“ประยุทธ์” เป็นประธานเปิดงานสัมมนา พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ลั่นจริงใจทำงาน เป็นขรก.ที่ดีของในหลวง ยันไม่เคยคิดเข้ามาเพื่อเปลี่ยนขั้วใคร เผยเร่งเตรียมความพร้อมเลือกตั้ง ไม่อยากให้กลับสู่วังวนเดิม รับ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์รีบเขียนเลยมีปัญหา
วันนี้ (13 ก.พ.) ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาทางวิชาการประจำปีของการใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ในหัวข้อเรื่อง “ข้อมูลข่าวสารกับความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐ” โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อยากจะเรียนว่านี่ตนพูดปาฐกถาทุกวัน เหมือนคนแก่ขี้บ่น พูดทุกวัน พูดทุกเรื่อง คนก็หมั่นไส้ การพูดของตนในวันนี้อยากจะเรียนว่าใช้หลักจริงใจ และมีความจริงใจในการทำงานทั้งสิ้นทั้งปวง ตนพูดได้ทุกเรื่อง จะผิดจะถูกตนคิดว่าแค่ตั้งใจดี มีระเบียบวินัยทางการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และยึดแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเป็นข้าราชการที่ดี ตนก็คิดว่าพูดได้ทุกเรื่อง
อย่างไรก็ตาม การสัมมนานี้เนื่องจากมีข้าราชการใหม่ๆ เข้ามาโดยตลอด มีส่วนราชการทั้งหมด 13,000 กว่าหน่วย แต่มีความพร้อมสมัครเข้ามาคัดเลือกรางวัลของ ก.พ.ร.เพียง 8,000 กว่า ตนก็ถามว่าหน่วยที่เหลือหายไปไหน ท่านก็ตอบว่าจริงๆ ต้องใช้ทุกหน่วยงานที่เป็นของรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นมีปัญหาด้านความพร้อม ตนคงต้องขอความร่วมมือแกมบังคับ ให้ส่วนท้องถิ่นมีความพร้อมโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นก็มีปัญหาเรื่องรวมอำนาจกันอยู่แบบเดิมทุกหน่วยมีความพร้อมแค่ไหน อย่างไร โดยหลักการแล้ว ระบอบประชาธิปไตยทุกคนก็ต้องมีส่วนร่วมเป็นหลัก มอบอำนาจมาให้ฝ่ายบริหารได้ใช้จากกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ ฉะนั้นทุกคนที่เป็นราชการก็ต้องพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะในปีนี้เป็นปีที่รัฐบาลปัจจุบันจะนำพาประเทศให้ก้าวพ้นความขัดแย้ง ก้าวพ้นการประพฤติผิด ทุจริตในราชการ เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนประเทศได้ ตนจะไม่พูดว่าใครผิดย้อนหลัง ตนจะพูดว่าเราจะนำพาประเทศชาติอย่างไร ตนจึงจะพูดว่าขอความร่วมมือทุกคน ขอให้ได้มีส่วนร่วมนำพาประเทศชาติก้าวพ้นวิกฤติในช่วงนี้ไปให้ได้ มีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้ง การทุจริต กระบวนการยุติธรรม ความเห็นต่าง ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง มีปัญหาทั้งสิ้นในการเดินหน้าประเทศของเราไปสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งมีความสำคัญเพราะเป็นสัญญาที่มีต่อต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียนด้วยกัน หรือเอเชียแปซิฟิก หรือประชาคมโลก จากที่ตนไปเยือนต่างประเทศมา ทุกประเทศมีการจัดการตรงนี้ทั้งสิ้น มีการปรับปรุงระเบียบ การปฏิบัติของราชการ ฉะนั้นวันนี้ต้องเดินหน้าประเทศด้วยการที่รัฐ เอกชน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ สิ่งที่จะเชื่อมโยงได้ก็คือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการเป็นตัวที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจซึ่งกันและกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกคนอยากให้เราเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์โดยเร็ว เลือกตั้งโดยเร็ว