xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯคนนอก “ประตูฉุกเฉิน” หาช่องลดวงจร “รัฐประหาร”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
เป็นไปตามคาด สุดท้ายคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เลือกใช้การเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ในประเทศไทย หลังก่อนหน้านี้ กมธ.หลายคนออกมาโยนหินเรียกน้ำย่อยเอาไว้

และเป็นไปตามคาดที่ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะรวมการเฉพาะกิจออกมาขย่มกมธ.ยกร่างฯ อย่างต่อเนื่อง ในฐานะพรรคใหญ่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากระบบดังกล่าว ทั้งจำนวนส.ส.เขตที่ลดลง และปริมาณส.ส.ที่ต้องลดลงไปตาม

พรรคที่ได้ประโยชน์ น่าจะเป็นพรรคขนาดกลางและพรรคเล็ก ที่จะได้เข้ามามีตัวตนในสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านีรับบทเป็นเพียงตัวประกอบที่ต้องคอยเฮโลไปตามพรรคใหญ่ ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องคอยเป็นไผ่ลู่ลม เพียงเพื่อรอให้เขาจัดสรรและเกลี่ยผลประโยชน์มาให้ โดยเฉพาะเก้าอี้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างที่แล้วๆ มา

ส่วนพรรคที่เสียประโยชน์เต็มๆ คือ พรรคขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนกมธ.ยกร่างฯจงใจใช้วิธีนี้เพื่อทำลายการผูกขาดอำนาจของสองพรรคการเมืองมหาอำนาจในประเทศไทยให้คนได้มีตัวเลือกมากกว่าเดิม ไม่ใช่มีแค่ “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” ตามความคิดของคนที่ผ่านมาคือ ไม่เลือกเราเขามาแน่ หรือเกลียดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เลยต้องเลือกอีกฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกันโดยอัตโนมัติ

ขณะเดียวกัน ระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะส่งผลให้เกิด “รัฐบาลผสม” โดยธรรมชาติ เพราะไม่มีอีกแล้วที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะกวาดส.ส.แบบทิ้งคู่แข่งไม่เห็นฝุ่นเหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่ทุกคะแนนจะนับจากความนิยมจริงๆ โดยถัวเฉลี่ยไปยังพรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก ทุกคนมีโอกาสเข้ามาอย่างเท่าเทียม

แต่ระบบดังกล่าวจะตอบโจทย์ประเทศไทยได้จริงหรือไม่ เพราะพลวัตของเยอรมันและประเทศไทยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ที่เยอรมันประสบความสำเร็จเพราะประชากรตรงไปตรงมา ในขณะที่ประเทศไทยเอง นักการเมืองเองเหลี่ยมคูเชี่ยวกราก จ้องหาช่องซ๊อกแซ๊กอย่างเดียว

แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยที่ถูกจำกัดพื้นที่จะต้องหาช่องดิ้นเพื่อกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากที่จะออกไปทำพรรคนอมินี แล้วมาโกยคะแนนในภาคเหนือและภาคอีสานที่เป็นฐานเสียงสำคัญอยู่แล้ว โดยใช้ “ทักษิณ” เป็นแบรนด์หากินเหมือนเดิม และเมื่อแต่ละพรรคสามารถโกยคะแนนเข้าไปในสภาได้ ก็จะกลับไปรวมตัวกันอีกครั้งในนามพรรคร่วมรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน และรวมกันตี”

ดังนั้น ต่อให้สร้างระบบที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถขจัดวงจร “นอมินี” ได้ การเมืองไทยก็ยังย่ำอยู่กับที่ ไม่ได้ขยับเขยื้อนไปไหน

สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างได้อย่างเดียวสำหรับพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กนั่นคือ จะเล่นตัวและต่อรองได้มากขึ้น เพราะเสถียรภาพของพรรคใหญ่จะไม่มั่นคงอีกต่อไปเมื่อใช้ระบบนี้แล้ว อยู่ที่ว่า บรรดาพรรคไซส์เล็กจะต่อรองไปในทางสร้างสรรค์หรือเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง
 
หากเป็นอย่างหลังการเมืองไทยจะบรรลัยกว่าเดิมแน่

อีกเรื่องที่ฮือฮา กรณีกมธ.ยกร่างฯ เคาะแล้วว่า ไม่บังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรคก็ได้ ในทางทฤษฎีถือว่า เป็นการเปิดโอกาสให้กับบุคคลต่างๆ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ทางการเมือง ไม่มีเครือข่าย ตัวแทนชนเผ่า กลุ่มวิชาชีพ ได้ลงมาแข่ง ไม่ใช่ปล่อยให้มีเฉพาะนักการเมืองอาชีพเท่านั้น

