• ออสเตรเลียเตรียมส่งคืนพระพุทธรูปอายุราว 2,000 ปี ให้อินเดีย
ออสเตรเลีย : หอศิลป์แห่งชาติ ประเทศออสเตรเลีย เตรียมส่งพระพุทธรูปโบราณอายุราว 2,000 ปี คืนให้ประเทศอินเดีย ภายใน 1 ปี
พระพุทธรูปดังกล่าว แกะสลักจากหินทรายแดง ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 สมัยจักรวรรดิกุษาณะ ถูกขโมยจากโบราณสถานในรัฐอุตตรประเทศ ของอินเดีย นักสะสมศิลปะคนหนึ่งได้ซื้อไว้ และนำมาบริจาคให้หอศิลป์แห่งชาติ
นับเป็นงานศิลป์โบราณชิ้นที่สาม ที่จะถูกส่งคืนอินเดีย เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง
โดยก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2014 นายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้เดินทางไปเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ และเข้าพบนายโทนี่ แอบบ็อตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เพื่อรับมอบคืนโบราณวัตถุ 2 ชิ้นที่ถูกขโมยมาจากอินเดีย ได้แก่ รูปหล่อทองสัมฤทธิ์พระศิวะ และรูปแกะสลักหินพระศิวะ
ขณะที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ได้ประสานงานกับรัฐบาล เพื่อเตรียมการรับมอบพระพุทธรูปล้ำค่าเป็นที่เรียบร้อย
(จาก The guardian)
• นิทรรศการพุทธศิลป์พม่า จัดแสดงครั้งแรกในนิวยอร์ก
สหรัฐอเมริกา : พิพิธภัณฑ์สมาคมเอเซีย (Asia Society Museum) ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้จัดนิทรรศการ “พุทธศิลป์ของพม่า” ขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ถึง 10 พฤษภาคม 2015
โดยนำพุทธศิลป์ราว 70 ชิ้น ที่ทำจากหิน ทองสัมฤทธิ์ ไม้ ผ้า ภาพเขียน สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 5-20 มาจัดแสดงเป็นไฮไลต์ ให้เห็นถึงการปรากฏขึ้นของพระพุทธศาสนาในพม่า ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ช่วงต้นๆของสหัสวรรษ รวมถึงรูปปั้นเทพเจ้าต่างๆ ที่ผสมผสานรูปแบบ เทคนิค และความเชื่อทางศาสนา เข้าด้วยกันอย่างมีเอกลักษณ์
งานพุทธศิลป์เหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในวัด และสักการบูชาส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่เคยนำออกแสดงนอกประเทศมาก่อน บางชิ้นขอยืมมาจากพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในพม่า และของสะสมส่วนตัวและสาธารณะในสหรัฐฯ
(จาก Buddhistartnews)
• อินเดียรื้อฟื้นเดินตามรอยพระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้
อินเดีย : เมื่อเดือนมกราคม 2015 พระสงฆ์กว่า 400 รูปจากวัดของประเทศต่างๆกว่า 30 แห่งที่ตั้งอยู่ในอินเดีย ร่วมกันเดินบนเส้นทางตามรอยพระพุทธเจ้าภายหลังการตรัสรู้ เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรก
โดยเริ่มเดินจากหมู่บ้านเจเทียน เมืองคยา ไปยังหมู่บ้านเวนุวัน เมืองราชคฤห์ ในรัฐพิหาร ระยะทาง 13 กม. อันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลราชคฤห์ ซึ่งจัดขึ้นโดยกองพัฒนาการท่องเที่ยวรัฐพิหาร เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ
ตามพุทธประวัติเล่าว่า ภายหลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากพุทธคยาไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อประกาศพระพุทธศาสนา ขณะนั้นพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธ ทรงทราบเรื่อง จึงเสด็จออกมาต้อนรับ ณ บริเวณสวนลัฏฐิวัน (ปัจจุบันคือหมู่บ้านเจเทียน) และทูลเชิญให้ประทับที่อุทยานเวฬุวัน (ปัจจุบันคือหมู่บ้านเวนุวัน)
(จาก Indiatvnews)
• ตะลึง!! ลามะมองโกเลียตาย 200 ปี ไม่เน่า นักวิชาการเชื่อ แค่เข้าฌานลึก
มองโกเลีย : เมื่อปลายเดือนมกราคม 2015 ตำรวจมองโกเลียได้จับกุมชายผู้หนึ่ง ด้วยข้อหาลักลอบและมีไว้ครอบครองซึ่งมัมมี่ เพื่อจำหน่ายในตลาดมืด อันมีโทษปรับหรือจำคุก