ตนก็ถามว่าเราพร้อมตรงนั้นหรือยัง ฉะนั้นเราต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่บัดนี้ ในทุกเรื่อง ทุกส่วน ทุกคน ต้องเดินหน้าประเทศไปให้ได้และอย่ากลับมาวังวนเดิมอีก ในส่วนของนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล ทุกคนหวังว่าใน 5 เดือนที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง หรือไม่ทำอะไรเลย มายืนพูดอย่างเดียว พูดทุกวัน ไม่ใช่นะ มีหลายอย่างแต่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน เรื่องหนึ่งที่เป็นหลักคือเรื่องของการทุจริตในระบบราชการ ตนก็ไม่ปฏิเสธว่าประเทศอื่นไม่มีหรืออย่างไร ตนก็ไม่อยากจะก้าวล่วงประเทศอื่น แม้การจัดอันดับภาพลักษณ์การทุจริตจะดีขึ้นก็ตาม ก็ยังเป็นตัวเลขสองหลักอยู่ เรายังไม่ใช่อันดับต้นๆ
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า จากนโยบายรัฐบาล 11 ด้าน อีกเรื่องหนึ่งคือ การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินให้มีธรรมาภิบาล และป้องกันปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบในภาครัฐ ในเรื่องของการบริหารราชการที่ดี การสร้างความเชื่อมั่น ปรับปรุงฎหมาย ซึ่งก็มีกฎหมายหลายตัวอยู่ที่สนช. ซึ่งการขับเคลื่อนคสช.และรัฐบาลทำใน 3 ด้านด้วยกัน คือ 1. การบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ โดยใช้ตามระเบียบราชการปกติเหมือนเดิม 2. การปฏิรูปประเทศที่มี สปช.ขึ้นมาและในระยะยาว สนช.ก็จะออกกฎหมายเป็นแผนในระยะยาวในเรื่องของการวางอนาคตของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งหลายคนก็ต้องอยู่กับรัฐบาลใหม่ ทุกอย่างต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ในอนาคต และ 3. การดูแลความสงบเรียบร้อยและการปรองดอง ที่คนไทยจะรักกันและเดินหน้าประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเศรษฐกิจซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งในเชิงโครงสร้าง ที่มีมาอย่างยาวนาน และมีสถานการณ์ภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มีผลกระทบกับประเทศเพราะมีประเทศเราการส่งออกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเดินหน้าเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศต่อไป ดังนั้นการเดินหน้าประเทศได้ต้องขึ้นอยู่กับหลายฝ่าย ทั้งการเมือง ข้าราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งต้องมาดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ทำไมถึงไม่เข้มแข็งจึงต้องมาคิดร่วมกันบริหารเพราะถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ด้วยการบูรณาการทุกหน่วยงาน ดังนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังและสร้างความมั่นใจในช่วงนี้คือการจัดระเบียบ ครอบคลุมป้องกันปราบปรามและอย่าให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในภาครัฐ ซึ่งทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริหารต้องเคารพการทำงานซึ่งกันและกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจหน้าที่ในการปกครองของผู้บังคับบัญชาต้องมีแน่นอนในการบริหาร ขณะเดียวกันถ้าฝ่ายบริหารไม่อยู่ในระบบธรรมาภิบาล ท้ายที่สุดต้องมีปัญหา มีคดีความต่างๆ และผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงคือข้าราชการ ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้แก้ปัญหาและพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าบกพร่องในส่วนไหน และดูว่าใครมีเจตนาหรือไม่ และทุกคนต้องยอมรับในกระบวนการของกฎหมาย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนเป็นห่วงข้าราชการ ที่ผ่านมาอาจมีอะไรเกิดขึ้นทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น รวมทั้งในข้าราชการด้วย ซึ่งวันหน้าจะต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก และหวังว่าสิ่งที่ คสช.