดีขึ้นได้ภายในระยะเวลาที่เขากำหนด แต่ขึ้นอยู่กับทุกคน การไปอินโดนีเซียครั้งนี้ ผมได้คุยกับท่าน ฯพณฯ รัฐมนตรีอินโดนีเซียก็หารือเรื่องนี้ด้วยนะครับ ท่านยินดีสนับสนุนไทยในการแก้ปัญหาภาพรวม และเราก็มีปัญหาเยอะพอสมควร เรือประมงต่างๆ ที่ไปทำความผิดอยู่ที่อินโดนีเซีย ก็ได้หารือกันว่า จะเอากลับกันอย่างไร จะลงโทษกันอย่างไรตามกฎหมาย เพราะผิดก็คือผิด ผมจะได้เลิกมีปัญหากันเสียที ทุกอย่างผมบอกแล้วว่า เรามีงานเยอะมาก ตั้งแต่ 22 พฤษาภาฯ ผมพูดทุกวัน ทำงานไปวัน งานทุกเรื่อง ท่านบอกว่า เลือกเราได้ไหมเอา 10 เรื่อง มาทำ และอีก 99 เรื่องไม่ทำหรอ บางทีผมก็ไปทั้งสิ้น ก็ต้องเอาทุกงานมาทำ งานไหนอันไหนเดือดร้อนมากก็ทำมาก อันไหนเดือดร้อนน้อยก็ทำช้าได้ แต่ต้องทำทุกวัน อย่าแก้ปัญหาอันใดอันหนึ่ง มันเชื่อมโยงกันทั้งหมดนะครับ

เพราะฉะนั้นเดี๋ยวจะช่วยกันดูแลเรื่องเรือประมง และแรงงาน เพราะเป็นภาระผู้ประกอบการเขาต้องรับผิดชอบ ผิดก็ต้องรับความผิดด้วย ในเรื่องของการทำงานเราวันนี้คือว่า เราเข้ามาหยุดความรุนแรง แก้ปัญหาเร่งด่วน และเตรียมการปฏิรูป เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องปฏิรูปต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ที่เราทำวันนี้ทำเท่าที่ทำได้ อย่าคิดว่าผมมาสัญญาว่า จะต้องเสร็จเรื่องนี้ แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ภายในวันนี้ มันทำไม่ได้ แต่ผมรับว่า ผมจะจัดระเบียบได้ภายในระยะเวลาที่ผมพูดไปตามโรดแมป เพราะฉะนั้นปฏิรูปก็ว่ามา ใครจะทำก็ว่ามา อย่ากดดันผม เจ้าหน้าที่กดดันอยู่แล้ว เพราะผมกดดันเขาให้ทำไง ให้เร็ว ให้ทัน พอท่านมากดดันผมมากๆ ผมก็กดดันทับเข้าไปอีก และงานมันก็เละอีก ต้องใช้เวลานะครับ เห็นใจเราบ้าง มาตรา 44 อย่ากดดันนักเลย สนใจอยู่นั่นแหละ พอเลิกกฎอัยการศึกก็มา 44 อีกแล้ว จาก 44 ก็ไปอะไรอีกล่ะ มันรู้สึกมันไม่ไว้ใจกันเลย แต่ทีทำผิดทำถูกเยอะแยะ ไว้ใจกันมาหลายปีแล้ว คงมีเท่านี้ครับ การปรับย้ายอย่าไปกังวลเหมือนกัน ปรับย้ายส่วนใหญ่มันเป็นในวาระแหละ เมษาฯ ตุลาฯ มีอยู่แล้ว ใครผิดน้อยก็ย้ายตามวาระไป ไปอยู่ในตำแหน่งที่มันไม่เหมาะสม ที่มันภาคทัณฑ์นะ ถ้าคดีมันผิดกฎหมายทุจริต มันก็ต้องเอาออกจากหน้าที่นั้นๆ ก่อน และเอาออกจากหน้าที่มันยาก เพราะมันมีกฎหมายของ ก.พ.ด้วย มันอาจต้องใช้กฎหมายของผมนี่แหละ เอาเขาออกมา แต่ไม่เป็นความผิดนะ ยังสอบสวนไม่เสร็จก็สอบต่อ อยู่มาอาจมีปัญหาหรือเปล่า ต้องเข้าใจตรงนี้นะ ไม่ใช่เอามาตรา 44 มาปราบโกง เอากฎหมายปกติมาปราบโกง แต่ 44 อำนวยความสะดวกให้การสอบสวนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว สะดวก เจ้าหน้าที่ไม่อึดอัด ยอมรับสภาพกันบ้างซิ ตอนทำความผิดไม่เห็นคิดเลย อย่าให้เป็นข่าวโครมครามกันนักเลย เอาที่ทุกวันๆ จะลงโทษเมื่อไหร่ ผมไม่เห็นเกิดประโยชน์กับใครทั้งสิ้น ชาติบ้านเมืองได้ แต่ขอให้กระบวนยุติธรรมเขาทำดีกว่า และมันออกมาเอง เหมือนคดีความทั่วไป เป็นอย่างนี้ เราไปเร่งมาก เดี๋ยวท่านไปเร่งงานศาล กระบวนยุติธรรมอีก กลับที่เดิม รอบเก่า

