เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เผย กุนซือนายกฯ อินเดีย เข้าพบคุยความร่วมมือดูแลพื้นที่ทางทะเล และการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา ไม่รู้ ม.44 โยนถามฝ่ายกฏหมาย ยันรัฐไม่ได้ใช้จำกัดเสรีภาพปกติ ชี้ความรุนแรงอยู่ที่ผู้ใช้ ระบุดีกรีเพื่อปกป้องสาธารณะ
วันนี้ (2 เม.ย.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวภายหลัง นายอาจิต โดวาล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของนายกรัฐมนตรีอินเดีย เข้าพบว่า เป็นการพูดคุยเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก โดยเราประสงค์ที่จะมีความร่วมมือในการดูแลพื้นที่ทางทะเล ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้เห็นชอบจากร่างยุทธศาสตร์ หรือแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล ซึ่งถูกกำหนดไว้เพื่อนำเอางานด้านความมั่นคงไปเสริมในเรื่องระบบเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่าความมั่งคั่งในกิจการพาณิชย์นาวี กิจการการเดินเรือในทะเลอาณาเขตและนอกทะเลอาณาเขตทั้งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกที่เป็นสิทธิอธิปไตยเหนือทะเลของประเทศไทย รวมถึงความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีระดับสูงของอินเดียเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาเรื่องความมั่นคง ความร่วมในการพัฒนาด้านการข่าวร่วมกัน และการพัฒนาแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวถึงคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ยังไม่มีการระบุถึงการใช้อำนาจศาลที่เปิดโอกาสให้ใช้ 3 ศาลได้ว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบในรายละเอียด ต้องไปถามฝ่ายกฎหมาย แต่เท่าที่ทราบการใช้มาตรา 44 เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ หากเราเข้าใจจะเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ใช้อำนาจหรือใช้กฎหมายไปจำกัดสิทธิเสรีภาพตามปกติ ก็ขอให้เฝ้าดูว่าเมื่อกฎหมายออกมาจะออกมาเพื่อประโยชน์ใด หาเป้าใหญ่ให้เจอ ไม่อย่างนั้นเราก็จะไปติดกับคำว่ามีกฎอัยการศึกเพื่ออะไร มีมาตรา44 แล้วเดี๋ยวเลิกอีก
เมื่อถามว่า ความรุนแรงของกฎอัยการศึกและมาตรา 44 เท่ากัน นายอนุสิษฐ กล่าวว่า อยู่ที่ผู้ใช้ กฎหมายหลายฉบับมีความรุนแรงในตัวมันเอง ซึ่งอยู่ที่ว่าการกระทำความผิดมีความรุนแรงหรือไม่ ฉะนั้นดีกรีของกฎหมายก็เพื่อปกป้องสาธารณะ ในเชิงของนักบริหารเราต้องไม่มองเพื่อเป็นศัตรูกับประชาชน ไม่มองเพื่อเป็นศัตรูกับเสรีภาพ
เมื่อถามว่า ในมาตรา 44 การใช้อำนาจของทหารก็ยังคงอยู่ ยังไม่ได้มอบให้ตำรวจ ยังทำงานร่วมกันอยู่ แต่เปลี่ยนวิธีการคือไม่มีการเรียกปรับทัศนคติ แต่ใช้วิธีที่เบาลง เลขาฯ สมช. กล่าวว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนและจากระยะเวลาทำงานที่ผ่านมา การทำงานร่วมกันระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร คิดว่าเป็นการทำงานที่ได้รับการยอมรับพอสมควร ซึ่งจะต้องตอบสังคมว่าขณะนี้ต้องการอะไร เพราะกำลังสับสนและหาข้อมูลว่าอะไรที่ดีหรือไม่ดีในความคิดของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
เมื่อถามย้ำว่า ในมาตรา 44 ตรงไหนที่ดูเบากว่ากฎอัยการศึก เพราะดูเหมือนว่าไม่มีความแตกต่าง เลขาฯ สมช. กล่าวว่า ต้องไปศึกษารายละเอียดก่อน ที่บอกว่าไม่แตกต่างนั้น ไม่แตกต่างตรงไหน การใช้เอาไปใช้อะไรเพราะมาตรา 44 จะขึ้นอยู่กับผู้ใช้และสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งพวกเราต้องเชื่อว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรเพื่ออะไร สิ่งที่เราตั้งคำถามบางทีดูเหมือนว่า ทำให้เราเห็นภาพไปอีกแบบหนึ่งหรือเปล่า แต่ถ้าชาติบ้านเมืองต้องการปฏิรูป ต้องการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ตนคิดว่าโจทย์นี้เราต้องช่วยกัน