“บวรศักดิ์” แจง สปช. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข้ประเทศไทย ชูยกระดับราษฎรเป็นพลเมือง เลิกตามก้นนักการเมือง ให้สิทธิ์ประชาชนจัดปาร์ตีลิสต์เอง สกัดนายทุนฮุบที่นั่ง ผุดแผนกคดีวินัยการคลังฯ ฟันคดีผลาญเงินแผ่นดิน แจงให้อำนาจรัฐบาลยุบสภาเพื่อสร้างการเมืองถ่วงดุล ด้าน “เอนก” มั่นใจหนักมาก การเมืองไทยพ้นวงจรอุบาทว์ เชื่อปรองดองได้ปฏิรูปสำเร็จ
วันนี้ (10 มี.ค.) การประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้มีการรับทราบรายงานความคืบการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากการรายงานสรุปของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า กรรมาธิการได้ยกร่างร่างแรกเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังไม่นิ่ง กรรมาธิการได้วิเคราะห์ถึงปัญหาระบบการเมืองไทยทั้งอดีตและอนาคต คิดว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 10 ปีเต็ม ขัดแย้งที่ร้าวลึก แบ่งฝ่ายคนไทยออกเป็นสีเสื้อต่างๆ มีการดึงสถาบันต่างๆ มาสู่ความขัดแย้งไม่เว้นแม้แต่สถาบันเดียว และปัญหาเหล่านี้ยังไม่สิ้นสุด เป็นไข้ตัวรุมเพียงแต่มียาพาราคืออัยการศึกกำกับไว้ พร้อมที่จะกำเริบเมื่อยาหมดฤทธิ์ ความขัดแย้งนี้กรรมาธิการและสปช.ต้องร่วมกันแก้ เพราะถ้ายังขัดแย้งอย่างนี้ต่อไปไม่แน่ไทยอาจจะรั้งท้ายประเทศที่10 ของอาเซียนก็ได้
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากขัดแย้งในเชิงความคิดเห็นการเมืองของกลุ่มบุคคลแล้ว สมมติฐานที่แท้จริงคือความไม่เป็นธรรมในเศรษฐกิจสังคม ระหว่างคนมั่งมีมหาศาลส่วนใหญ่ในเมือง กับคนไม่มีหรือชั้นกลางระดับล่างส่วนใหญ่ในชนบท ผลแห่งการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่แผนแรกจนถึงแผนที่ 11 ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของคนที่รวยที่สุด 20% ด้านบนซึ่งเป็นเจ้าของรายได้ประชาชาติ ถึง 54% กับคนจนสุด 20% สุดท้ายซึ่งเป็นเจ้าของรายได้ประชาชาติเพียง 4% เศษๆ และหากเอาคนที่อยู่ลำดับ 60% สุดท้ายของประเทศรวมกันเป็นเจ้าของรายได้ประชาชาติเพียง 25% ซึ่งเป็นอย่างนี้มา 50 ปีเศษ ขณะเดียวกัน หากดูการถือครองกรรมสิทธิ์บุคคล ข้อมูลทีดีอาร์ไอระบุชัดว่ากรรมสิทธิ์ในส่วนเอกชน 31% เป็นของ 80% ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เหลือ 69% เป็นของคนเพียง 20% บัญชีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ที่มีเงินตั้งแต่ 10 ล้านขึ้นไป และเป็นจำนวน 42% ของบัญชีเงินฝากทั้งประเทศเป็นของเจ้าของบัญชีเพียง 7 หมื่นราย เมื่อความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรและเศรษฐกิจสังคมเป็นสมมติฐานของความขัดแย้ง จึงจำเป็นต้องแก้ให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ กรรมาธิการมองว่า การบริหารจัดการบ้านเมือง จัดการได้โดยสองกลุ่มคือ นักการเมืองกับพลเมือง พบว่าการเมืองยังมีปัญหาไม่ได้รับความเชื่อถือในสุจริตโปร่งใส มีการกล่าวหามีการทุจริตมากมายหลายระดับ หลังสุดคือคดีจำนำข้าวที่อื้อฉาวทั่วโลก นอกจากนักการเมืองทำหน้าที่ในสภาตัดสินใจแทนบ้านเมือง ไมได้รับความน่าเชื่อถือ การเมืองที่ในระบบการจัดการบ้านเมืองก็ยังไม่สมดุล ระหว่างพรรคการเมืองกับคนที่ไม่อยากสังกัดพรรค ไม่สมดุลระหว่างคนที่ลงคะแนนเสียงความนิยมทั่วประเทศ หลายพรรคได้น้อยกว่าจำนวน ส.ส. พรรคใหญ่ได้คะแนนเสียงนิยมไม่มากเท่า ส.ส. ที่ได้ จึงต้องทำหน้าที่ให้ปัญหานี้หมดไป