การตรวจสอบทางนิติเวชวิทยาเบื้องต้นเผยว่า เป็นมัมมี่ลามะนั่งสมาธิ ถูกคลุมไว้ด้วยหนังวัว สันนิษฐานว่ามีอายุราว 200 ปี และคาดว่าเป็นพระอาจารย์ของลามะดาชิ ดอร์โซ อิทิกิลอฟ ซึ่งเป็นลามะพุทธทิเบต ชนเผ่าเบอร์ยัต ในรัสเซีย (ลามะดาชิมรณภาพในปี 1927 และร่างกายไม่เน่าเปื่อยเช่นกัน)
กันฮูกิน ปูเรฟบาตา ศาสตราจารย์และผู้ก่อตั้งสถาบันพุทธศิลป์มองโกเลีย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาอูลานบาตอร์ กล่าวว่า “ลามะรูปดังกล่าวกำลังนั่งทำสมาธิ ท่องพระสูตร ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ยังไม่มรณภาพ แต่อยู่ในฌานขั้นลึก”
ขณะที่ ลามะ ดร.แบรี่ เคอร์ซิน แพทย์ประจำองค์ทะไล ลามะ เผยว่า เคยดูแลผู้ทำสมาธิบางรายที่อยู่ในขั้น “ทักดัม” ซึ่งเป็นสมาธิขั้นเกือบลึกสุดที่เข้าใกล้การบรรลุธรรม
“หากผู้ทำสมาธิสามารถคงอยู่ในขั้นทักดัมนานกว่า 3 สัปดาห์ ซึ่งไม่พบบ่อยนัก ร่างกายของเขาจะค่อยๆหดตัว และสุดท้ายจะเหลือเพียงแค่เส้นผม เล็บ และเสื้อผ้า ซึ่งคนโดยรอบจะเห็นสายรุ้งบนท้องฟ้านานหลายวัน อันเป็นสิ่งชี้ว่า ผู้ทำสมาธิได้เข้าใกล้การบรรลุธรรมแล้ว”
(จาก The Siberian Times)
• เวิลด์แบงค์ไฟเขียวงบพัฒนา“สารนาถ” เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
อินเดีย : สารนาถ หนึ่งในพุทธสังเวชนียสถาน 4 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองพาราณสี ในรัฐอุตตรประเทศ ของอินเดีย เตรียมได้รับการพัฒนาครั้งใหญ่ เนื่องจากธนาคารโลกได้อนุมัติงบโครงการมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับตัวเมืองและหมู่บ้านใกล้เคียงที่มีชื่อเสียงด้านหัตถกรรมท้องถิ่น ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โดยทีมเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกได้ลงพื้นที่ เพื่อสำรวจสภาพความเป็นอยู่ และเตรียมวางแผนพัฒนาให้สารนาถเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระดับโลก เนื่องจากมีชาวต่างชาติและพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เดินทางมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของนกนานาพรรณ และเป็นที่ตั้งของสวนกวางอันมีชื่อเสียง
อนึ่ง สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (แปลว่า ป่าอันยกให้แก่หมู่กวาง และเป็นที่ชุมนุมฤาษี) เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา กระทั่งพราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรม ทูลขออุปสมบท กลายเป็นพระสงฆ์รูปแรกในโลก จึงทำให้วันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
(จาก Thehindu.com)
• พจนานุกรมพุทธศาสนาฉบับพรินซ์ตัน ได้รับรางวัลดาร์ทเมาท์
สหรัฐอเมริกา : เมื่อเร็วๆนี้ บรรณารักษ์ผู้เชี่ยวชาญแห่งสมาคมห้องสมุดอเมริกัน ได้ประกาศผลงานชนะเลิศรางวัลเหรียญดาร์ทเมาท์ ประจำปี 2015 ซึ่งได้แก่ “พจนานุกรมพุทธศาสนาฉบับพรินซ์ตัน” โดยยกย่องให้เป็นผลงานชิ้นเอก ที่แม้เนื้อหาจะเป็นวิชาการ แต่อ่านเข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้จริง
พจนานุกรมดังกล่าวเป็นผลงานของนักวิชาการด้านพุทธศาสนา 2 คน คือ โรเบิร์ต อี บัซเวล จูเนียร์ และโดนัลด์ เอส โลเปซ จูเนียร์ ซึ่งใช้เวลา 12 ปีร่วมกันจัดทำ มีคำบรรจุ 1.2 ล้านคำ และอ้างอิงถึง 14 ภาษา
ทั้งนี้ คณะผู้จัดทำกล่าวว่า “เราต้องการให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่า ธรรมะและการปฏิบัติเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกันตามยุคสมัยและสถานที่ เพื่อว่าเมื่อได้อ่านพจนานุกรมเล่มนี้แล้ว จะเริ่มต้นเข้าใจทั้งความต่อเนื่อง และความแตกต่างของพุทธศาสนาในอินเดีย ทิเบต จีน ฯลฯ”
อนึ่ง รางวัลเหรียญดาร์ทเมาท์ เป็นรางวัลประจำปีอันทรงเกียรติ ของสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (ALA) ซึ่งมอบให้แก่งานเขียนอ้างอิงที่มีคุณภาพและความสำคัญอย่างโดดเด่น และได้รับการตีพิมพ์ในปีก่อนหน้า
(จาก Lion’s roar)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558 โดย เภตรา)