xs
xsm
sm
md
lg

3 พรรคใหญ่ประสานเสียงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทำอ่อนแอ "สมชัย" เปรียบชาติถอยหลัง 70 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง (ภาพจากแฟ้ม)
ถกปฎิรูปเลือกตั้ง “ถอยหลัง-เดินหน้า” ปชป.-พท.-ชทพ. ประสานเสียงร่าง รธน. ใหม่ย้อนยุค ทำพรรคการเมืองอ่อนแอ ชี้ให้มีกลุ่มการเมืองเป็นระบบลิงแก้แห หวั่นวงจรอุบาทว์หวนคืน แนะแก้ไข ด้าน "สมบัติ" ห่วงระบบเลือกตั้งใหม่ทำตั้งรัฐบาลผสมไม่เสร็จใน 30 วัน ซ้ำรับรอง ส.ส. ไม่ได้ครบร้อยละ 90 เหตุอาจมีปัญหาฟ้องร้อง ด้าน "สมชัย" ให้คะแนนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ถอยหลังถึง 70 ปี กมธ. ยกร่างฯ ยังยันร่างรัฐธรรมนูญใหม่พลเมืองเข้มแข็ง

วันนี้ (24 เม.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ปฏิรูปเลือกตั้ง... ถอยหลังหรือเดินหน้า” โดยมี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ นางถวิลวดี บุรีกุล นางสุภัทรา นาคะผิว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เข้าร่วมเสวนา

โดยนายสมบัติ กล่าวว่า การเขียนรัฐธรรมนูญมีมิติเยอะที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจ ถ้ารัฐบาลชุดต่อไปมาขับเคลื่อนประเทศอาจทำให้เห็นข้างหน้าหรือข้างหลังได้ ซึ่งหวังจะเป็นเช่นนั้นในการปฎิรูป แล้วตนไม่เคยเห็นในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อนที่มีการกำหนดเอาไว้ครอบคลุมไปหมด ในส่วนเรื่องของการเลือกตั้งนั้นในรัฐธรรมนูญสิ่งที่กังวลเกรงว่า ภายใน 30 วันจะไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ หรือการให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ก็จะทำให้ระดับความเป็นประชาธิปไตยลดลง เรากำลังอ้างมาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจของบุคคล การร่างรัฐธรรมนูญแค่เทคนิคกฎหมายไม่ได้ต้องใช้หลักการและปรัชญารัฐศาสตร์ด้วย อย่างไรก็ตามตนกังวลว่า สูตรรัฐบาลผสมจะทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลภายใน 30 วัน แล้วยังไม่สามารถมี ส.ส.ได้ครบ 90 เปอร์เซ็นตร์ เนื่องจากอาจมีปัญหาการรับรอง ส.ส.แบบแบ่งเขตที่อาจมีปัญหาฟ้องร้องกันอยู่ เรื่องนี้จะกระทบต่อการประกาศรับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ไม่สามารถประกาศรายชื่อตามมา หรือส.ส.จะประกาศรายชื่อไม่ได้เลย ตรงนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่เป็นความยุ่งยากที่เราไปนำรูปแบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันนีมาใช้ ในทางปฎิบัติจะให้คนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนแล้วให้เข้ามาใช้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ เว้นอำนาจตุลาการที่ไม่เคยให้ประชาชนตั้งแต่ต้นมาตลอด แล้วการนำคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ขัดต่อหลักประชาธิปไตยที่ไม่ได้เป็นของปวงชน แต่มีคนบอก หากมีสถานการณ์วิกฤตขึ้นก็ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ แล้วเสนอให้ทำประชามติเพื่อจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่ เหล่านี้เป็นตัวอย่างข้อกังวลในรัฐธรรมนูญใหม่

“ปัญหาบริบทของบ้านเขาไม่เหมือนบ้านเรา ถ้ามีปัญหาเช่นนี้ การประกาศรายชื่อ ส.ส.ให้ครบ 90 เปอร์เซ็นตร์ภายใน 30 วันคงไม่ทัน ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ทันเช่นกัน” นายสมบัติ กล่าว

ด้านพล.ท.นาวิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องการให้มีกลุ่มการเมืองใหม่ขึ้นมา แล้วต้องการให้เกิดความโปร่งใสให้ความสำคัญกับเสียงของพลเมืองทุกคน ที่ไปใช้สิทธิแล้วให้มีค่ากลับมา ระบบได้มา ส.ส. ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างเดียว ปัจจัยยังมีอีกเยอะที่จะมีผลมากกว่าหรือเท่ากับการเลือกตั้ง เราพยายามสร้างในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้พลเมืองเข้มแข็งในตัวเอง การซื้อสิทธิขายเสียงจะน้อยลง