นอกจากนั้น เรื่องงานการใดที่่ค้างอยู่ ขอให้ท่านไปติดตามแล้วกัน ผมพูดหลายครั้ง ทุกเรื่องเลย การสร้างปรองดองเหมือนกัน มาตรา 44 ใช้ไม่ได้หรอกครับ มันเป็นเรื่องความยินยอมของแต่ละคน หัวใจคนไทยแต่ละคน แต่ละพวกที่ขัดแย้งจะยอมรับการปรองดองคือ การพูดจากัน เลิกทะเลาะกัน ไม่ใช้กำลังต่อกัน นั่นแหละปรองดอง แต่ถ้ามีความผิดอยู่ จะให้ใช้มาตรา 44 ไปแก้ให้ปรองดอง ให้เลิกกัน ให้ยกโทษความผิด ผมทำให้ไม่ได้ เข้าใจซะด้วย ถ้าใช้แบบนั้น เป็นการใช้มาตรา 44 ทางที่ผิด รัฐธรรมนูญไปคิดเอา ผมก็ฟังอยู่ทุกวัน มีโอกาสก็ฟัง ก็แถลงกันทุกคนก็ตั้งใจ ไปคิดแล้วกันว่า รัฐธรรมนูญควรเป็นยังไง จะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปอย่างไร ทำยังไงทำได้ ถ้าเป็นสากลอย่างเดียว แบบเดิมอย่างเดียว ทำได้ไหม ไปคิดกันมา การฟังความคิดเห็นต่างประเทศผมก็อยากให้ฟังคนอื่นบ้าง ส่วนใหญ่คิดกันเอง เถียงกันเอง ทะเลาะกันเองตลอด ฟังที่ประเทศเขามายังไง และท่านไปคิดเอา เลียนแบบเขาบ้าง ไม่ใช่คิดเอง ทำเอง และทะเลาะกันเอง มากี่ 10 ปี แล้ว ประชาธิปไตย ถ้าเราทำดี โลกเข้าใจเรา วันหน้าจะได้ไม่ถูกประณาม โลกใบใหญ่ ผมต้องระมัดระวัง ผมไม่อยากให้คนประณามผม ผมไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะให้ทำความผิดแล้วหลีกเลี่ยงไปเรื่อย ผมไม่ใช่คนแบบนั้น

ลำดับต่อไปนะครับ ผมได้เชิญรองนายกรัฐมนตรี ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ซึ่งดูแลด้านสังคมจิตวิทยามาพูดคุยเพิ่มเติมในเรื่องต่างๆ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนเข้าใจในเจตนาอันแน่วแน่ของรัฐบาลเรา ในขณะที่เราเป็น คสช. และขณะที่เราเป็นรัฐบาล ถือเป็นระยะที่ 1 ระยะที่ 2 เท่านั้นเอง ซึ่งระยะที่ 3 อีกยาวนานมากที่เป็นปัญหาทับซ้อนอยู่ ต้องไปแก้ทั้งระบบอีกที ขอบคุณนะครับ สวัสดีครับ”

คำต่อคำ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี

“สวัสดีครับ ท่านผู้ชม วันนี้ผมยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านสังคม จะขอนำทีมรัฐมนตรี 4 กระทรวง ที่ช่วยกันดูแลงานด้านสังคมมาคุยกับท่านผู้ชมเพื่อพยายามที่จะนำเอาความสุขมาสู่ประชาชน ที่นั่งอยู่กับผมจากขวาสุดนี่คือท่าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ซึ่งเป็นท่านรัฐมนตรีว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถัดมาคือท่านศาสตราจารย์ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทางซ้ายของผม ท่าน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสาธารณสุขก็คือ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

พวกเราทั้ง 4 คน ทำงานกันในลักษณะบูรณาการ คือร่วมกันทำงาน ไม่เพียงแต่แต่ละกระทรวงของตนเท่านั้น เราพบกันเป็นประจำหลังจากการประชุมรัฐมนตรี เพื่อจะคุยเรื่องงานต่างๆ ที่จะเป็นการพัฒนาสังคมอย่างบูรณาการกัน งานที่สำคัญของเราก็คือเราต้องการให้คนไทยมีการพัฒนาตลอดช่วงชั่วชีวิตเลย ไม่ใช่แค่ช่วงใดช่วงหนึ่งเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ต้องการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ

เช่นเริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องแม่เลย เราดูแลให้มารดาได้มีโอกาสดูแลลูกของตนเองให้เกิดมาในครอบครัวที่มีความสุข มีความพร้อมไม่มีความรุนแรงในครอบครัวให้มีพัฒนาการที่ดี และเมื่อเด็กเกิดมาแล้ว เราก็อยากให้เขามีอาหารการกิน มีสุขภาพที่ดี ซึ่งผลงานที่สำคัญของรัฐบาลนี้คือได้จัดให้มีการสนับสนุนเด็กแรกเกิด อันนี้เป็นครั้งแรกครับ ที่เราได้เห็นได้มีการดูแลเด็กแรกเกิดในประเทศไทยของเรา แต่เราไม่ได้ให้เงินสนับสนุนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเงินสนับสนุนนี้ไปในครอบครัวที่ยากจน เราให้การดูแล ทั้งทางด้านสุขภาพ และด้านการเรียนรู้ต่างๆ ของคุณแม่