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า กรรมาธิการเห็นว่าพลเมือง ทยยังไม่ได้รับโอกาสที่ดีในการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองอย่างเหมาะสม จำนวนหนึ่งยังเป็นราษฎรที่ต้องการชี้นำจากนักการเมือง รัฐธรรมนูญนี้จะต้องมีเจตนารมณ์แก้ปัญหาในอดีตและสร้างทางเดินไปสู่อนาคต 4 เจตนารมณ์หลัก คือ 1. ต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่จริงในแผ่นดิน 2. ต้องทำให้การเมืองใส่สะอาด สมดุล 3. ต้องหนุนสังคมที่เป็นธรรม และ 4. ต้องนำชาติสู่สันติสุข
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีเจตนารมณ์ ต้องการยกระดับราษฎรให้เป็นพลเมืองไม่ต้องตามนักการเมืองเหมือนในอดีต มีการตั้งองค์กรขึ้นมาหลายองค์กร ขยายเพิ่มสิทธิมนุษยชน และสิทธิ์ต่างๆ เช่น เด็กเยาวชนได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ขยายฐานการศึกษาเป็น 15 ปี กสทช. เวลาประมูลคลื่นต้องคำนึงถึงบริหารที่มีคุณภาพทั่วถึง และได้ประโยชน์สูงสุดเป็นหลัก ไม่ใช่คำนึงรายได้มหาศาลเข้ารัฐและโยนภาระให้ประชาชนเหมือนทุกวันนี้ กำหนดทรัพยากรธรรมชาติเป็นของสาธารณะ ทั้งปิโตรเลียม ป่าไม้ ไม่ใช่กำหนดเพื่อเอกชนหรือกลุ่มใด กำหนดให้มีสมัชชาพลเมือง ที่มีส่วนร่วมในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มีสภาตรวจสอบภาคประชาชน ส่งเสริมความซื่อตรงของพลเมืองในจังหวัด โดยต้องตรากฎหมายรองรับกำหนดการคัดเลือกแบบสถิติ มีวาระเพียง 1 ปี เพื่อป้องกันมาเฟีย
“การฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงของนายกฯ รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา วันนี้เมื่อเกิดขึ้นเรื่องก็เงียบหาย มีการชกต่อยในสภา ส่งให้กรรมการจริยธรรมเรื่องก็เงียบ แต่วันนี้ถ้า ประพฤติผิดจริยธรรมร้ายแรง สมัชชาคุณธรรมชี้มูลส่งไปให้ กกต. ขึ้นบัญชีไว้ ถ้าเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีต้องลงมติทั้งประเทศ ถ้าพ้นตำแหน่งไปแล้วถอดถอนไม่ได้ก็สามารถลงมติว่าควรตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีหรือไม่ ถ้าเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ส่งไปให้ กกต. ขึ้นบัญชีรายชื่อไว้ เพื่อให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ประชาชนในภาคที่ตนเองสังกัดจะลงคะแนนลงมติถอดถอนหรือไม่หากเป็น ส.ว. หรือจะตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี หากเป็น ส.ส.”
ส่วนการเลือกตั้งแบบใหม่หรือแบบสัดส่วนผสม ประชาชนจะมีบัตรสองใบ เลือกคนในเขต 250 เขตๆ ละคนและเลือกบัญชีรายชื่อพรรค 6 ภาค ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแบ่งมาแล้ว อดีตที่ผ่านมาพรรคการเมืองจัดให้นายทุนพรรคอยู่ลำดับต้นๆ จัดมาอย่างไรก็ตามนั้น แต่ระบบใหม่รายชื่อผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคเสนอมาจะถูกจัดลำดับใหม่โดยการลงคะแนนของประชาชน
“เช่น พรรคเสนอนายหมูอันดับ 1 แต่ประชาชนไม่ชอบใจลงคะแนนให้นายไก่ที่อยู่อันดับ 10 ขึ้นมาอยู่อันดับ 1 ส่วนการนับคะแนนจะทำสองครั้ง คือ นับคะแนนปาร์ตีลิสต์รวมกันทั้งประเทศเพื่อจำนวน ส.ส. ที่จะได้จริง และนับคะแนนของคนในบัญชีรายชื่อ ดีไม่ดีนายหมู ซึ่งเป็นนายทุนพรรคอาจจะลงไปอยู่ลำดับ 30 นายกุ้ง เบอร์ 34 อาจจะขึ้นมาเบอร์ 1 ก็ได้ เรียกว่าเป็นการคืนอำนาจในการจัดคนในบัญชีรายชื่อไปให้ประชาชน นี่ไม่ใช่ระบบเยอรมันเขาไม่มีแบบนี้ ของเราเป็นระบบเปิด ประชาชนเป็นใหญ่จริงๆ”
