xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปราชการ ชง 5 ข้อ กมธ.ยกร่างฯ ตั้ง คกก.คัดคนดี ลดขนาดรัฐเพิ่มอำนาจ ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.-รอง ปธ.กมธ.ปฏิรูประบบราชการ แถลง 5 ข้อเสนอ ต่อ กมธ.ยกร่าง รธน. ตั้ง คกก.จริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ คัดคนดี-เก่ง บริหารชาติ ควบคุมคนชั่ว แนะเปลี่ยนวิธีจัดทำงบฯเป็นแบบจัดตามภารกิจ พร้อมลดขนาดรัฐ เพิ่มอำนาจ ปชช. สร้างดุลยภาพการบริการส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น

วันนี้ (4 ธ.ค.) นายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน สภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมด้วยนายธรรมรักษ์ การพิศิษฏ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ ฯแถลงถึงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า ต้องการให้มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น คือ 1. เสนอให้จัดตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้ชื่อ “คณะกรรมการจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ” มีอำนาจในการพัฒนาหลักธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดินให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ วางมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ขาดคุณธรรมอย่างจริงจัง ส่งเสริมคนดีเข้ามาบริหารประเทศด้วยการปฏิรูประบบ การคัดเลือก สรรหา บรรจุ แต่งตั้ง ให้ได้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่ดีและเก่งเข้ามาทำงาน โดยเชื่อว่าจะส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 50-60%

2. ปฏิรูประบบงบประมาณให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรของชาติ โดยให้มีการจัดทำระบบงบประมาณตามภารกิจ เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ ประเมินประสิทธิภาพการใช้งบประมาณที่ผลของโครงการ 3. เพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปทุกด้าน จำกัดบทบาทภาครัฐ ลดการแทรกแซงของรัฐในกลไกตลาด ที่ทำให้เกิดความบิดเบือนในการจัดสรรทรัพยากรอันมีอยู่จำกัด และนำมาซึ่งความไร้ประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศจนแข่งขันกับใครไม่ได้ ส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งเพื่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมให้มีความสมดุลมากขึ้น ลดขนาดภาครัฐให้เล็กลง

4. กำหนดขอบเขตภารกิจ อำนาจหน้าที่และจัดดุลความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างราชการบริการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพิ่มอำนาจประชาชน ลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ และอำนาจส่วนกลางในการปรับเปลี่ยนบทบาทของภูมิภาคด้วยการขยายบทบาทท้องถิ่นมาทดแทน 5. ระบุข้อความในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบทบาทของรัฐด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจและสังคม การป้องกันประเทศอันเป็นผลประโยชน์ของชาติ และจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวเพื่อให้ใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผน แนวทางการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจสังคม ความมั่นคงระยะปานกลางต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น