ด้านสุขภาพก็มีทีมคุณหมอครอบครัวที่ไปช่วยดูแล และเมื่อเด็กเข้าอยู่ในวัยเรียนแล้วเราก็ได้เริ่มโครงการที่จะจัดให้มีโอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้ และมีโอกาสฝึกอาชีพ การงานต่างๆตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน จะได้ไม่เคว้งเมื่อจบออกไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น นอกจากการแนะแนวที่ดีแล้ว ยังจะมีโอกาสให้เขาได้ลองเรียนทั้งในด้านสายสามัญ และสายอาชีพ เพื่อเขาจะได้ดูว่าเขามีความเหมาะสมอย่างไร

สำหรับนักเรียนอาชีวะ เราจัดให้เขามีประสบการณ์ในสถานประกอบการเพื่อจะได้ดูว่าเขาสนใจทางไหน จะได้ไปทางนั้น

สำหรับสตรีวัยรุ่น เราให้ความสนใจเป็นพิเศษเพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการค้าประมนุษย์ และให้เขาไม่เผลอกลายไปเป็นแม่วัยรุ่น ซึ่งยังไม่พร้อม ตรงนี้ เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องช่วยดูแลอย่างมาก และเมื่อถึงวัยทำงานแล้ว เราก็มีโครงการต่างๆ ที่จะให้คนในวัยทำงานได้เรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะในอนาคตสังคมคนเราคนจะเปลี่ยนงานไปมาก ฉะนั้นจำเป็นจะต้องมีเรื่องตรงนี้ และเมื่อเขาสูงอายุขึ้นไปแล้ว เราต้องมีการดูแล เริ่มตั้งแต่ให้มีการออมตั้งแต่เขายังหนุ่มสาว และเมื่อสูงอายุแล้ว จะมีโครงการต่างๆ ที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุ เพราะสังคมของเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างแท้จริงในไม่กี่ปีข้างหน้านี้เอง

เรามีการให้เงินสนับสนุนทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการด้อยโอกาส ซึ่งในรัฐบาลนี้ก็ได้มีการเพิ่มเงินสนับสนุนคนพิการด้วย แต่เราไม่ได้ให้การสนับสนุนแค่การเงินแต่อย่างเดียว เราช่วยดูแลให้ทั้งผู้สูงอายุ และผู้พิการ ได้มีโอกาสมีงานทำ ได้ฝึกฝนการงานอาชีพของเขาตลอดเวลา เพื่อที่จะเปลี่ยนภาระของสังคมไปเป็นโอกาสของสังคม เราจะได้ผู้ที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นมา

สำหรับผู้ที่มีความพิการด้านร่างกาย เราก็มีความช่วยเหลือจากทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีเทคโนโลยีช่วยคนพิการ ไม่ว่าจะมีเครื่องช่วยฟังแบบดิจิตัล หรือข้อเข่าเทียม หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการอ่านการฟังเป็นต้น

ในการดูแลสุขภาพ เราก็ใส่ใจ เรื่องของการป้องกันการระบาดของโรคต่างๆ เช่น โรคอีโบลา ก็จะค่อยยังชั่วที่ตอนนี้ทุเลาลงแล้ว แต่ยังวางใจไม่ได้ เรามีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะดูแลคนไทยทั้งหมดที่จะทำให้เขาไม่ต้องล่มจมเมื่อมีการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตามเรากำลังดูแลในเรื่องของการจัดการงบประมาณ ไม่ให้สูงเกินกำลังของรัฐบาลที่จะจ่ายได้ เรามีการประสานงานด้านข้อมูลกับระหว่างระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 คือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคมต่างๆ เพื่อที่จะให้รวมทั้งระบบของราชการด้วย เพื่อที่จะให้สามารถมีข้อมูลที่สมพงษ์กันได้

ในการศึกษา เรามีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อที่จะทำให้เรื่องของการศึกษาของเรา ซึ่งมีงบประมาณมาก ทำไปอย่างได้ผลดีที่สุด ท่านนายกฯ เองก็ได้ ตั้งซูเปอร์บอร์ด และมีการดำเนินการเพื่อที่จะมุ่ง เช่น ให้เด็กประถมอ่านออกเขียนได้อย่างแท้จริง หรือให้เด็กมัธยมมีโอกาสเลือกการงานอาชีพได้ หรือดูแลเรื่องของภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ซึ่งเรากำลังจะเข้าสู่เรื่องของอาเซียนก็จำเป็นจะต้องมีความสามารถในด้านภาษา

