xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.สปช.แย้มให้เวลาเพิ่มซักฟอก รธน.ประเด็นเด่น ชี้เร็วไปพูดจะทำประชามติหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ แย้มปรับเวลาซักฟอกรัฐธรรมนูญแบ่งให้ประเด็นที่น่าสนใจพิเศษ เน้นไม่วกวน ขอนักการเมืองรอเห็นร่างฉบับทางการก่อน บอกเร็วไปจะพูดทำประชามติหรือไม่ แนะควรเน้นเนื้อหา แถมยังไม่มีทางออกหาก สปช.หรือ ประชาชนไม่เอาร่าง รับไม่สามารถเดาใจสมาชิกจะคว่ำร่างหรือไม่ได้

วันนี้ (16 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีการประชุม สปช.เพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย.ว่า ในฐานะประธาน สปช.ยืนยันวันนี้ ยังไม่มีการเรียกตัวแทนคณะกรรมาธิการปฏิรูปแต่ละคณะมาหารือเรื่องการอภิปรายทั้งในและนอกรอบ ต้องรอเห็นร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 เม.ย.ก่อน หลังจากนั้น กมธ.ปฏิรูปแต่ละคณะจะส่งประเด็นที่ต้องการอภิปรายมาให้ตน แต่ระหว่างวันที่ 17-19 เม.ย.เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเรียกประชุมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปแต่ละคณะ เพื่อเรียบเรียงประเด็นที่จะอภิปรายต่อที่ประชุม และอาจมีการปรับเวลาการอภิปรายใหม่ เพื่อแบ่งเวลาให้กับประเด็นที่สมาชิกให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ และต้องมีการเรียบเรียงประเด็นการอภิปรายให้มีความต่อเนื่อง ไม่วกวนไปมา เพื่อความเข้าใจของสมาชิก สปช.และประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายเทียนฉายตอบว่า ขอให้นักการเมืองรอเห็นร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการก่อน เมื่อเห็นแล้วอาจเพิ่งรู้ตัวว่าที่เคยวิจารณ์นั้นไม่ตรงประเด็น ส่วนตัวเห็นว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องการทำประชามติ เพราะวันนี้เรื่องการประชามติยังไม่ใช่พระเอก แต่ควรให้ความสำคัญเรื่องเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญก่อน

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายอยากให้ทำประชามติเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม นายเทียนฉายตอบว่า เรื่องนี้เป็นสองด้านคือ การสร้างความชอบธรรมด้วยการทำประชามติ หรืออาจเป็นการสร้างความไม่ชอบธรรมจากการทำประชามติ เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบว่า จะทำประชามติทั้งฉบับแบบปี 2550 หรือจะทำประชามติเป็นรายมาตรา หากทำเป็นรายมาตรา และไม่ผ่านบางมาตรา จะแก้ปัญหากันอย่างไร หรืออีกปัญหาหนึ่งคือ หาก สปช.เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร หรือถ้าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ แต่ สปช.ไม่เห็นชอบด้วย จะทำอย่างไร ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีการหาทางออกกันไว้ จึงไม่ควรนำเรื่องประชามติมาพูดกันตอนนี้

นายเทียนฉายกล่าวว่า ส่วนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่จะถูกอภิปรายมากคงไม่ต่างจากที่คาดการณ์กันคือ เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ที่มา ส.ว. และระบบเลือกตั้ง ส่วนประเด็นเหล่านี้จะนำไปสู่การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ ต้องรอดูหลังจากการอภิปรายในวันที่ 26 เม.ย.ไปแล้ว ไม่สามารถเดาใจความเห็นของสมาชิก สปช.ได้ เพราะทุกคนมีวิจารณญาณของตัวเอง

อีกด้านหนึ่ง เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา นายเทียนฉายได้ลงนามในคำสั่ง เรื่อง แนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสปช. โดยมีสาระสำคัญคือ การอภิปรายจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 - 26 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. ยกเว้นในวันที่ 23 เม.ย. ที่จะเริ่มอภิปรายเวลา 14.00- 21.00 น. สำหรับการแบ่งเวลานั้น ทางกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะได้เวลาทั้งสิ้น 15 ชั่วโมง โดยในวันแรกของการอภิปราย จะได้เวลาชี้แจงในภาพรวม จำนวน 2 ชั่วโมง และเวลาชี้แจงอีก 1 ชั่วโมง ขณะที่ลำดับการอภิปรายของ สปช. นั้นแบ่งเป็นในส่วนของประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูป ทั้ง 18 คณะ คณะละ 30 นาที รวมเป็น 9 ชั่วโมง และเวลาที่เหลืออีก 55 ชั่วโมงนั้น จะจัดสรรให้สมาชิก สปช. ที่แสดงเจตจำนงอภิปราย

เบื้องต้นจะมี สปช. ที่ได้รับสิทธิ์ 208 คนเพราะไม่นับสมาชิกที่ดำรงตำแหน่ง ประธาน สปช., รองประธาน สปช. และ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สปช. จะได้รับเวลาอภิปรายเบื้องต้น คนละ 15.8 นาที แต่หากมีผู้อภิปรายน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวจะได้รับเวลาอภิปรายมากขึ้น ขณะที่ลำดับการอภิปรายจะเรียงลำดับไปตามบท ภาคและหมวดของร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก สำหรับเหตุผลของการปรับหลักเกณฑ์การอภิปรายนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการอภิปรายในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น