ผ่าประเด็นร้อน
การแสดงท่าทีล่าสุดของ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสองวันก่อน เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะมีการมีการพิจารณากันในช่วงท้ายๆ ของการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องมีการหารือกันในที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่า จะมีการลงประชามติหรือไม่ แม้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 จะไม่ได้กำหนดเอาไว้ก็ตาม
ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นหลังจากในระยะหลังมีความเห็นไปในทางเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า น่าจะต้องมีการทำประชามติรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการบังคับใช้ เพื่อสร้างความชอบธรรม โดยความเห็นส่วนใหญ่มาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จากพรรคการเมืองหลักๆ แทบทั้งหมด
อย่างไรก็ดี หากมีการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจริงๆ นั่นก็หมายความว่า การเลือกตั้งทั่วไป ที่ตามโรดแมป ได้กำหนดเอาไว้แบบคร่าวๆ ตามที่ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และที่ปรึกษา คสช. วิษณุ เครืองาม เคยระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ หลังจากชี้แจงกับอุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อปลายปีที่แล้วว่า ตามขั้นตอนแล้วจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อย่างไรก็ดี เขาได้กล่าวเพิ่มเติมตามมาอีกว่า หากมีการลงประชามติการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2559 เนื่องจากต้องมีการออกกฎหมาย มีการประชาสัมพันธ์ มีการของบประมาณ มีการเตรียมการใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน
หากมีการลงประชามติ นั่นก็หมายความว่า จะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในเรื่องดังกล่าวตามมาในภายหลัง ซึ่งก็ต้องจับตาว่าจะมีการเคลื่อนไหวในเรื่องแบบนี้เมื่อใด หากพิจารณาจากความคืบหน้าของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ในช่วงของการรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ในกลุ่มแม่น้ำ 5 สาย ก่อนวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ที่ถือว่าเป็นวันสุดท้าย ทุกอย่างต้องนิ่งไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกันอีก รอเพียงแค่ส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น
สำหรับเหตุผลของฝ่ายที่สนับสนุนให้ทำประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมว่าหากผ่านความเห็นชอบนั่นก็หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงทั้งกับตัวรัฐธรรมนูญ เนื้อหาตัวบทข้างใน ที่มีการกำหนดออกแบบไว้อย่างไรก็ล้วนเป็นผลมาจากการอนุมัติเห็นชอบจากประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เป็นผู้กำหนดให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาอีกด้วย สำหรับใช้เป็นทางถอยเมื่อต้องลงจาก “หลังเสือ” ในวันหน้า
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเป็นความเสี่ยงอยู่บ้าง หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านการลงประชามติ แต่เมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้ ถึงอย่างไรก็ยังเชื่อว่าน่าจะมีน้อยมาก เพียงแต่ว่าก็ต้องจับตาพวกที่เสียประโยชน์คอย “จ้องป่วน” เพื่อทำลาย คสช. ซึ่งหากพิจารณากับแบบตรงไปตรงมาก็ไม่มีใครนอกเหนือจากฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น ที่จะได้รับผลกระทบจากอำนาจ หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ ล่าสุด ก็เริ่มออกมาให้ความเห็นแบบหยั่งเชิงกันล่วงหน้าว่าอาจจะบอยคอตการเลือกตั้งอะไรประมาณนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากพิจารณาจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญล้วนออกแบบเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ เผด็จการรัฐสภา ป้องกันการทุจริต ซื้อเสียง เอาไว้ค่อนข้างเข้มงวด มีการป้องกันบิดเบือนเจตนารมณ์ของเสียงส่วนใหญ่เอาไว้มากกว่าเดิมโดยเรียนรู้และปรับปรุงจากรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว ทั้งฉบับปี 40 และฉบับปี 50 มาเป็นบทเรียน
ขณะเดึยวกัน สิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบ ก็คือ หากมีการทำประชามติกันจริงๆ มันก็ต้องสร้างบรรยากาศเสรีให้เกิดขึ้นด้วย และคงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการลงประชามติในท่ามกลางการบังคับใช้กฎอัยการศึกกันแบบนี้ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เพิ่งให้ความเห็นออกมาแล้วว่ากำลังพิจารณาอยู่ว่าจะใช้กฎหมายใดมาแทนกฎอัยการศึกในโอกาสต่อไป นั่นก็หมายความว่า เตรียมจะยกเลิกในอีกไม่นานข้างหน้า เนื่องจากต้องยอมรับความจริงว่าแม้ว่าการคงไว้ซึ่งกฎหมายพิเศษดังกล่าวจะช่วยรักษาความสงบและความมั่นคงได้ระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวไม่น้อย เพราะภาพแบบนี้ในสายตาตะวันตกมันดูน่ากลัว
นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ต้องยอมรับความจริงกันอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ หากมีการลงประชามติรัฐธรรมนูญกันก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบ จะต้องอยู่ควบคุมอำนาจต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้องยืดเวลาออกไปอีก 3 - 5 เดือน ค่อนไปทางปลายปี 59 จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งนี่เป็นกระบวนการขั้นตอนตามปกติ
ดังนั้น ถ้าพิจารณากันตามรูปการณ์และท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็น่าจะมองออกแล้วว่าในที่สุดก็คงจะต้องไฟเขียวให้ลงประชามติ รวมไปถึงอีกไม่นานข้างหน้าก็น่าจะยกเลิกกฎอัยการศึก แต่อาจบังคับใช้ กฎหมายอื่นแทน อาจจะเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือไม่ยังไม่ชัดเท่านั้นเอง !!