xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” เผยอนุ กมธ.ยกร่าง กม.ปราบทุจริต วาง 4 ประเด็นสำคัญในร่างกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไพบูลย์ นิติตะวัน (แฟ้มภาพ)
ประธานอนุ กมธ.ยกร่าง กม.ประกอบรัฐธรรมนูญปราบทุจริต วาง 4 วาระสำคัญในการร่าง กม. ให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบการคอร์รัปชันของนักการเมือง และ ขรก.ระดับสูง มี ป.ป.ช.ประจำกระทรวง ให้ ขรก.ยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ ป.ป.ช.มีอำนาจฟ้องคดีในศาลปกครองได้

นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญในฐานประธานคณะอนุ กมธ.ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการตราร่าง พ.ร.บ.ยังไม่มีการพิจารณาเป็นรายมาตรา แต่ได้มีการกำหนดสารสำคัญที่ควรมีไว้ในร่างกฎหมายแล้วเบื้องต้น 4 ประการสำคัญ

นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับ 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงเป็นหลัก ส่วนข้าราชการระดับอื่นๆ จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอื่นแทน 2. การกำหนดให้ ป.ป.ช.ประจำกระทรวง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของแต่ละหน่วยงาน และส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาวินิจฉัย

3. การยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยอาจจะกำหนดให้ข้าราชการที่มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงรายการตามกฎหมายไม่ต้องมายื่นบัญชีที่ ป.ป.ช. เพื่อลดภาระการจัดเก็บเอกสารของสำนักงาน ป.ป.ช. แต่จะให้เก็บเอกสารไว้ที่หน่วยงานของตัวเอง โดย ป.ป.ช.มีอำนาจสามารถหยิบรายการทรัพย์สินและหนี้สินมาตรวจสอบถึงความโปร่งใสได้ตลอดเวลา และ 4. การให้สถานะความเป็นผู้เสียหายแก่ ป.ป.ช.ในการยื่นเรื่องให้ศาลปกครองไต่สวน หมายความว่า หากเกิดกรณีที่ ป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีบางมาตรการของภาครัฐที่อาจส่อว่ามีการกระทำทุจริต ป.ป.ช.จะมีอำนาจในฐานะผู้เสียหายเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัยระงับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ

“เชื่อว่าสาระสำคัญต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้การปราบปรามการทุจริตเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน”

ส่วนเรื่องแนวคิดการจัดตั้งศาลปราบปรามการทุจริต นายไพบูลย์กล่าวว่า หลังจากการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย. จะมีการหารือกับคณะ กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของ สปช. เพื่อขอความเห็นร่วมกันว่าหากเห็นว่าควรมีศาลดังกล่าวจะกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น