สุดท้ายนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสังคมแบบดิจิตอล ฉะนั้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญมากครับ เราได้มีโครงการซึ่งท่านนายกฯ ได้ตั้งเป็นคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมขึ้นเพื่อที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ บริการใหม่ๆ ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถต้องการการที่จะสนับสนุน ซึ่งเราตอนนี้ก็มีมาตรการสนับสนุนในทั้งด้านเงินทุน มาตรการด้านภาษี และมาตรการด้านการตลาด เพื่อจะให้เขาได้สามารถที่จะขายสินค้าของเขาได้ ต่อจากนี้ผมขอเชิญท่านรัฐมนตรีช่วย กรุณาให้รายละเอียด ผมอยากจะขอเชิญท่าน พล.ต.อ.อดุลย์ ช่วยพูดทางด้านการพัฒนาด้านสังคมหน่อยครับ”

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคม

“สวัสดีครับ ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงฯ ก็เป็นกระทรวงฯ ที่ดูแลด้านเด็กและเยาวชน และคนชรา รวมทั้งเรื่องต่างๆ ซึ่งตามที่ท่านนายกฯ พูดถึงเกี่ยวกับการดูแลนะครับ 5 ช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิด วัยมาเรียนหนังสือ วัยทำงาน ผู้สูงอายุ อันนี้เป็นกระบวนการที่ต้องเชื่อมต่อกับส่วนต่างๆ ซึ่งกระทรวง พม.เป็นตัวที่ดูภาพรวม ตั้งแต่แรกเกิดอย่างไร ที่ให้เกิดมีคุณภาพ เข้าสู่ของขบวนการศึกษาแรงงาน รวมทั้งสูงอายุ ซึ่งคิดว่าในปีนี้เราได้วางแผนทั้ง 5 กระทรวงหลัก เพื่อให้เกิดความแน่นแฟ้นในการรับช่วงต่อไปให้คนมีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม มาดูเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ซึ่งยังเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต วันนี้เรามีผู้สูงอายุในตัวเลขของประชากรประมาณ 8.9 ล้านคน และคาดการณ์ว่า อีกประมาณ 13 ปี คือปี พ.ศ.2570 จะมีผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 16 ล้านคน คือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศนะครับ ซึ่งโครงสร้างต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงมากมาย วันนี้ทางรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ ได้มีกำหนดยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติไว้ เพื่อให้สามารถรองรับเราได้ เช่น การที่จะให้ผู้สูงอายุนั้นอยู่ในชุมชนให้มีความเข้มแข็งว่า ร่างกายแข็งแรงแล้วอยู่ได้ เราจึงรณรงค์ให้เกิดมีการตั้งชมรมขึ้นมา วันนี้ทั่วประเทศมีชมรมผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 2.7 หมื่นชมรม และให้มีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพดูแลผู้สูงอายุกว่า 878 แห่ง เพื่อให้ดูแลสุขภาพกิจกรรมต่างๆ ของผู้สูงอายุ และได้มีการฝึกอบรมอาสาสมัคร เพื่อดูแลผู้สูงอายุกว่า 8 หมื่นคน อันนี้เป็นกลไกสำคัญที่ให้ผู้สูงอายุนั้นสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีสุขภาพที่ดี และมีความมั่นคง

นอกจากนี้ มีการเพิ่มเกี่ยวกับเงินฌาปนกิจศพของผู้สูงอายุ อนุมัติแล้วศพละ 2 พันบาท เพื่อไปใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน อันนี้คือยุทธศาสตร์แผนในการปฏิบัติในปีนี้ ซึ่งในการขับเคลื่อนเน้นให้เกิดความชัดเจนขึ้นในการปฏิบัติ ในส่วนของผู้พิการซึ่งเราดูแลอยู่ ซึ่งจากตัวเลขของผู้พิการทั่วประเทศมีประมาณ 1.7 ล้านคน แต่ลงทะเบียนประมาณ 1.5 ล้านคน เรากำหนดยุทธศาสตร์คือ ต้องการให้ผู้ที่พิการสามารถใช้ศักยภาพในสังคมได้ คือเป็นพลัง ไม่ใช่ภาระของสังคม สามารถที่จะออกนอกบ้านมาเรียนหนังสือ มาทำงานได้ อันนี้เราเน้นเกี่ยวกับด้านที่จะให้การปรับปรุงเทคโนโลยี เส้นทางต่างๆ ให้ผู้พิการออกจากบ้านมา ซึ่งต้องเริ่มกับทั้งมหาดไทย กรุงเทพมหานครดำเนินการ ซึ่งปีนี้เราก็เริ่มดำเนินการที่ก่อนเก็บเป็นตัวแบบ และขยายผลไปยังจุดต่างๆ 10 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดเป็นแนวทางปฏิบัติ ที่ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น และเกี่ยวกับการเพิ่มเบี้ยผู้พิการนะครับ ซึ่งท่านนายกฯ กล่าวไว้ว่า ปีนี้ได้อนุมัติจาก 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 800 บาท และได้ให้เกี่ยวกับการฝึกอบรมในเรื่องของการอาชีพ ปีนี้จะใช้เงินกองทุนส่วนหนึ่งในการฝึกอาชีพให้กับผู้พิการจำนวน 7 พันคน อันนี้รวมทั้งเกี่ยวกับการร่วมกับทางกระทรวงคมนาคม จัดรถเอ็นจีวีชานต่ำกว่า 3 พันคัน เพื่อให้เป็นพาหนะในการเดินทางได้ อันนี้คือหลักการคร่าวๆ ที่ในการดูแลผู้พิการ ซึ่งเราคิดว่าเป็นพลังของสังคมมากกว่าภาระสังคม”

