เมื่อมีลูก ไม่ว่าพ่อแม่คนไหนก็ล้วนอยากให้ลูกของตนได้ดี เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ไม่ว่าจะในแง่เป็นเด็กเก่ง เป็นเด็กดี ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่การจะสร้างลูกให้เพอร์เฟกต์เช่นนี้ได้ แน่นอนว่าไม่ง่าย แต่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม ถ้ารู้จักเลี้ยงลูกอย่างถูกวิธีและเหมาะสม
แล้วจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ “พยานรัก” ของคู่สามีภรรยาเติบโตมาอย่างมีพัฒนาการที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ผอ.ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร มีคำตอบ
“สิ่งแรกที่เห็นได้ชัด คือ พัฒนาการทางด้านร่างกายของลูกน้อย นั่นคือกล้ามเนื้อต่างๆ และการเคลื่อนไหว การให้เด็กมีสมรรถภาพร่างกายที่แข็งแรง สมวัย จะต้องพัฒนาและฝึกให้ลูกมีกล้ามเนื้อมัดเล็ก และกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ดีและแข็งแรง”
กล้ามเนื้อมัดเล็กคืออะไร ก็คือ กล้ามเนื้อในส่วนของมือ นิ้ว และตา โดยนางเบญจมาภรณ์ ย้ำว่า สิ่งเหล่านี้จะต้องส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่เล็ก โดยเฉพาะช่วงก่อน 5 ขวบ โดยการฝึกการใช้นิ้ว การใช้มือ และสายตา เช่น ให้ลูกฝึกการจับคู่ต่างๆ เช่น จับคู่สิ่งของที่เหมือนกัน สีที่เหมือนกัน ทำให้เด็กได้ใช้สายตาในการมอง ได้ใช้นิ้วมือในการหยิบจับวาง เมื่อฝึกจนแข็งแรงสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ลูกจับปากกาดินสอเขียนหนังสือได้อย่างมั่นคง ส่วนเด็กโตขึ้นมาอีกสักประมาณ ป.3-4 เด็กวัยนี้ต้องสร้างให้เขามีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่แข็งแรงมากขึ้น รวมไปถึงฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เด็กวัยนี้พยายามให้เขาได้ประดิษฐ์หรือผลิตสิ่งของด้วยตนเอง ก็จะช่วยให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีการเคลื่อนไหวแขนขาหรือกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้แข็งแรง
“อย่างเมื่อวันเด็กที่ผ่านมา สสส. ก็จัดกิจกรรมวันเด็ก โดยการตั้งฐานกิจกรรมรวมทั้งหมด 7 ฐาน ซึ่งแต่ละฐานก็จะช่วยเสริมพัฒนาการเด็กในแต่ละด้าน ทั้งพัฒนาการทางด้านร่างกาย ผ่านการประดิษฐ์สิ่งของด้วยตัวเอง การทำศิลปะ นอกจากนี้ ยังฝึกเด็กให้มีวินัย ฝึกการอคอยการเข้าแถว รวมถึงความมีน้ำใจในการแบ่งปันผู้อื่นด้วย ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องฝึกให้ลูกในการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน”
นางเบญจมาภรณ์ กล่าวว่า พ่อแม่ต้องไม่ละทิ้งสิ่งเหล่านี้ อย่างเรื่องการให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจ รู้จักแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองมีแก่คนอื่นก็เป็นสิ่งสำคัญ สสส. ก็ให้เด็กได้ประดิษฐ์สิ่งของด้วยตัวเอง นั่นก็คือให้ทำหุ่น เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะให้เด็กนำไปไว้ในลัง เพื่อสุดท้ายนำไปมอบให้แก่เด็กด้อยโอกาสในมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กต่อไป พ่อแม่ก็สามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้ในการฝึกฝนลูกตัวเองได้ โดยต้องบอกให้เขาเข้าใจว่าเรามีสิ่งของต่างๆ ครบ แต่เด็กคนอื่นไม่มี ยิ่งเราให้เขาทำสิ่งของขึ้นมาเอง เขาจะยิ่งเห็นคุณค่า และเมื่อนำไปให้คนที่ด้อยโอกาสกว่าก็จะช่วยปลูกฝังให้ลูกรู้จักแบ่งปันกับคนอื่น เป็นการส่งต่อความสุขให้แก่คนอื่นอีกทอดหนึ่ง
อีกประเด็นที่พ่อแม่ต้องรับรู้ไว้ ก็คือ การเลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยี ซึ่งนางเบญจมาภรณ์ สื้อนความน่าเป็นห่วงไว้ว่า ยุคปัจจุบันให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก ต่างจากอดีต ทุกวันนี้การเลี้ยงลูกยังเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ขอย้ำว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จะเรียนรู้ผ่านสื่อบุคคลเป็นหลัก นั่นก็คือพ่อแม่ การใช้เทคโนโลยีช่วยเลี้ยงลูกจึงไม่ควรนัก แต่หากเด็กโตขึ้นมาอีกก็อาจต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะเทคโนโลยีมีความรวดเร็วว่องไว ทำให้เด็กใจร้อน เป็นวัยที่ต้องการอะไรก็ต้องได้เดี๋ยวนั้น อย่างเล่นเกมก็ต้องเร็ว โหลดช้าไม่ได้ จะเกิดความหงุดหงิด
“พ่อแม่ต้องฝึกลูกให้รู้จักการเข้าแถว การรอคอยต่างๆ เพื่อให้มีความอดทน รู้จักการรอคอย ไม่ใจร้อนต้องได้อะไรเดี๋ยวนั้น ซึ่งทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าคนเรามีความอดทนต่ำลง สิ่งเหล่านี้คือทักษะการใช้ชีวิตที่จำเป็นของลูก นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยเลี้ยงดูลูก ต้องระมัดระวังในเรื่องของหน้าจอโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตด้วย เพราะจะส่งผลต่อสายตาของลูก ยิ่งการเลื่อนหน้าจอไว ก็จะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานหนักมากขึ้น”
สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่พ่อแม่ต้องพึงระลึกไว้เสมอ หากอยากให้ลูกของเราเก่ง ฉลาด มีพัฒนาการสมวัยในทุกด้าน เป็นคนดี มีทักษะการเข้าสังคมที่ยอดเยี่ยม และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งนางเบญจมาภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องสร้างให้ได้ตั้งแต่วัยเด็ก!!
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่