xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.บี้สอบทุจริตสภา500ล้าน เตรียมฟ้อง”เจริญ”กับพวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตสภาผู้แทน ราษฎร เปิดเผยว่า ตนติดตามการทุจริตของสภามาอย่างต่อเนื่อง รู้สึกผิดหวังต่อการตรวจสอบการทุจริตในสภา ซึ่งได้มีการร้องเรียนไปยังคสช. กว่า 20 เรื่อง รวมมีความเสียหายราว 500 ล้านบาท แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งๆ ที่ในช่วงร้องเรียน คือช่วงแรกๆ ที่คสช.เข้ามาดูแลบ้านเมือง
"ผมก็ยังหวังอยู่ ว่าเขาจะทำ แต่ไม่รู้ว่าชีวิตไหน เพราะตอนที่ร้องถือว่ากำลังคสช.แรงสุดแล้ว แต่ตอนนี้มีแต่ความเฉื่อย" นายวิลาศกล่าว
นายวิลาศ ยังได้ยกตัวอย่างโครงการที่เห็นชัดเจนว่ามีการทุจริตโดยฝ่ายการเมือง และมีข้าราชการให้ความร่วมมือด้วย คือกรณีของนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่หนึ่ง เกี่ยวกับการขออนุมัติงบประมาณกว่า 1.3 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยรวม 5 โครงการ เริ่ม 8 ม.ค. 56-13 ม.ค. 56 เป็นการตั้งโครงการเพื่อเบิกเงิน แต่ไม่มีการดำเนินการจริง โดยของบประมาณทั้งหมดรวม 1.43 ล้านบาท โดยมีการใช้เงินทดลองจ่ายจากราชการทั้งหมด และนำมาคืนสำนักคลังว่าเป็นเงินเหลือจ่าย ในวันที่ 28 ก.พ.56 จำนวน 72,620 บาท ซึ่งเป็นการคืนเงินที่ผิดระเบียบ เพราะคืนช้ากว่า 15 วัน ตามระเบียบราชการ ซึ่งเท่ากับว่า ทั้ง 5 โครงการ มีการใช้เงินราชการไปแล้ว 1.3 ล้านบาท
นายวิลาศ กล่าวว่า แม้อีก 4 โครงการ จะไม่มีหลักฐานว่าทุจริต แต่เชื่อว่าจะมีลักษณะเดียวกันกับกรณีโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยโดยนำนักเรียนจากเชียงราย มาที่สภา ที่ถูกเปิดโปงออกมาเพราะข้าราชการเขาไม่ยอมเซ็นต์เบิกเงินให้ เพราะเขาไม่รู้เรื่อง จึงมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ส่วนอีก 4 โครงการ ข้าราชการยอมเซ็น ทำให้ไม่มีการร้องเรียนเกิดขึ้น เงินเหล่านี้เชื่อว่าไหลไปที่นักการเมือง และข้าราชการที่ร่วมมือด้วย และอยากตั้งข้อสังเกตว่า ขนาดโครงการเล็กๆ เงินล้านกว่าบาท ยังเอา แล้วโครงการใหญ่ๆ จะไม่งับหรือ
อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลักฐานที่มัดว่าไม่มีการดำเนินโครงการจริงคือ มีการอ้างกิจกรรมว่า จำลองการประชุมสภาและการประชุมกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากในวันดังกล่าวสภามีการจัดกิจกรรมวันเด็ก (เสาร์ที่ 12 ม.ค.56) ให้เยี่ยมชมรัฐสภา จะจัดประชุมจำลองได้อย่างไร ทั้งนี้ หลังจากที่มีหลักฐานชัดเจนว่า เป็นการเขียนโครงการหลอก แต่ไม่ดำเนินการจริง ตนจึงได้ทำหนังสือถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แต่ก็พบว่า ท่านไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เพียงแค่ให้ นายเจร พันธ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปตรวจสอบ
"จนกระทั่งวันที่ 20 ก.พ. 58 ผมก็ไปตามเรื่องอีกครั้ง ได้รับคำตอบจากนายพรเพชร ว่าสำนักงานเลขาสภาฯ ทำหนังสือแจ้งว่านายเจริญ นำเงินส่วนตัว ชดใช้โครงการทั้งหมดแล้ว สภาไม่เสียหาย การทุจริตไม่มี ไม่ต้องสอบสวน ทุกอย่างยุติ ผมก็บอกว่าอย่างนี้ไม่ได้ เพราะการทุจริตเกิดขึ้นแล้ว ถ้าสภาไม่ทำก็จะไปร้อง ป.ป.ช. นายพรเพชร ยังยุให้ผมไปดำเนินการดังกล่าว เหมือนกับว่าหน้าที่ของสภาจบแล้ว ไม่ได้ใส่ใจอะไร ทั้งๆ ที่มีความเห็นจากกฤษฎีกาว่า การทำผิดเกิดขึ้นแล้ว ถ้านายพรเพชร จริงจังกับเรื่องทุจริต ก็ควรตั้งกรรมการสอบทั้ง 5 โครงการ ไม่ใช่ยุติเรื่องตามความเห็นของทางราชการ" นายวิลาศ กล่าว
