อดีต ส.ส.กทม.ผิดหวัง คสช.สอบทุจริตสภาไร้คืบหน้า ยกหลักฐานมัดตั้งโครงการเบิกเงินแต่ไม่ดำเนินการจริง ชี้งบน้อยยังโกง โครงการใหญ่ไม่เหลือ ฉะ “พรเพชร” ไม่จริงจังสอบ ให้คนโกงเอาเงินมาคืนแล้วจบ ข้องใจเลขาฯ สภาปกป้องคนโกง ยันร้อง ป.ป.ช.จัดการ แนะสื่อตามปราบโกงอย่างพูดหรือไม่ เชื่อทำไม่จริง ยกเคสตัดไม้จับแต่ตัวเล็กๆ จี้เอาจริงต้องใช้ชุดเฉพาะกิจแทน จนท.ปกติ
วันนี้ (5 เม.ย.) นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตสภาผู้แทน ราษฎร ติดตามการทุจริตของสภาอย่างต่อเนื่อง แสดงความผิดหวังต่อการตรวจสอบการทุจริตในสภาซึ่งได้มีการร้องเรียนไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กว่า 20 เรื่อง รวมมีความเสียหายราว 500 ล้านบาท แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งๆ ที่ในช่วงร้องเรียนคือช่วงแรกๆ ที่ คสช.เข้ามาดูแลบ้านเมือง
“ผมก็ยังหวังอยู่ว่าเขาจะทำ แต่ไม่รู้ว่าชีวิตไหน เพราะตอนที่ร้องถือว่ากำลัง คสช.แรงสุดแล้ว แต่ตอนนี้มีแต่ความเฉื่อย” นายวิลาศกล่าว
นายวิลาศยังได้ยกตัวอย่างโครงการที่เห็นชัดเจนว่ามีการทุจริตโดยฝ่ายการเมืองและมีข้าราชการให้ความร่วมมือด้วย คือ กรณีของนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 1 เกี่ยวกับการขออนุมัติงบประมาณกว่า 1.3 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยรวม 5 โครงการ 5 โครงการเริ่ม 8 ม.ค. 56 - 13 ม.ค. 56 เป็นการตั้งโครงการเพื่อเบิกเงินแต่ไม่มีการดำเนินการจริง โดยของบประมาณทั้งหมดรวม 1.43 ล้านบาท โดยมีการใช้เงินทดรองจ่ายจากราชการทั้งหมด และนำมาคืนสำนักคลังว่าเป็นเงินเหลือจ่ายในวันที่ 28 ก.พ. 56 จำนวน 72,620 บาท ซึ่งเป็นการคืนเงินที่ผิดระเบียบเพราะคืนช้ากว่า 15 วันตามระเบียบราชการ เท่ากับว่าทั้ง 5 โครงการมีการใช้เงินราชการไปแล้ว 1.3 ล้านบาท
นายวิลาศกล่าวว่า แม้อีก 4 โครงการจะไม่มีหลักฐานว่าทุจริต แต่เชื่อว่าจะมีลักษณะเดียวกันกับกรณี โครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยโดยนำนักเรียนจากเชียงรายมาที่สภา ที่ถูกเปิดโปงออกมาเพราะข้าราชการเขาไม่ยอมเซ็นเบิกเงินให้เพราะเขาไม่รู้เรื่องจึงมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ส่วนอีก 4 โครงการข้าราชการยอมเซ็นทำให้ไม่มีการร้องเรียนเกิดขึ้น เงินเหล่านี้เชื่อว่าไหลไปที่นักการเมืองและข้าราชการที่ร่วมมือด้วย และอยากตั้งข้อสังเกตว่าขนาดโครงการเล็กๆ เงินล้านกว่าบาทยังเอา แล้วโครงการใหญ่ๆ จะไม่งับหรือ
อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า หลักฐานที่มัดว่าไม่มีการดำเนินโครงการจริงคือ มีการอ้างกิจกรรมว่าจำลองการประชุมสภาและการประชุมกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากในวันดังกล่าวสภามีการจัดกิจกรรมวันเด็ก (เสาร์ที่ 12 ม.ค. 56) ให้เยี่ยมชมรัฐสภาจะจัดประชุมจำลองได้อย่างไร ทั้งนี้ หลังจากที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นการเขียนโครงการหลอกแต่ไม่ดำเนินการจริง ตนจึงได้ทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แต่ก็พบว่าท่านไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เพียงแค่ให้นายเจร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปตรวจสอบ
“จนกระทั่งวันที่ 20 ก.พ. 58 ผมก็ไปตามเรื่องอีกครั้ง ได้รับคำตอบจากนายพรเพชรว่าสำนักงานเลขาสภาฯ ทำหนังสือแจ้งว่านายเจริญนำเงินส่วนตัวชดใช้โครงการทั้งหมดแล้ว สภาไม่เสียหาย การทุจริตไม่มี ไม่ต้องสอบสวนทุกอย่างยุติ ผมก็บอกว่าอย่างนี้ไม่ได้เพราะการทุจริตเกิดขึ้นแล้ว ถ้าสภาไม่ทำก็จะไปร้อง ป.ป.ช. นายพรเพชรยังยุให้ผมไปดำเนินการดังกล่าว เหมือนกับว่าหน้าที่ของสภาจบแล้ว ไม่ได้ใส่ใจอะไร ทั้งๆ ที่มีความเห็นจากกฤษฎีกาว่า การทำผิดเกิดขึ้นแล้ว ถ้านายพรเพชรจริงจังกับเรื่องทุจริตก็ควรตั้งกรรมการสอบทั้ง 5 โครงการ ไม่ใช่ยุติเรื่องตามความเห็นของทางราชการ” นายวิลาศกล่าว
“การทุจริตสำเร็จแล้ว เมื่อขอเอกสารก็ทยอยส่งมา อีก 4 โครงการก็มั่นใจว่าจะเป็นทำนองเดียวกันหมด เพียงแต่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกล้าไปเซ็นรับผิดชอบ สาเหตุที่เชื่อว่าไม่ได้ทำจริง เพราะโครงการเขียนว่ามีการจัดสัมมนาที่สภา แต่ในวันเด็กจะมีการจัดสัมมนาเผยแพร่ประชาธิปไตยเป็นไปได้อย่างไร อีกทั้งรายการผู้มาเยี่ยมสภาตั้งแต่ปี 55-56 ปรากฏว่าไม่มีสิ่งที่อ้างตามโครงการของนายเจริญเลย การเบิกเงินทั้งหมดก็ทำตามอำเภอใจ ในสัญญาโครงการเดียวกันมีสัญญาค่ารถ 2 สัญญา อ้างว่ามีการแก้สัญญาเพื่อเปลี่ยนวงเงิน” นายวิลาศกล่าว
นายวิลาศกล่าวว่า ได้ขอข้อมูลย้อนหลังในโครงการสัมมนาสมาคมชาวไร่อ้อยวันที่ 25-26 ธ.ค. 56 และ 26-27 ธ.ค. 56 นำชาวบ้านจาก จ.ชัยภูมิ มาสัมมนา มีการเลี้ยงอาหาร โดยชุดแรกมีอาหารกลางวัน ผู้รับจ้างจัดเลี้ยงชื่อนางสมลักษณ์ มงคล ที่พบพิรุธคือเมื่อมีการเซ็นเบิกเงินต้องมีสำเนาบัตรประชาชนด้วย แต่สำเนาที่แนบมาคือ นายสมลักษณ์ แต่กลับเซ็นชื่อในการรับรองสำเนาตัวเองผิด เป็นไปได้หรือรับรองบัตรสำเนาตัวเองผิด แต่โครงการนี้มาสภาจริงเพียงแต่เบิกเงินมั่ว จึงตามต่อพบว่า น.ส.ลักขณา งามเที่ยง เป็นข้าราชการที่รับผิดชอบโครงการนี้ เมื่อไปตรวจสอบลึกลงไปก็พบว่ามีการเซ็นต์ชื่อเข้าทำงานวันที่ 26 ธ.ค. 56 แต่มีการเบิกค่าโรงแรมวันที่ 27 ธ.ค. 56 แต่ก่อนหน้านั้นมีหลักฐานว่ากลับมาทำงานแล้ว จะเป็นไปได้อย่างไรว่ามีการพักจริงเพราะตัวอยู่กรุงเทพฯ แต่เบิกที่พักต่างจังหวัด
