xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ชู รธน.เด่นกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม มุ่งแก้ปัญหาท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อภิปรายร่าง รธน.วันที่ 5 กมธ.ยกร่างฯ ชม รธน.มีจุดเด่นกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของ ปชช. แนะเอาอย่างจีน แจง รธน.มีฐานคิดจาก รธน.50 มุ่งแก้ปัญหาท้องถิ่น 8 ประการ

วันนี้ (24 เม.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) เป็นวันที่ 5 มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุม โดยในวันนี้ได้มีการพิจารณาในภาค 2 หมวด 7 การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น โดยประธานได้เชิญ กมธ.ยกร่างฯ ขึ้นชี้แจงในหมวดนี้

นายกระแส ชนะวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ตนเคยเป็นพนักงานเทศบาลจึงมีโอกาสทำความเข้าใจการปกครองท้องถิ่นในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศจีนในปัจจุบันก็กำลังพัฒนาการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจให้ประชาชนดูแลตนเองได้เป็นสิ่งที่สมควรให้การสนับสนุน รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดเด่นในการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น 4 ประการ หรือ 4 เสาหลักของการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น คือ 1. การทำให้การปกครองบริหารท้องถิ่นไม่เป็นสิ่งลึกลับ ตรวจสอบได้ 2. การทำให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงและโดยอ้อมมากขึ้น 3. การกระจายอำนาจไปสู่การปกครองท้องถิ่นอย่างชัดเจนมากขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น 4. การทำความชัดเจนในการให้งบประมาณทรัพยากรท้องถิ่น ภาษีจะได้เป็นงบประมาณของท้องถิ่นมากขึ้น

ด้านนายวุฒิสาร ตันไชย กมธ.ยกร่างฯ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีฐานคิด คือ ดำรงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีการพัฒนาการปกครองท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมุ่งแก้ปัญหาการปกครองท้องถิ่นในอดีต เช่น เรื่องการทับซ้อนของอำนาจหน้าที่ การได้มาของผู้บริหาร และมีสาระสำคัญ 8 ประการ คือ 1. การเปลี่ยนชื่อองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นองค์กรบริหารท้องถิ่น เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงจากการบริหารแนวดิ่งเป็นแนวราบ คงเจตนารมณ์ความเป็นอิสระขององค์กรบริหารท้องถิ่น มีการดูแลพอประมาณเพื่อให้ทำงานได้ และเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารงานสาธารณะ ในฐานะองค์กรแรกที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด 2. การขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรบริหารท้องถิ่นให้มากขึ้น ในการจัดทำบริการสาธารณะ พัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ดูแลสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม 3. การกำหนดความหลากหลายขององค์กรบริหารท้องถิ่นตามภูมิสังคม เพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาองค์กรบริหารท้องถิ่นในอนาคต เช่น การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4. หลักประกันความเป็นอิสระ ให้กำกับดูแลเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาประโยชน์ของสาธารณะโดยรวม และพิจารณาถึงความก้าวหน้า

นายวุฒิสารกล่าวต่อไปว่า 5. การมีส่วนร่วมของประชาชน หมายรวมถึงสิทธิในการเสนอข้อบัญญัติ ถอดถอน รับรู้ข้อมูลข่าวสาร อาจรวมไปถึงการทำประชามติ และต้องมีการรายงานผลการบริหารท้องถิ่นให้ประชาชนทราบทุกปี ส่วนสมัชชาพลเมืองคือพื้นที่ในการมีส่วนร่วมในการบริหารงาน ทำให้การเมืองท้องถิ่นเป็นการเมืองที่มีการประนีประนอม อย่างเช่นปัจจุบันใน จ.ขอนแก่น มีสภาพลเมืองขอนแก่น ที่การตัดสินใจของผู้บริหารจะรับฟังสภาพลเมืองก่อน ทำให้เป็นประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ 6. การบริหารงานบุคคล มีการกำหนดสถานะจากที่บางแห่งเป็นพนักงาน บางแห่งเป็นข้าราชการ ให้เป็นข้าราชการเหมือนกัน สามารถโยกย้ายข้ามประเภทได้ และการสร้างระบบคุณธรรม 7. การจัดทำกฎหมายการบริหารองค์กรบริหารท้องถิ่น 8. ในส่วนการปฏิรูป ให้ออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัด และให้มีคณะกรรมการกระจายอำนาจแห่งชาติ











กำลังโหลดความคิดเห็น