ยงยุทธ ยุทธวงศ์

“ขอบคุณมากครับ เราได้เห็นว่า เรื่องของการพัฒนาสังคมนั้น เราพึ่งทุกภาคส่วนของสังคม ในการที่จะเข้ามาช่วยกันเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ต่อไปผมอยากจะขอเชิญคุณหมอรัชตะ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”

นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข

“เป็นที่น่ายินดีครับว่า เมื่ออังคารที่ผ่านมา ท่านคณะมนตรีได้มีมติอนุมัติเงินกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 163,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10,000 ล้านบาท นะครับ สำหรับการดูแลสุขภาพของประชาชนไทยประมาณ 48 ล้านคน ซึ่งหากคิดเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นจากจำนวน 2,985 บาท เมื่อปีงบประมาณที่ผ่านมา ในปีงบประมาณนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3,028 บาท ซึ่งเป็นหลักประกันว่าประชาชนไทยจะได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน รวมถึงโรคที่มีความจำเพาะต่างๆ หรือการรักษาโรค และการป้องกันโรค สุขภาพด้วย สำหรับโรคที่มีความจำเพาะต่างๆ เหมือนเดิมคือผู้ป่วยโรคเอดส์ ยังได้ยาต้านไวรัสเอดส์ต่อเนื่อง หรือผู้ป่วยไตพิการเรื้อรัง ได้รับการดูแลโดยการล้างไตทางช่องท้อง หรือการฟอกเลือด หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือทางจิตเวช จะได้รับการดูแลคัดกรอง และให้การรักษาดูแลอย่างต่อเนื่อง

มาในปีนี้ ผมเรียนว่ามีกองทุนที่เพิ่มขึ้นอีก 1 กองทุน คือการดูแลผู้สูงอายุในระยะพึ่งพิง เป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ จากอายุที่สูงขึ้น หรือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งทางรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้ 600 ล้านบาท ซึ่งจะให้การดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ แต่การดูแลสำหรับผู้สูงอายุที่่ผ่านมา เช่น การเปลี่ยนเลนส์ตาสำหรับต้อกระจก หรือฟันเทียม รากฟันเทียมพระราชทาน หรือเรื่องการใส่ขาเทียม เป็นต้น อันนี้ยังดำเนินการต่อเหมือนเดิม มาในปีนี้ ผมขอเรียนว่าเรามีนโยบายเชิงรุก ที่จะเสริมด้านสุขภาพของประชาชน คือนโยบายของทีมหมอครอบครัว ทีมหมอครอบครัว เป็นการระดมเอาศักยภาพของกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับเข้าสู่ครัวเรือน โดยเริ่มต้นที่ระดับของตำบลครับ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล โดยทีมของพยาบาล หรือสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จะเป็น ผู้ที่ลงไปเยี่ยมประชาชนถึงบ้าน โดยร่วมมือกับทางอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อส.ม.ของเรา ซึ่งมีอยู่ประมาณถึง 1,040,000 คน ลงไปช่วยดูแล และทำงานใกล้ชิดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมนี้จะไปเชื่อมโยงกับทีมของหัวหน้าทีมที่อยู่โรงพยาบาลชุมชน ที่มีแพทย์และนักวิชาชีพต่างๆ เชื่อมโยงถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ หากมีความจำเป็นดูแลรักษา ให้ดูแลสุขภาพทุกมิติ เน้นด้านการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัย เช่น ที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีเรียนให้ทราบแล้ว นอกจากนั้น ปีนี้ เรายังเน้นผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ผู้สูงอายุที่มีภาระพึ่งพิง ในระยะทางของชีวิต ต่อไปนี้ประชาชนไทยจะมีการดูแลอย่างใกล้ชิด สนิทเหมือนญาติ ทีมหมอครอบครัวจะให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ เพื่อจะติดต่อได้ตลอดเวลา เริ่มต้นในส่วนภูมิภาคก่อน และขยายไปในตัวเมือง อันนี้เป็นการดูแลสุขภาพครับ

ส่วนอีกเรื่องที่อยากกราบเรียนคือว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทางคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณที่จะใช้ในการดูแลคนที่มีปัญหาด้านสถานะ โดยเป็นผู้อาศัยในประเทศไทยนานแล้ว แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย แต่ได้รับเลขทะเบียนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แต่เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2548 ให้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ให้ได้รับสิทธิการดูแลสุขภาพด้วย เพราะเป็นคนที่อยู่ผืนแผ่นดินไทยนานแล้ว ดังนั้น กลุ่มนี้เดิมทีเดียวมีสำรวจอยู่ประมาณ 460,000 คน แต่ว่ามีการสำรวจเพิ่มเติม ก็พบว่ายังมีคนที่เข้าข่ายที่มีทะเบียนแล้วที่กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งบุตรของคนกลุ่มนี้ด้วย ยังไม่ได้รับสิทธิทางด้านการดูแลสุขภาพ ดังนั้น มีจำนวนเพิ่มเติมอีก 208,013 คน ซึ่งก็จะได้รับการดูแลจากการจัดสรรงบประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนกลุ่มนี้ที่ถึงแม้จะไม่ได้รับสัญชาติไทย แต่อยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว ก็จะได้รับการดูแลทางด้านสุขภาพด้วย”


