xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เสนอจัดตั้งสภา-ออกกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกงบประมาณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
สปช. รับทราบรายงานปฏิรูประบบราชการ เสนอเร่งออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ จัดตั้งสภายุทธศาสตร์ชาติ เร่งออกระบบงบประมาณใหม่ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

วันนี้ (23 มี.ค.) ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณารับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องวาระที่ 4 การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูประบบงบประมาณและการคลังท้องถิ่น โดย นายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ ประธาน กมธ. ปฏิรูปฯ ชี้แจงถึงหลักการการมียุทธศาสตร์ชาติ ที่นอกเหนือจากการให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 และมาตรา 284 (1) ยังเป็นไปเพื่อปรับโครงส้รางอำนาจราชการและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานให้เกิดการบูรณาการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

ด้าน พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะอนุกรรมาธิการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ ชี้แจงว่า ต้องเร่งออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจัดตั้งสภายุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. ภาครัฐ มาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงบประมาณ 2. ภาคเอกชน มาจากผู้แทนสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งระเทศไทย และ 3. ภาคประชาชน ที่อาจมาจากสภาพลเมือง โดยให้มีหน้าที่กำหนดแนวทางจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ รวบรวมวิเคราะห์ความเห็นทุกภาคส่วน การกำหนดเป้าหมาย วางกรอบระยะเวลา การกำหนดตัวประเมินชี้วัด และต้องให้ข้อเสนอแนะแก่ทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ให้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 15 คน มาจากนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด และอีก 11 คน มาจากฝ่ายวิชาชีพต่างๆ ขณะเดียวกัน ให้มีสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติเชื่อมโยงยุทธศาสตร์กับแผนพัฒนาหน่วยงานต่างๆ

ขณะที่ นางสีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูประบบงบประมาณและการคลัง รายงานการปฏิรูประบบงบประมาณและการคลังท้องถิ่น ชี้แจงว่า สภาพระบบและวิธีงบประมาณเดิม ถือเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องออกระบบงบประมาณใหม่ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสร้างธรรมาภิบาลในการจัดสรรงบประมาณ สร้างหลักประกันในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรอบแนวคิดปฏิรูประบบงบประมาณนั้นจะยึดยุทธศาสตร์ชาติเป็นตัวตั้ง และออกแบบงบประมาณใหม่ให้คู่ขนานทั้งเชิงภารกิจและเชิงพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณในโครงการใกล้ตัวเช่น การศึกษา การเกษตร การสาธารณสุข เชื่อว่า กระบวนการจัดทำงบประมาณดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนตื่นตัวในการตรวจสอบนักการเมืองท้องถิ่น และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ สมาชิก สปช. ส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ และต้องการให้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลักในการบริหารประเทศ เสร็จก่อนมีรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งให้ลดอำนาจกระบวนการแทรกแซงนโยบายรัฐ เพราะจะเป็นผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ชาติ และการมีส่วนร่วมของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น