นอกจากนี้ ยังให้สิทธิ์พลเมืองในการลงมติแก้ไขหลักสำคัญๆ เช่น การแก้ไขหลักการสำคัญรัฐธรรมนูญต้องได้คะแนน 2 ใน 3 และต้องส่งให้ประชาชนลงประชามติ เรื่องที่กฎหมายบัญญัติ และเรื่อง ครม. ของชาติที่สำคัญเกี่ยวกับท้องถิ่น เช่น ถกเถียงกันเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ได้ข้อยุติก็ส่งให้ทำประชามติ และร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอ แล้วสภาไม่รับหลักการ หากมี ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ร้องขอให้ทำประชามติได้ คือกลับไปให้ประชาชนตัดสิน ตัวการต้องใหญ่กว่าตัวแทน
“โดยสรุปรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 เรื่องการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่อย่างชัดเจน แต่เสียดายพลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนไม่มีสิทธิ์ มีเสียงจึง ไม่มีการพูดถึงในสื่อ”
นอกจากนี้ ยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดลักษณะผู้นำนักการเมืองที่ดีมีจริยธรรม มีระบบการรับเงินบริจาคในพรรคอย่างโปร่งใส ให้สมัชชาคุณธรรมเป็นผู้กำหนดธรรมจริยธรรมทุกปี กำกับไต่สวนจริยธรรม ส่งเรื่องให้ถอดถอน กำหนดให้ผู้สมัครระดับชาติ ท้องถิ่นเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ให้ประชาชนตรวจสอบได้ ให้มีการเปิดเผยการใช้งบแผ่นดินของภาครัฐ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริต คุ้มครองผู้ชี้มูลเบาะแส ถ้าทำไม่สุจริตก็ต้องรับโทษ ให้ กกต. ทำหน้าที่ปราบทุจริตให้ดีขึ้นโดยให้ออกกฎเกณฑ์ ควบคุมชี้ขาดการเลือกตั้ง แต่ให้มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งดูแลการเลือกตั้งแทน ที่ผ่านมา หัวคะแนนคือเจ้าหน้าที่รัฐถือกระเป๋าเงินไปแจกหัวคะแนน แต่ กกต. ไม่สามารถจับได้ เพราะเท่ากับตนเองจัดการเลือกตั้งไม่เป็นกลาง 17 ปีที่ผ่านมา จึงจับเฉพาะผู้สมัครที่ซื้อเสียง วันนี้จึงต้องการให้จับทั้งผู้สมัครที่ซื้อเสียงและเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เป็นกลาง เป็นการระบบตรวจสอบถ่วงดุลกันเองในระบบจัดการเลือกตั้งและคุมเลือกตั้ง
ส่วน ป.ป.ช. จะให้มีอำนาจตรวจสอบเฉพาะเรื่องที่สำคัญจริงๆ คือ ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองและหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง และ กรม ไม่ต้องลงไปดูระดับผู้ตรวจหรือผู้อำนวยการกอง เพื่อให้การทุจริตได้รับการปราบปรามครบถ้วนทุกช่องทาง มีการตั้งแผนกคดีวินัยการคลังและงบประมาณในศาลปกครอง ที่ผ่านมาคดีถอดถอนที่นำไปสู่คดีอาญาจะต้องมีใบเสร็จ ทำให้หลายคดีหลุดเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงต้องมีการช่องตรงกลางแก้ปัญหานี้ เช่น การใช้เงินนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณมหาศาล ที่ถอดถอนหรือดำเนินคดีอาญาไม่ได้ ทาง ป.ป.ช. หรือ สตง. เห็นว่าฝ่ายการเมืองระดับสูงทำการใช้อำนาจ โดยเล็งเห็นว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณ แล้วมีหลักฐานอันพึงเชื่อได้ว่า หรือเล็งเห็นได้ว่าการกระทำนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเงินแผ่นดิน ก็สามารถฟ้องไปยัง แผนกคดีวินัยการคลังและงบประมาณเองได้ เชื่อว่าจะสามารถอัดช่องปัญหานี้ได้