แต่สภาพความเป็นจริง เป็นเรื่องยากที่คนเหล่านี้จะสามารถเข้าวินในสนามเลือกตั้ง เพราะเสียเปรียบบรรดาพรรคการเมืองที่มีทั้งทุน ฐานเสียง ดังนั้น การจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้คือ วิ่งเข้าไปเป็นสมาชิกการเมืองเพื่อเพิ่มโอกาสในเวทีแห่งนี้

ส่วนเรื่องที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดขณะนี้ คงไม่พ้นการไม่เขียนบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.เสมอไป จนถูกตีความกันว่า เป็นการหาช่องให้ฝ่ายกุมอำนาจในปัจจุบันสืบทอดอำนาจต่อหลังจากเข้าโหมดประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งปกติ

ในประเทศประชาธิปไตยถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะผู้นำไม่ได้มาจากเลือกของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม โดยวิถีการเมืองไทยแล้ว ส.ส.ที่เข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรย่อมรู้จุดนี้ดี และย่อมไม่เลือกคนที่พวกเขารู้สึกว่า มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น และย่อมเสนอชื่อส.ส.ในพรรคของตัวเองมากกว่า เชื่อขนมรอได้เลยว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปย่อมมาจากพรรคการเมือง ยกเว้นเกิดรัฐประหารซ้อน

แต่ที่กมธ.ยกร่างฯ เขียนเอาไว้ปลายเปิดแบบนี้ ส่วนหนึ่งมาจากบทเรียนในอดีต โดยเฉพาะตอนที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภา ตอนนั้นรัฐบาลไม่มีอำนาจตัดสินใจในทางกฎหมายใดๆ แต่เลือกจะนั่งแช่อยู่โดยไม่ยอมลาออกตามที่ม็อบเรียกร้อง จนเกิดสูญญากาศในประเทศ มีความเสียหายมากมายเกิดขึ้น โดยอ้างความชอบธรรมในการอยู่ต่อว่า ไม่มีกฎหมายเขียนเปิดให้ตีชิ่งตามคำร้องขอได้

ม็อบกปปส. รวมถึงนักวิชาการมากมายเสนอให้ใช้มาตรา 7 เป็นทางออกโดยยึดเอาประเพณีการปกครองในอดีตมาใช้ แต่อีกฝ่ายมองว่า เนื้อหาของมาตราดังกล่าวเขียนครอบจักรวาลเกินไป จนถกเถียงกันไปมาไม่มีข้อสรุป สุดท้ายต้องหาทางออกด้วยการทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญโดยอัตโนมัติ

เป็นเหตุให้ประเทศไทยกลายเป็นชาติที่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุด “ดร.ปื๊ด” นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯจึงเห็นว่า ควรจะเปิดช่องหาทางออกให้ประเทศไทยเอาไว้ในยามวิกฤต เพื่อไม่ให้ต้องลงเอยด้วยการรัฐประหารทุกครั้งไป แล้วต้องมานั่งเสียเวลาเขียนกฎหมายกันใหม่ทุกครั้ง

เหตุนี้เองจึงต้องสร้าง “ประตูฉุกเฉิน” เอาไว้กันเหนียว!!!

ผลพวงจากการเขียนประตูฉุกเฉินเอาไว้ ยังจะทำให้รัฐบาลต่อๆ ไปเลิกใช้วิธีการหนีด้วยการยุบสภา และอ้างว่า ต้องทำหน้าที่รักษาการตลอดไปเรื่อยๆ

สถานการณ์ตอนนี้ที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการชี้แจงความเข้าใจของฝ่ายที่รับผิดชอบที่ยังอ่อนเกินไป ไม่ได้ทำในเชิงรุกนอกเสียจากการชี้แจงหลังจากมีการตั้งคำถามมาจากภาคส่วนต่างๆ เท่านั้น

ต้องทำให้สังคมหายสงสัย และเข้าใจว่าการเขียนไว้อย่างนี้เพื่อป้องกันวิกฤต แต่ไม่ใช่การบังคับว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากคนนอกอย่างที่พรรคการเมืองพยายามเสี้ยมอยู่

ไม่เช่นนั้นเจตนารมย์และข้อเสนอที่ต้องการให้เป็น อาจกลายเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาให้พรรคการเมืองที่จ้องรุมขย้ำนำไปขยายแผลจนเกิดเป็นประเด็นใหญ่โตขึ้นมา บัดนั้นข้อเสนอดังกล่าวอาจหล่นร่วงไปในที่สุด

คนที่รับผิดชอบต้องสำเนียกว่า สังคมไม่ได้มีคนที่เห็นด้วยกับกมธ.ยกร่างฯเสมอไป แล้วยิ่งบางฝ่ายมองว่า เขียนเพื่อให้เอื้อประโยชน์พวกเดียวกันและกีดกันฝั่งตรงข้ามแล้ว ต้องอุดตรงนี้ให้ได้

ไม่อย่างนั้น เสร็จแน่!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น