“ดาว์พงษ์” เผย “นายกฯ” เตรียมลงพื้นที่ส่งมอบที่ดิน ต.แม่ทา จ.เชียงใหม่ 5 พันไร่ ให้เกษตรกรล็อตแรก 2 พันครัวเรือน ตามนโยบายจัดสรรที่ดิน “คนอยู่ร่วมกับป่า” ย้ำต้องใช้ประโยชน์ในรูปแบบสหกรณ์ ห้ามซื้อขาย เน้นปลูกพืชโตเร็ว
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นี้ พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คทช. ว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำแนวทางการจัดสรรที่ดินแก่เกษตรกรและผู้ที่ไร้ที่ดินทำกินเมื่อได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐ ต้องช่วยกันดูแลและปกป้องป่าไม้ เบื้องต้นการดำเนินการในช่วงแรก หรือ เฟสแรก ที่เป็นทั้งที่ดินรกร้องว่างเปล่าและที่ดินที่ประชาชนบุกรุกอยู่เดิม ประมาณ 5 หมื่นไร่เศษ โดยเป็นพื้นที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (ทส.) โดยกรมป่าไม้ และสำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีแห่งแรกที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 6 - 7 พันไร่ รองรับประชาชนเข้าอยู่อาศัยและทำกินได้ประมาณ 2 พันครัวเรือน โดยทางกระทรวงกำลังเตรียมการความพร้อมที่จะให้ นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ไปเป็นประธานส่งมอบที่ดินให้กับเกษตรกรด้วยตัวเองในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้ใช้รูปแบบสหกรณ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ในแบบตรงกลางพื้นที่เป็นควรเป็นพื้นที่ส่วนรวม และพื้นที่รอบๆประชาชนใช้ประโยชน์อาศัย และทำการเกษตร เน้นการปลูกพืชโตเร็ว และใช้ประโยชน์ในการใช้งานได้ทันที เช่น ไม้ไผ่ เป็นต้น โดยทางภาครัฐจะเข้าไปดูแลด้านสาธารณูปโภค ที่สำคัญในการใช้ประโยชน์ทางภาครัฐจะมีการประเมินการใช้ที่ดินด้วย อาทิ ความร่วมมือในการป้องกันดูแลไฟป่า หรือ การร่วมกันช่วยปลูกป่าเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล เป็นต้น
สำหรับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่จะนำมาดำเนินการในช่วงที่สอง หรือ เฟสสอง จำนวน 8 พื้นที่ 8 จังหวัด เนื้อที่ 51,929 ไร่ ในจังหวัดกาญจนบุรี ป่าเขาพระฤาษีและป่าเขาบ่อแร่, จังหวัดราชบุรี ป่าพุยางและป่าพุสามซ้อน, จังหวัดลำปาง ป่างาวฝั่งซ้าย, จังหวัดอุตรดิตถ์ ป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา, จังหวัดเชียงราย ป่าสบกกฝั่งขวา, จังหวัดพะเยา ป่าแม่จุน, จังหวัดยโสธร ป่าโคกนาโก และ จังหวัดอุบลราชธานี ป่าห้วยยอดมน สำหรับแนวทางการดำเนินการเป็นไปตามลักษณะตามนโยบายรัฐบาล