xs
xsm
sm
md
lg

“เทียนฉาย” แจงกรอบสมาชิก สปช. ถกร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน สปช.แจงกรอบให้สมาชิกฯ อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่ระบุจะรับร่างฯ เมื่อไหร่ พร้อมส่งให้สมาชิกทันทีหากร่างรัฐธรรมนูญมาถึง

วันนี้ (30 มี.ค.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แจ้งต่อที่ประชุม สปช.ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ถึงกำหนดการประชุม สปช.เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่า ในวันที่ 20-26 เมษายนจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. หากจำเป็นก็อาจจะยืดหยุ่นถึง 24.00 น. ทั้งนี้ในวันที่ 23 เมษายนจะเริ่มประชุมเวลา 14.00 น. เนื่องจากช่วงเช้า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะใช้ห้องประชุม

อย่างไรก็ตาม การกำหนดเวลาประชุมต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย เพื่อไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนด คือ สปช.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 10 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทั้งนี้ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะได้รับร่างรัฐธรรมนูญมาในวันใดเนื่องจากกรรมาธิการยกร่างฯ สามารถแก้ไขได้จนถึงวันสุดท้าย และเมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ สปช.ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วต้องจัดทำสำเนาให้สมาชิกฯ ขอให้สมาชิกฯ แจ้งข้อมูลด้วยว่าจะรับด้วยตนเองหรือไม่เพื่อไม่ต้องส่งเอกสารหรือสำเนาเอกสารที่ต้องใช้ประชุมไปทางไปรษณีย์

นายเทียนฉายยังได้รับข้อเสนอของ สปช.ที่ให้ความเห็นต่อการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติ เพราะในหลายประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญ สปช.จำนวนมากนั้นไม่เห็นด้วยว่าจะรับไปพิจารณาแต่ต้องคำนึงถึงกรอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่การเสนอญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมีเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่าต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จะหมายถึงมีผู้เสนอญัตติจำนวน 1 คน และต้องมีผู้รับรอง 25 คน รวมในหนึ่งญัตติต้องมีรายชื่อสปช. จำนวน 26 คน

ขณะที่ น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 ชี้แจงถึงการจัดลำดับอภิปรายด้วยว่าจะให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะเป็นผู้ที่อภิปรายก่อน ส่วนกรรมาธิการปฏิรูปชุดใดจะได้สิทธิ์อภิปรายก่อนจะใช้วิธีจับฉลาก ขณะที่ในส่วนการอภิปรายของกรรมาธิการปฏิรูปนั้นจะเรียงลำดับ คือ ประธานกรรมาธิการหรือผู้ที่ประธานกรรมาธิการมอบหมาย จากนั้นจะเป็นสมาชิกกรรมาธิการที่ได้สิทธิอภิปรายในส่วนกรรมาธิการ จำนวนไม่เกิน 4 คน จากนั้นจะเป็นการอภิปรายของ สปช. ขณะที่การอภิปรายนั้นได้วางกรอบไว้คือ จะเป็นการอภิปรายภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก่อน จากนั้นจะเรียงลำดับตามรายภาค และรายหมวดของร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สปช.ที่ประสงค์จะอภิปรายขอให้แจ้งรายละเอียดด้วยว่าจะอภิปรายในภาคใด หรือหมวดใด และมาตราใดบ้าง จากนั้นจะใช้วิธีเรียงลำดับอภิปราย ด้วยการจับฉลาก

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้สิทธิอภิปรายนั้นสามารถสละสิทธิ์อภิปรายได้ แต่ไม่สามารถโอนเวลาอภิปรายให้ผู้อื่นได้ และหากถึงกำหนดเวลาอภิปรายแต่ผู้ถึงลำดับไม่อยู่ในห้องประชุมยังสามารถได้สิทธิ์อภิปราย แต่ต้องไปต่อท้ายผู้อภิปรายในประเด็นนั้นลำดับสุดท้าย ทั้งนี้ผู้อภิปรายไม่สามารถแลกลำดับอภิปรายได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น














กำลังโหลดความคิดเห็น