นายวิลาศตั้งข้อสังเกตว่า เลขาสภาฯ มีเจตนาที่จะปกป้องผู้กระทำความผิดเพราะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ อ้างว่าคืนเงินแล้วยุติเรื่อง ตนจะไปร้องต่อ ป.ป.ช.ทั้งตัวเลขาฯ สภา นายเจริญ จรรย์โกมล อดีตรองประธานสภาคนที่ 1 และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้าเราปล่อยเรื่องนี้ผ่านไป ประเทศไทยจะมีดัชนีความโปร่งใสที่สุดในโลกคือ ไม่มีการทุจริตเลยเพราะโกงแล้วเอาเงินมาคืนถือว่าไม่ผิด
ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้ประธาน สนช.ควรจะจี้ให้สำนักเลขาฯ ตั้งกรรมการสอบ ต้องแอ๊คชั่นบ้าง ไม่ใช่เชื่อว่าไม่เสียหายแล้วยุติ เพราะเป็นการทุจริตแล้ว แล้วก็ไม่ทำอะไร ยุให้ตนไปฟ้อง ป.ป.ช. บอกตนเต็มปากเต็มคำไม่เสียหายแล้วจะสอบต่อ จึงอยากให้ช่วยพิจารณาว่าการใช้ดุลพินิจ ไม่อยากพูดเพราะมีส่วนได้เสีย อยากให้สื่อหาข้อมูลว่าที่ประกาศปราบปรามการทุจริตนั้นเป็นความจริงตามคำพูดหรือไม่
“ผมไม่เชื่อว่าจะมีการเอาจริงเอาจังเหมือนที่ประกาศว่าจะกวาดล้างการทุจริต เพราะมีหลายเรื่องที่พิสูจน์ แล้ว เช่น กรณีโซ่เลื่อยยนต์ เพราะมีการหยอดน้ำข้าวต้มไว้ทั่วเลย มีการพูดเลยว่าทหารก็กินข้าวเหมือนกัน เรื่องนี้สร้างความเสียหายเยอะมาก มีการไล่จับคนตัดไม้ ทำลายป่า จับได้แต่ลูกจ้าง ตัวใหญ่ไม่เคยจับได้ และไม่มีการจับคนขายเครื่องมือ ทำให้กลายเป็นผึ้งแตกรัง หาความจริงยากขึ้น” นายวิลาศกล่าว
“ท่านนายกฯ ควรตั้งชุดเฉพาะกิจไปตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ แทนที่จะใช้เจ้าหน้าที่ปกติ เพราะไม่สามารถไว้วางใจได้ ที่ผ่านมาผมได้ให้ข้อมูลต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรฯ ไปหมดแล้ว โดยทางรัฐมนตรีก็บอกจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ผมก็บอกว่าไม่ได้ผลหรอก เพราะคนที่ร้านบอกว่าหยอดข้าวไว้หมดแล้วในเขตพื้นที่อีสานเคลียร์ได้หมดทุกหน่วย นายกฯ พูดทุกวันเรื่องปราบทุจริต การทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าต้องการเอาจริงก็ต้องวางแผนส่งคนเข้าไปจัดการ มีชุดเฉพาะกิจทำหน้าที่โดยเฉพาะแทนที่จะใช้เจ้าหน้าที่ปกติ” นายวิลาศกล่าว