"การทุจริตสำเร็จแล้ว เมื่อขอเอกสารก็ทยอยส่งมา อีก 4 โครงการก็มั่นใจว่าจะเป็นทำนองเดียวกันหมด เพียงแต่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกล้าไปเซ็นรับผิดชอบ สาเหตุที่เชื่อว่าไม่ได้ทำจริง เพราะโครงการเขียนว่า มีการจัดสัมมนาที่สภา แต่ในวันเด็กจะมีการจัดสัมมนาเผยแพร่ประชาธิปไตยเป็นไปได้อย่างไร อีกทั้งรายการผู้มาเยี่ยมสภาตั้งแต่ปี 55-56 ปรากฏว่า ไม่มีสิ่งที่อ้างตามโครงการของนายเจริญเลย การเบิกเงินทั้งหมด ก็ทำตามอำเภอใจ ในสัญญาโครงการเดียวกันมีสัญญาค่ารถสองสัญญา อ้างว่ามีการแก้สัญญาเพื่อเปลี่ยนวงเงิน" นายวิลาศ กล่าว
นายวิลาศ กล่าวว่า ตนได้ขอข้อมูลย้อนหลังในโครงการสัมมนาสมาคมชาวไร่อ้อย วันที่25-26 ธ.ค. 56 และ 26-27 ธ.ค. 56 นำชาวบ้านจาก จ.ชัยภูมิ มาสัมมนา มีการเลี้ยงอาหาร โดยชุดแรกมีอาหารกลางวัน ผู้รับจ้างจัดเลี้ยงชื่อ นางสมลักษณ์ มงคล ที่พบพิรุธคือ เมื่อมีการเซ็นเบิกเงินต้องมีสำเนาบัตรประชาชนด้วย แต่สำเนาที่แนบมาคือ นายสมลักษณ์ แต่กลับเซ็นต์ชื่อในการรับรองสำเนาตัวเองผิด เป็นไปได้หรือ รับรองบัตรสำเนาตัวเองผิด แต่โครงการนี้มาสภาจริง เพียงแต่เบิกเงินมั่ว จึงตามต่อพบว่า น.ส.ลักขณา งามเที่ยง เป็นข้าราชการที่รับผิดชอบโครงการนี้ เมื่อไปตรวจสอบลึกลงไปก็พบว่า มีการเซ็นต์ชื่อเข้าทำงานวันที่ 26 ธ.ค.56 แต่มีการเบิกค่าโรงแรม วันที่ 27 ธ.ค. 56 แต่ก่อนหน้านั้นมีหลักฐานว่า กลับมาทำงานแล้ว จะเป็นไปได้อย่างไรว่า มีการพักจริงเพราะตัวอยู่กรุงเทพฯ แต่เบิกที่พักต่างจังหวัด
นายวิลาศ ตั้งข้อสังเกตว่า เลขาสภาฯ มีเจตนาที่จะปกป้องผู้กระทำความผิด เพราะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ อ้างว่าคืนเงินแล้วยุติเรื่อง ซึ่งตนจะไปร้องต่อ ป.ป.ช. ทั้งตัวเลขาสภา นายเจริญ จรรย์โกมล อดีตรองประธานสภาคนที่หนึ่ง และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้าเราปล่อยเรื่องนี้ผ่านไป ประเทศไทยจะมีดัชนีความโปร่งใสที่สุดในโลก คือ ไม่มีการทุจริตเลย เพราะโกงแล้วเอาเงินมาคืนถือว่าไม่ผิด
ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้ประธาน สนช. ควรจะจี้ให้สำนักเลขาฯ ตั้งกรรมการสอบ ต้องแอกชั่นบ้าง ไม่ใช่เชื่อว่าไม่เสียหายแล้วยุติ เพราะเป็นการทุจริตแล้ว แล้วก็ไม่ทำอะไร ยุให้ตนไปฟ้องป.ปฐช. บอกแบบเต็มปากเต็มคำ ไม่เสียหาย แล้วที่ประกาศปราบปรามการทุจริตนั้น เป็นความจริงตามคำพูดหรือไม่
"ผมไม่เชื่อว่าจะมีการเอาจริงเอาจังเหมือนที่ประกาศว่า จะกวาดล้างการทุจริต เพราะมีหลายเรื่องที่พิสูจน์แล้ว เช่น กรณีโซ่เลื่อยยนต์ เพราะมีการหยอดน้ำข้าวต้มไว้ทั่วเลย มีการพูดเลยว่าทหารก็กินข้าวเหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้สร้างความเสียหายเยอะมาก มีการไล่จับคนตัดไม้ ทำลายป่า จับได้แต่ลูกจ้าง ตัวใหญ่ไม่เคยจับได้ และไม่มีการจับคนขายเครื่องมือ ทำให้กลายเป็นผึ้งแตกรัง หาความจริงยากขึ้น" นายวิลาศ กล่าว
"ท่านนายกฯควรตั้งชุดเฉพาะกิจ ไปตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษแทนที่จะใช้เจ้าหน้าที่ปกติ เพราะไม่สามารถไว้วางใจได้ ที่ผ่านมาผมได้ให้ข้อมูลกับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรฯ ไปหมดแล้ว โดยทางรัฐมนตรี ก็บอกจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ผมก็บอกว่าไม่ได้ผลหรอก เพราะคนที่ร้านบอกว่าหยอดข้าวไว้หมดแล้วในเขตพื้นที่อีสาน เคลียร์ได้หมดทุกหน่วย นายกฯ พูดทุกวันเรื่องปราบทุจริต การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าต้องการเอาจริง ก็ต้องวางแผนส่งคนเข้าไปจัดการ มีชุดเฉพาะกิจทำหน้าที่ โดยเฉพาะแทนที่จะใช้เจ้าหน้าที่ปกติ" นายวิลาศ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น