ยงยุทธ ยุทธวงศ์

“เราก็ได้เห็นว่างานของกระทรวงสาธารณสุขดูแลคนไทยตลอดชั่วชีวิตจริงๆ หน่วยงานด้านต่างๆ ทั่วประเทศ ต่อไปผมอยากจะขอเชิญท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงงานของท่าน เชิญครับ


พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย

“ก็ต้องขอบพระคุณครับ ในเรื่องของการศึกษาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะว่าการศึกษาของชาติในการที่จะทำให้บุคลากรของประเทศมีความรู้ในเรื่องต่างๆ ก็เป็นหนทางที่จะพัฒนาประเทศที่จะไปแข่งขันกับในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค หรือในระดับโลกให้ได้

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา 6 เดือน กระทรวงศึกษาธิการก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหา และเร่งรัดในการที่จะแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาที่สะสมมา เราก็ได้พยายามที่จะพัฒนาปรับปรุง อันนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายทางด้านการศึกษาที่รัฐบาลได้ประกาศไว้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ในช่วงเวลาสั้นๆ ผมอยากจะเรียนในบางเรื่องที่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ท่านผู้ชมได้รับทราบ ในเรื่องแรก ปัญหาในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลในพื้นที่ทุรกันดาร ในเขตที่ยากต่อการคมนาคม โรงเรียนเหล่านี้ก็จะขาดแคลน ขาดแคลนทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน ขาดแคลนทั้งครู บุคลากรที่จะให้การศึกษากับเด็ก ดังนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ดำเนินโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อที่จะให้เด็กๆ ในโรงเรียนเหล่านี้ได้รับการเรียนการสอนจากครูที่มีคุณภาพ โดยเรารับสัญญาณ ผ่านสัญญาณโดยตรงจากโรงเรียนไกลกังวลที่หัวหิน ส่งตรงไปยังทุกโรงเรียน ทุกห้องเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งที่ผ่านมามีโรงเรียนที่ได้รับการดำเนินการในโครงการนี้ไปแล้วกว่า 15,000 โรงเรียน มีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์ไปกว่า 1 ล้านคนเศษ ซึ่งก็ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าเราได้มีการอบรมบุคลากร ครู ที่อยู่ปลายทาง ให้สามารถที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็ก คือไม่ใช่ว่าเพียงแค่ดูจากทีวีเท่านั้น

ในเรื่องถัดไป การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ ทางกระทรวงฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาในเรื่องของเด็กในระดับประถม ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรืออ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ในปีนี้ทางกระทรวงฯ ได้ประกาศว่า ปี 58 เป็นปีที่จะต้องปลอดจากนักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรืออ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง โดยเราจะมีการแก้ไขตรงไปยังนักเรียนเหล่านี้ มีการสำรวจดูว่าในแต่ละโรงเรียนมีเด็กคนไหนที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เราก็จะจัดครูและดูแลในเรื่องของการเรียนการสอน โดยเฉพาะภาษาไทย มีการเปลี่ยนการเรียนในลักษณะที่แต่ก่อนอาจจะเป็นลักษณะจำเป็นคำ ก็เปลี่ยนเป็นในลักษณะแจกรูป ผสมคำ เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับการเรียนการสอนในภาษาไทยอย่างถูกต้อง

เรื่องต่อไปที่อยากจะกราบเรียนก็คือ เรื่องของการปรับปรุงหลักสูตร และการทดสอบทางการศึกษา ในปีนี้เราก็มีการนำวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ มาบรรจุไว้ในหลักสูตร แล้วมีการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละช่วงวัย เน้นการเพิ่มพูนความรู้ เสริมสร้างกระบวนการคิด การวิเคราะห์ รวมทั้งได้มีการปรับลดในเรื่องของการทดสอบทางการศึกษา โอเน็ต ซึ่งแต่เดิมเด็กจะต้องสอบ 8 กลุ่มสาระวิชา เราก็ลดเหลือ 5 กลุ่มสาระวิชา ส่วนอีก 3 กลุ่มสาระวิชา เราก็ต้องให้ทางโรงเรียนเป็นผู้ที่จัดหลักสูตรและทำการสอบเอง เพื่อให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ในบริบทที่ตัวเองอยู่ในพื้นที่นั้น