ทำจะเป็นการวางบรรทัดฐานในวันข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรให้ทำงานได้อย่างสบายใจ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับในกติกา ไม่ทำให้ผู้มีอำนาจมาบังคับให้กระทำสิ่งที่ผิด ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายทำไม่ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเสียหายและมีหลายคดีอยู่ในกระบวนการ ซึ่งก้ต้องดูว่าจะรับผิดชอบกันอย่างไร ยืนยันว่าตนจะดูแลอย่างเต็มที่ ในกรณีที่ไม่ได้ทำผิด อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับในความผิดพลาดะยอมรับกระบวนการตามกฎหมาย ไม่อย่างนั้นนักโทษในคุกก็คงออกมากันหมด ไม่เห็นมีใครบอกว่าตัวเองผิดซักคน อย่าคิดว่ากฎหมายทำอะไรไม่ได้ หรือกังวลว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นหัวใจของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในส่วนหลักการธรรมาภิบาลก็ทราบกันดี ทั้งในส่วน นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐและนักธุรกิจก้ต้องมีการแก้ไขปัญหากันให้ได้ และต้องบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล
“วันนี้เข้ามาบริหารราชการยังไม่ได้อะไรสักอย่างที่เป็นผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ก็ต้องมาว่ากันว่าจะเดินหน้าประเทศได้อย่างไร ไม่งั้นตนคงไม่เข้ามาให้เปลืองตัว”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หลักการบริหารบ้านเมืองที่ดีมี 6 อย่างที่ข้าราชการต้องท่องให้ได้ ทั้งหลักนิติธรรม และหลักคุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบหลักที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
นายกฯ กล่าวว่า หลักการของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ที่ระบุว่า เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้นนั้น ตนมองว่าเขียนคลุมเครือว่าแปลว่าอะไร จึงต้องเข้าใจถึงเจตนาที่เขียนอย่างข้อยกเว้นก็มีบางเรื่องเช่น ความมั่นคง เรื่องส่วนตัวต่างๆ ซึ่งตนไม่อยากให้หลักการส่วนนี้คลุมเครือ แต่จะต้องชี้แจงให้ชัดเจนเพราะมีผลกระทบกันหมด อย่างเรื่องความมั่นคงก็มีหลายเรื่องที่เกี่ยว จะมาอ้างความมั่นคงเพื่อมาฟังเรื่องส่วนตัว ใครจะอยากฟัง ถ้าไม่มีเรื่อง ไม่มีปัญหา ใครจะไปฟังข้อมูลของท่าน วันนี้ได้มีการร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ขั้นตอนการแก้ไขของชั้นกรรมาธิการ และคงไม่มีใครอยากจะฟังข้อมูลของคนทั้ง 63 ล้านคน ถ้าไม่มีเรื่อง ก็ไม่ทำ ถ้ามีเรื่องก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งไม่ต้องกังวล ถ้าไม่เดือดร้อนอะไรก็ไม่ต้องมาเรียกร้องว่าเป็นสิทธิเสรีภาพประชาชน แล้วที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ถ้าทุกคนเอาสิทธิอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่หรืออะไรทั้งสิ้น ไม่เคารพกฎหมาย อย่างสื่อเวลาท่านก้าวล่วงบอกว่าท่านมีสิทธิ เวลาหน่วยงานของรัฐจะไปทำบ้างไม่ได้ บอกว่าเป็นการก้าวล่วงสิทธิ ตกลงมันเป็นอย่างไร จะเหนือกฎหมาย เหนือความชอบธรรมไม่ได้ มันต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน
“การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีทั้งที่ต้องเปิดเผย ซึ่งกว่า 90 ถึงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเปิดเผยได้ทั้งหมด ถ้าสุจริตก็สามารถเปิดเผยได้ ส่วนสิ่งที่ยกเว้นคือสิ่งทีทำไม่ได้ หากทุกคนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควรทำ ถ้าหากทำแล้วสังคมเดือดร้อนผิดกฎหมายก็ต้องว่ากัน แต่ถ้าบอกงว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ อำนาจเป็นของประชาชน ก็คงถอยหลังกันหมด ไม่ต้องมีรัฐบาล ไม่ต้องมีกฎหมาย ไม่ต้องมีหัวหน้าแต่ละพวก คาดหัวคนละสี จับกระบองตีกันเข้าไป ถ้าอยากกลับไปย้อนยุคแบบนั้นก็เอา” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อมีการสั่งการให้แต่ละกระทรวงหรือหน่วยงานไปทำถูกทำให้เป็นข้อมูลปกปิดเสียหมด ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น เพราะบางเรื่องจะต้องใช้ข้อมูลร่วมกัน ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนนี้เยอะไปหมด ต่อไปนี้จะต้องมาสังคายนากันใหม่ คนไทยคิดเก่ง วางแผนเก่ง ปฏิบัติเก่ง แต่การบูรณาการค่อนข้างน้อย จึงต้องเน้นว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่รอให้รัฐบาลหาเงินมาเท่านั้น แล้วตนจะไปหาจากไหนในเมื่อเก็บภาษีไม่ได้
“บางทีผมก็นั่งคิด บังเอิญผมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถ้ามาจากการเลือกตั้ง ผมจะเข้ามาทำไม ผลประโยชน์ก็ไม่ได้ เหนื่อย ต้องปวดหัว ต้องมาเข้าใจไม่เข้าใจกับท่าน ชอบผมบ้าง ไม่ชอบผมบ้าง ต้องมาดูกันว่าทำไมคนถึงแย่งกันที่จะมายืนในที่ที่ผมพูด เราต้องทำให้คนเหล่านั้นไม่อยากมายืน เพราะมันเป็นจำเลย คนที่ยืนตรงนี้ได้คือจำเลยของประชาชน ถ้าดีก็โอเคประชาชนเดินหน้าไปได้ ผมไม่ได้ต้องการคำชม แต่ถ้าไปไม่ได้ก็นอนไม่หลับคิดมาก จะทำอย่างไร ตื่นมาก็คิดว่ายางจะไปทางไหน ข้าวจะไปทางไหน ธุรกิจจะเดินหน้าไปอย่างไร ต่างชาติจะทำอย่างไร” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สื่อถามมาตนรู้ทุกเรื่อง แต่ตนอยากให้ออกมาในช่องทางที่มันควรจะออกันนี้สื่อกันออกไปด้วยปาก บางหน่วยงานยังไม่ทราบว่าโยบายเป็นอย่างไร จะทำงานได้อย่างไร บางครั้งข้อมูลที่ออกไปโดยไม่ได้กลั่นกรองก็ไม่ถูกต้อง พูดไปก็เสียหายไปทั้งหมด ตนก็พยายามเต็มที่ที่จะดูแลทุกคนให้ได้ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบ มีความโปร่งใส เพราะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียคือคนทั้ง 63 ล้านคนทั่วประเทศ วันนี้การบริหารราชการแผ่นดินได้มีการกระจายอำนาจ ซึ่งตนได้สั่งการไปยังกระทรวงมหาดไทย ให้ช่วยองค์การปกครองส่วนท้อถิ่นที่ยังไม่แข็งแรงเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็จะถูกตำหนิแบบนี้ว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ม่สามารถเร่งรัดหรือดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับอปท.ด้วย เพื่อให้มีการดำเนินงานได้อย่างทั่วถึง และจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นคนรับผิดชอบโดยตนเป้นผู้พิจารณาการดำเนินการและอาจมีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้าย
ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนงบประมาณทำไปได้โดยสุจริต โปร่งใส ปัญหาทั้งหมดที่รัฐบาลแก้ ผู้ว่าฯ ต้องรับไป รวมทั้งการประเมนิผลการทำงานที่จะต้องพิจารณาตัวชี้วัดขึ้นใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการประเมินเพื่อเพิ่มวิทยฐานะ เพิ่มเงินเดือน ซึ่งต่อไปต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรให้เป็นธรรมที่สุด ซึ่งตนจะใช้หลักการที่ทหารใช้กัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกคน เพราะทหารไม่มีการข้ามขั้นไปมา ไม่มีการไปสอบเป็นผู้พัน ผู้การ แต่ทำไมข้าราชการทำได้ เมื่อข้ามขั้นไปมาก็ทำให้อยู่นานหลายปี ซึ่งตนก็จะไปพิจารณาใหม่ว่าจะทำอย่างไร อย่างทหารมีระเบียบอย่างชัดเจนที่แต่ละชั้นยศต้องอยู่ไม่เกิน 3 ปี ไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ความเป็นธรรมสำคัญที่สุดเพราะอาจนำไปสู่การทุจริต การร่วมมือ การลัดขั้นตอน เพราะทุกคนต่างก็หวังความก้าวหน้า