“ส.ส.ต้องเป็นผุ้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่มีหน้าที่ไปลำเอียงให้เขตหรือจังหวัดนี้ แล้วหน้าที่ของ ส.ส.ก็ต้องมากลั่นกรองออกกฎหมายให้กับประเทศ เดิมประชาชนต้องวิ่งเข้าหา ส.ส. เพราะเขามีเงิน ที่มาจากการแปรญัตติงบประมาณประจำปีแล้วนำมาลงพื้นที่ ครั้งละ 3-4 หมื่นล้านนำไปลงพื้นที่ ถ้าผมเป็นพลเมืองในพื้นที่ก็ต้องวิ่งหาคนมีเงิน แต่รัฐธรรมนูญนี้ไม่มี ตัดไปหมดแล้ว ถ้าสังเกตจะเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะโยงไปหมดในทางตั้ง ทางนอน ทางขวาง แล้วต่อไปเงินก็ไม่ต้องไปอยู่ที่กรม แล้วไม่ต้องมีการเบิกเงินผ่านทางกรม ผู้ว่าฯ มีการทอนเงินกันไปตลอดทาง ต่อไปเงินก็จะมาจากงบประมาณเชิงพื้นที่แทน นอกจากนี้รัฐมนตรีห้ามมาจาก ส.ส. แล้วทำให้ทุกคนวิ่งไปลงปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ต้องหาเสียงนอนรอให้พรรคชนะก็จะมาเชิญเอง ขณะที่ภาคตรวจสอบภาคพลเมืองก็จะเข้ม แข็ง ดังนั้นบริบทปฎิรูปการเลือกตั้ง ถอยหลังหรือเดินหน้ามันต้องมองไปมากกว่าการเลือกตั้ง” คณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าว

ด้านนายสมชัย กล่าวว่า การที่เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นตอบโจทย์ประเทศไทยได้หลายอย่าง ทำให้การซื้อเสียงยากขึ้น ตนเห็นว่าเป็น ความก้าวหน้า ส่วนมาตรา 103 ใช้การลงคะแนนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตนตกใจพอสมควร เพราะประเทศไทยไม่เคยมี เพราะจะเอาต้นทุนมาจากไหน แต่อเมริกา อินเดียเขาทำกันไปแล้ว ซึ่งจะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อถือโดยเฉพาะนักการเมือง ถือว่า คิดไกลก้าวหน้าอย่างมากเป็นการเตรียมการรองรับอนาคต ระบบการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ พลเมืองเป็นใหญ่อย่างแท้จริง เพราะมีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าเดิม แต่ยากต่อความเข้าใจของประชาชน และก็ยากสำหรับ กกต.

“ผมทำโจทย์ทุกอย่างไว้หมดแล้วเป็นประเด็นความก้าวหน้าเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ใช้เวลานับคะแนนมากขึ้นกว่า การคำนวณ ส.ส.ใช้บัญชีรายชื่อเป็นหลัก ทำให้เสียงประชาชนมีความหมาย การให้ กกต. ไม่มีอำนาจใบแดง ถอยหลังสิบปี ส่วนการประเมินผล กกต. ถือว่า เป็นข้อดีสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ โดยรวมทั้งหมดผมให้คะแนนความก้าวหน้า 40 ปี ถอยหลัง 70 ปี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถอยหลังเรื่องการเลือกตั้งไป 30 ปี อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 พ.ค. จะมีการทดลองการลงคะแนนเสียงแบบโอเพ่นลิสต์ ที่สำนักงาน กกต.”

นายสมชัย กล่าวถึง การเสนอให้มี กจต. ต้องมาจากองค์กรที่เป็นกลาง ไม่ใช่ข้าราชการประจำ เนื่องจากอยู่ในอำนาจของนักการเมือง ต้องสร้างกลไกปลอดจากการเมือง ให้ประชาชนเสนอชื่อ ตรวจสอบประวัติ ดังนั้นขอเสนอว่า เอามาตรา 308 เอาออกไปก่อน ทาง กกต. ยินดีให้จัดการเลือกตั้งเหมือนเดิม ครั้งต่อไปค่อยมี กจต. เหมือนเอาอาวุธนิวเคลียร์ให้คนที่ไม่เป็นกลางมาจัดการ ที่สำคัญต้องออกแบบกระบวนการที่เชื่อถือได้ กกต.เตรียมการทุกอย่างพร้อมจัดการเลือก หากการออกแบบเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้แล้วคนออกแบบต้องรับผิดชอบด้วย