เรื่องต่อไปที่ผมอยากจะเรียนก็คือ ในเรื่องการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะเราเห็นว่าครูเป็นปัจจัยสำคัญในระบบการศึกษา โดยที่ผ่านมาทางกระทรวงฯ ได้ผลักดันให้คุรุสภาได้ออกประกาศเพื่อกำหนดให้ประเภทวิชาที่มีความขาดแคลน สามารถที่จะ ... ครู หรือว่าบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านนั้น สามารถเข้ามาเป็นครูได้ในเบื้องต้น โดยที่ยังไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ในเบื้องต้นให้เขาไปทำ ใช้ใบแทนตรงนี้ไปสมัครในการที่จะไปสอนในโรงเรียนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในโอกาสต่อไป เขาเองก็จะต้องมีการพัฒนาและเพิ่มประสบการณ์ และไปดำเนินการเพื่อที่ได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพนี้ในภายหลัง อันนี้ก็สามารถที่จะแก้ปัญหาในเรื่องครูขาดแคลนในบางสาระวิชาได้

อีกอันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับครู ก็คือเรื่องของการปรับปรุงระบบการพัฒนาครู โดยที่ผ่านมาเราอาจจะใช้การพัฒนาโดยที่จะให้ครูมาอบรมตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งก็เกิดประโยชน์ไม่มากนัก และสิ้นเปลืองงบประมาณ

ในช่วงปีการศึกษานี้ เราจะให้ครู .. เราจะจัดเป็นในลักษณะเชิงรุก ก็คือจะจัดเป็นโค้ชชิ่งทีม (Coaching Team) ไปพัฒนาครูในพื้นที่นั้นเลย ที่ครูเขาอยู่ ก็คือพูดง่ายๆ ว่า ไปโค้ชชิ่งเขาที่โรงเรียน เพื่อที่จะไม่ต้องเป็นภาระครูจะต้องออกจากห้องเรียนมาทำการพัฒนา ซึ่งอันนี้ก็จะเกิดประโยชน์ ทั้งไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ และจะได้ผลในการดำเนินการด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญ ก็คือในเรื่องของการผลักดันให้เกิดความร่วมมือ การศึกษาในลักษณะทวิภาคี อันนี้ก็จะมุ่งไปทางด้านอาชีวศึกษา ฉะนั้นเราจะมีความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาทางด้านอาชีวะ กับผู้ประกอบการ เรามีการทำเอ็มโอยูร่วมกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สภาการท่องเที่ยว ที่จะให้ทางภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะจัดหลักสูตร และเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาของเราเข้าไปมีโอกาสไปฝึกงานในสถานประกอบการจริง ซึ่งเขาก็จะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของค่าตอบแทน และได้ประสบการณ์ ผู้ประกอบการเองก็จะได้ประโยชน์ว่าเด็กเหล่านี้เมื่อจบการศึกษาแล้ว เขาก็จะสามารถที่จะเข้าทำงานได้ทันที แล้วก็ไม่เกิดภาวะตกงานด้วย นี่ก็สิ่งที่ผมอยากเรียนให้ทราบ

ก็อยากจะเรียนว่า ในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงฯ ที่ผ่านมาเราก็ได้มีการหารือร่วมกัน ทั้งกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาไปในแนวทางเดียวกันโดยตลอด ผมขอเรียนให้ท่านผู้ชมได้รับทราบในเบื้องต้นเท่านี้ก่อน”


ยงยุทธ ยุทธวงศ์

“ก็ได้เห็นแล้วว่างานของกระทรวงศึกษาฯ มันมีมากมาย และเป็นการทั้งแก้ปัญหาด้วย และพัฒนาแนวทางใหม่ๆ ด้วย ในการจะตอบสนองความต้องการของประเทศ ซึ่งกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สุดท้ายนี้ผมอยากจะขอเชิญท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะมาพูดถึงเรื่องการตอบสนองความต้องการของประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ครับ ในทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครับ”

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจริงๆ ก็อยู่กับการดำเนินชีวิตประจำวัน อยู่กับเรื่องการประกอบอาชีพ ไปจนถึงเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต บางครั้งเราจำเป็นต้องบอกกับสังคมว่า เราอยู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราต้องใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้น จะเป็นสังคมนวัตกรรมอย่างที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ในแถลงการณ์ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไม่ใช่เป็นเครื่องมือสำหรับนักวิชาการ หรือประชาคมวิทยาศาสตร์อย่างเดียว จริงๆ เป็นเครื่องมือของสังคมที่สำคัญ และเป็นอะไรที่จะสามารถที่จะเป็นข้อต่อให้กับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำปัจจุบันก็มีชุมชนต้นแบบหลายแห่งที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไปจนถึงนวัตกรรมนะครับ ที่จะทำให้ภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมา 30 ปี 40 ปี สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ทำให้เกษตรกร ทำให้ชาวบ้านสามารถที่จะมีน้ำใช้ และมีน้ำทางการเกษตร ชีวิตดีขึ้น สามารถที่จะนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตการทำงานในชุมชนได้เป็นอย่างดี อันนี้มีตัวอย่างอยู่หลากหลาย

ไปจนถึงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น ดาวเทียม เทคโนโลยีนี้ก็ไม่เพียงแต่ทำให้เราสามารถประยุกต์ใช้ในวิถีของการใช้เทคโนโลยีสูงสุดเท่านั้น แต่จริงๆ สามารถที่จะเอามาใช้ในการเฝ้าดูทรัพยากรธรรมชาติ การทำนาทั้งนาปี และนาปรัง ไปจนถึงในภาวะฉุกเฉิน เช่น ภาวะน้ำท่วมสามารถที่จะใช้เป็นเครื่องมือ และได้ทำงานทางด้านนี้ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีสถาบันเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ คอยให้การสนับสนุนอยู่ตลอดเวลานะครับ ผมอยากจะเรียนว่า เรื่องของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น จริงๆ เป็นเรื่องของการบูรณาการข้ามกระทรวง เป็นส่วนใหญ่ ล่าสุด เราทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาจังหวัด พัฒนา อบต. อบจ. โดยใช้เทคโนโลยีในทั้งเรื่องการเรียนรู้ และประกอบอาชีพยิ่งขึ้น เรากำลังจะมีโครงการที่จะมีที่ปรึกษาประจำจังหวัด เพื่อจะคอยให้คำแนะนำทั้งกับชุมชนไปในการพัฒนาเรื่องนี้

การใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจริงๆ ไม่เพียงแต่ด้านสังคมเท่านั้น แต่ด้านเศรษฐกิจมีผลต่อการพัฒนา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการผลิตแก่ภาคเอกชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรือ่งการตั้งเป้า การวิจัยและพัฒนาให้เป็น 1% ของรายได้ประชาชาติ หรือ 1% ของจีดีพี การที่จะทำให้เม็ดเงินที่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาทั้งหลาย สามารถเอาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเชิงพัฒนาสังคม ชุมชนได้ ตลอดจนมีการลงทุนเพื่อพัฒนากำลังคนให้ประเทศไทยมีศักยภาพในทรัพยากรมนุษย์ มีนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ตลอดจนมีนักเรียนที่สามารถสร้างนวัตกรรมและสร้างสรรค์ ประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้มาดียิ่งขึ้น ทางรัฐบาลได้มีมติเห็นชอบในการอนุญาตให้บุคลากรภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยไหนของภาครัฐ สามารถร่วมงานภาคเอกชนได้ ภายใต้โครงการการเคลื่อนย้ายบุคลากรภาครัฐ ไปทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งตรงนี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคเอกชน ที่ต้องการลงทุนในการสร้างความรู้ใหม่ สร้างนวัตกรรมที่จะผลิตสินค้าและบริการ ส่งป้อนตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลกได้ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ เป็นเรื่องสำคัญ ยังมีมาตราการอื่นที่ยังขับเคลื่อนมากมาย แต่ที่สำคัญคือ เราต้องใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทำให้มากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม”

ยงยุทธ ยุทธวงศ์

“ขอบคุณครับ พอดีเวลาเรามีน้อย ก่อนที่จะลาท่านผู้ชมไป ผมอยากเรียนว่า งานของฝ่ายสังคม ไม่เพียงแต่จะดูแลสังคมในระดับบุคคลและระดับครอบครัวเท่านั้น แต่เรามาดูแลระดับชุมชนด้วยนะ เรายังมีโครงการอีกมาก ซึ่งวันหลังคงมีโอกาส เรียนท่านผู้ชมในการพัฒนาชุมชนนะครับ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมือง หรือชนบท ซึ่งเราร่วมกันกับกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยในการที่จะพัฒนาพลังชุมชน ตอนนี้เรามีชุมชนถึง 2,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นระดับแสน ระดับล้าน ที่จะมาร่วมกันที่จะพัฒนา เช่น ในเมือง จะช่วยพัฒนาเมือง เป็นสภาพที่น่าอยู่ขึ้น หมดด้านยาเสพติดไป ในชนบทนะ พัฒนาพลังสังคมเพื่อจะให้มีการงานอาชีพและมีการทักษะในการดำเนินการ ทำงานร่วมกัน และด้านสาธารณสุขนี่ ผมยินดีมากที่องค์กรต่างๆ ด้านการผลิตยา ขายยา ได้มาร่วมตัวกันเพื่อที่จะประกาศจริยธรรมของการขายยา และการโฆษณายา ซึ่งต่อจากนี้ ประชาชนจะได้ไม่ต้องเสียเงินในการซื้อยาที่แพงเกินควร หรือโดนผลจากการโฆษณา และด้านชุมชนรากหญ้านั้น มีสิ่งที่เรียกว่าสมัชชาสุขภาพ ที่คอยดูแล เช่น เรื่องอาหารการกินของคนไทยภาคอีสาน ที่มีเรื่องพยาธิใบไม้ตับขึ้นมา เรื่องต่างๆ เหล่านี้ เราพยายามที่จะดูแล ทั้งในระดับบุคคล ระดับครอบครัว และระดับชุมชนด้วย เพื่อที่จะให้คนไทยของเราทุกคนมีอาชีพที่ดี มีการงานที่ดีขึ้น มีครอบครัวที่ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้นครับ ขอขอบพระคุณมากครับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น