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนปัญหาอาหารจากเดียวราคาแพง แบบที่ถูกก็มี แต่ถ้าแพงจนเกินไปรับไม่ได้ก็ต้องมาว่ากัน ตนไม่ได้รัฐประหารมาเพื่อสั่งทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นอีกหน่อยต้องสั่งว่ากินข้าวคนละ 10 คำ กินข้าวจานละ 20 บาททั้งหมด เรื่องนี้ต้องดูทั้งต้นทุนและคุณภาพด้วย ตรงไหนถูกก็กินตรงนั้นจึงเรียกว่าเป็นความพอเพียง ตอนนี้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูแล้ว รมว.พาณิชย์ถึงกับต้องลงไปในครัวเพื่อดูว่าเอาเนื้ออะไรลงไปทำ ตนไม่อยากอำนาจในลักษณะนอกระบบที่ไม่เกิดประโยชน์เอาแต่เรื่องที่จำเป็น
ส่วนมาตรฐานความโปร่งใสในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างวันนี้ต้องมีความชัดเจนขึ้น วันนี้การทำโครงการต้องลดราคาลงเพราะน้ำมันถูกลง แต่ถ้าอย่างอื่นขึ้นก็ต้องไปดู ตอนนี้ได้สั่งการให้สำนักงบประมาณไปตรวจสอบแล้วในเรื่องการเปิดประมูลว่ามีระยะเวลากี่วัน ถ้านานเกินไป อะไรที่ทำให้เร็วขึ้นและเข้าถึงประชาชนมากขึ้นเราต้องการให้ทำได้ วันนี้ที่ตนทราบมีหลายโครงการที่ออกไม่ได้เพราะทำแผนไม่ได้ งบประมาณจึงยังออกไม่ได้ ยังติดขัด นอกจากนี้อยากให้มีการปรับปรุงการสรุปเอกสารให้เป็นแบบสั้นๆ เข้าใจง่าย ตนอ่านมา 10 หน้า สรุปอยู่หน้าสุดท้ายนิดเดียว เพื่อเป็นการลดเวลา เรื่องนี้ต้องทำใหม่และสอนเด็กรุ่นหลัง
“อย่ากังวลว่าที่ผมเข้ามาบริหารประเทศจะเข้ามาเปลี่ยนขั้วอะไร ผมไม่เคยมีขั้ว แต่เป็นธรรมดาที่จะมีคนรู้จักกัน พี่ก็คือพี่ น้องก็คือน้อง วันเดียวนาทีเดียวก็คือรู้จักอย่าไปกังวล ตราบใดที่เราสุจริต ผมไม่เคยไปขอสตางค์ใคร แต่ถ้าใครนำชื่อผมและ ครม. ไปแอบอ้าง ต้องไปเอาตัวมา 30-50 เปอร์เซ็นต์ให้ไปหามา ถ้าเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ยิ่งหนักเลย ต้องเอาตัวไปประหาร ผมไม่ยอม” นายกฯ กล่าว
วันหน้าจะมีกระทรวงดิจิตอล การเชื่อมโยงเทคโนโลยีสารสนเทศข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการสื่อสารของเรายังไม่ทันการและทั่วถึงไม่สามารถสร้างการยอมรับในสังคมได้ เราต้องพัฒนาแข่งกับต่างประเทศด้วย วันนี้ถ้าเราเริ่มก็ต้องมีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชาติ ส่วนที่มีข้อถกเถียงกันกรณีพรบ.ความมั่นคงปลอยภัยไซเบอร์นั้น มีการเขียนใหม่แล้ว เขาเขียนเร็ว เพราะเกี่ยวเนื่องเชื่อมกับการทำงานของกระทรวง ไม่อย่างนั้นจะเดินหน้าไม่ได้ วันหน้ามีรัฐบาลก็เดินหน้าไปได้ วันนี้อยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ดีขึ้นกว่าเดิมเพราะเรามีช่องทางเยอะ บางเรื่องอยากให้มีการเปิดเผยล่วงหน้า อย่างเช่นการจัดซื้อจัดจ้าง เหมือนกับที่ตนอยากให้ประชาชนรู้ว่าตนวางยุทธศาสตร์ประเทศอย่างไร
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เช้ามาง่วงทุกวัน กลางคืนนอนไม่หลับ และไม่เคยฝันดีเลย ฝันแต่ว่าเช้ามาจะโดนอะไรหรือเปล่า และจะแก้ยังไง เพราะตนมีศักดิ์ศรียอมไม่ได้ แม้จะเป็นนายกฯ ก็เป็นนายกฯ ที่ไม่เหมือนคนอื่น จนลืมไปแล้วว่ามายืนตรงนี้ได้อย่างไร