ขณะที่นางสุภัทรา กล่าวว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญ เราออกแบบเชิงโครงสร้าง มีการเชื่อมโยง ทุกภาคส่วน ส่วนเรื่อง กจต.เป็นหลักการ แบ่งแยกอำนาจจัดการเลือกตั้งกับผู้ควบคุมการเลือกตั้ง มาตรา182 อยากให้เครื่องมือของฝ่ายบริหารเดินหน้าต่อไปได้ ช่วยเสริมความเข้มแข็ง แก้ไขเชิงโครงสร้างทำให้เกิดความปรองดอง เพื่อให้เกิดการปฎิรูปประเทศ อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามถ้าเรามีโอกาสทบทวนและพิจารณาก็จะไปดำเนินการ ทางกรรมาธิการไม่ได้ปิดหูแต่อย่างใด

ขณะที่ตัวแทนพรรคการเมืองนายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญมาครบทั้งฉบับ 315 มาตราแล้ว ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เรามุ่งพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นแบบ 2 พรรค เพื่อให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เพื่อให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง แต่มาวันนี้พรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง ประชาธิปไตยก็เข้มแข็งไม่ได้ เรากำลังจะยูเทิร์นกลับไป 360 องศากำลังเดินกลับไปจุดเดิมที่ก้าวข้ามมาแล้ว แล้วการจำกัดอำนาจประชาชนเหลือสิทธิ์แค่คนเดียว พรรคการเมืองจะอ่อนแอ ส่วนนายกคนนอกนั้น ตนไม่ติดใจในภาวะวิกฤต เป็นข้อยกเว้นไมใช่หลักการ หลักการนายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชน

“การออกแบบรัฐธรรมนูญย้อนยุคกลับไปในอดีต เพิ่มอำนาจให้กลุ่มการเมืองมากเป็นพิเศษมากกว่าพรรคการเมือง ถือเป็นระบบลิงแก้แห ใช้ระบบโอเพ่นลิสต์ การห้ามพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวถ้ามีการทุจริตของนายก เพราะต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็ง เราจะได้รัฐบาลเบี้ยหัวแตก มีนายกที่เหลิงอำนาจ วงจรอุบาทว์ก็จะย้อนกลับคืนมาอีกครั้ง” รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าว

ส่วนนายสามารถ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ มีปัญหาต่อการจัดตั้งรัฐบาล คณะรัฐมนตรี มีการต่อรองของกลุ่มต่างๆอาจต้องเข้าไปคุยกันในห้องน้ำ ตรงนี้จึงมองว่า การเขียนรัฐธรรมนูญต้องการให้ทุกคนเห็นนักการเมืองเป็นผู้ร้าย ทำให้มีปัญหาแก้ไม่ได้ในที่สุดวงรอุบาทว์ก็จะกลับมาอีก

“ผมพูดจากประสบการณ์แล้วมีความเป็นห่วง ในฐานะผู้ปฏิบัติ ไม่ไปโจมตีคนเขียนหรอก แต่มองว่า การเขียนจากความฝันว่า มันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ในทางปฎิบัติมันไม่จริงหรอก แล้วยังมีคณะกรรมการขึ้นอีกเยอะแยะที่ดูแลคุณธรรม จริยธรรม ผมขอถามว่า มนุษย์เหล่านี้จะเอามาจากไหนที่เป็นธรรมเที่ยงตรง เขียนได้ครับภาพสวยงาม แต่เวลาไปปฎิบัติมันจะเป็นปัญหา ตรงไหนที่เป็นปัญหาขอให้ไปช่วยแก้ไข ทั้งสปช ครม. คสช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 315 มาตรา อะไรที่รับได้ก็ได้ อะไรไม่ได้ ขอให้ได้ช่วยกันทบทวน” อดีตรองประธานสภาฯ พรรคเพื่อไทย กล่าว

นายนิกร กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่การปฎิรูป แต่มองได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เกิดจากปัญหาการเสียดุลยภาพของการเมือง ขณะที่ปัญหาของสังคมไทยมีความแตกต่างกันเป็นลักษณะพหุนิยม ปัญหาเกิดมานานแกะไม่หลุด ส่วนปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงก็ยังมีอยู่ หรือปัญหาเสียงข้างมากที่ต้องเป็นผู้ปกครองนี้คือ ความขัดแย้งของระบบปัญหาของการเมืองไทย

“เป้าหมายตอนนี้ คือทำให้พรรคการเมืองเล็กลงมีเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดการแตกตัว สิ่งเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางการเมือง เพื่อให้มีการกระจายออกมีความอ่อนแอจึงใส่ลงไป เพื่อสร้างดุลภาพขึ้นมาใหม่คือให้อ่อนแอโดยรวม” นายนิกร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น