“การเมืองจะใสสะอาดอย่างเดียวไม่ได้ถ้าการเมืองนั้นไม่สมดุล ก็จะส่งผลต่อการบริหารบ้านเมือง เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้จึงต้องการให้มีความสมดุล ยกระดับให้ประชาชนเป็นใหญ่เท่ากับนักการเมือง ให้สมดุลระหว่างสภาบนสภาร่างจึงจำเป็นต้องมีสองสภา หลายประเทศมีสภาเดียวแต่กรรมาธิการเห็นว่าจะกลายเป็นรถด่วนตกขบวนเร็วหากไม่มีการเบรก ลองนึกดูถ้าวันนั้นออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้โดยไม่มีการเบรกอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง การมีสองสภาจึงเป็นการทอดเวลาให้มีการยั้งคิดติดเบรกไม่ให้พุ่งไปข้างหน้าจนเกิดปัญหา ดังนั้น สภาบนกับสภาร่างต้องหน้าตาไม่เหมือนกัน เมื่อสภาล่างมาจากพรรคการเมือง เสียงข้างมาก แล้วให้สภาบนมาจากการเลือกตั้งอีกก็ไม่มีประโยชน์ จึงสร้างความสมดุลโดยให้สภาผู้แทนมาจาการเลือกตั้งโดยระบบผสม มีอำนาจตั้งรัฐบาล ควบคุมถอดถอนได้ในทางการเมือง ส่วนวุฒิสภาเป็นพหุนิยมของพลเมืองหลากหลายอาชีพ เพื่อถ่วงดุลสภาผู้แทนฯ”
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญใหม่สร้างสมดุลระหว่างวินัยพรรคกับความเป็นอิสระของ ส.ส. กำหนดห้ามผู้ที่ไม่ไม่ให้ ส.ส. ไปมีมติให้ ส.ส. ลงมติไม่ได้ หาก ส.ส. ลาออกจากพรรคหรือกลุ่มการเมืองจะต้องพ้นจาก ส.ส. เพื่อให้มีเกิดการขายตัว แต่หาก ส.ส. ไม่ลงมติตามมติพรรคแล้วถูกขับออกจากพรรคก็ไม่พ้นจากสมาชิกภาพ สร้างสมดุลแยกอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติ ห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรี แต่มีมาตรการห้าม ส.ส. ที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีทำลายเสถียรภาพรัฐบาล โดยกำหนดให้หากชนะโหวตไม่ไว้วางใจในสภาต้องยุบสภา
“มีคนบอกว่า เราเมาหรือเปล่า ยืนยันว่าไม่เมา เพราะในประวัติศาสตร์การเมืองไทยการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลไม่เคยประสบความสำเร็จ จึงต้องการจะบีบให้ฝ่ายค้านใช้มาตรการที่รุนแรง จริงจังและได้ผลมากกว่าคือกล่าวหาว่าทุจริตแล้วไปฟ้องศาลแผนกคดีวินัยการคลังและงบประมาณ และยังให้นายกฯขอความไว้วางใจจากสภาได้ จะเป็นการส่งสัญญาณถึง ส.ส. ว่า หากไม่ไว้วางใจต่อไปก็จะยุบสภา อีกทั้งยังให้นายกฯแถลงว่าร่างกฎหมายทั้งฉบับ หรือบางมาตราเป็นการให้ความไว้วางใจรัฐบาล เช่น เสนอกฎหมายเรื่องทุจริตเข้ามา ก็ไปแก้จนเสือกลายเป็นหมูไม่มีเขี้ยว ก็ต้องให้รัฐบาลแถลงได้ว่าร่างนี้เป็นความไว้วางใจรัฐบาล รอ 48 ชั่วโมงถ้าไม่มีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ร่างนี้จะผ่านสภาไปยังวุฒิสภาได้เลย แต่ถ้ามีการยื่นญัตติเข้ามาในเวลากำหนดและมีการลงมติแล้วรัฐบาลชนะก็ผ่านกฎหมายไปวุฒิสภา แต่ถ้าแพ้ก็ยุบสภาทันที เป็นการส่งสัญญาณ ส.ส. ว่าอย่าเบี้ยว อย่าเรียกร้อง หรือเอาเกณฑ์การออกกฎหมายมาต่อรอง แต่ถ้ากลัวว่าจะเป็นเผด็จการเราก็ให้ใช้มาตรการนี้ได้เพียงหนเดียวในสมัยประชุมเดียว นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พรรครัฐบาลเป็นประธานสภา แต่พรรคที่ได้คะแนนอันดับสองเป็นรองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง และประธานกรรมาธิการชุดสำคัญในสภาที่เป็นกรรมาธิการตรวจสอบ ต้องมาจากฝ่ายค้าน ทั้งหมดก็เพื่อสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่และสร้างการเมืองให้ใสสะอาดและสมดุล
ด้าน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปรองดองและปฏิรูป เราจะไม่กลับไปเป็นแบบเดิม การเมืองไทยจะไม่มีแต่ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีแต่นักการเมืองกับพรรคการเมืองเท่านั้น หรือพลเมืองมีเวลาเพียง 4 นาที จากนั้นก็เป็นเพียงผู้ชม หรือผู้ประท้วงเท่านั้น การเมืองแบบผู้แทนยังมีอยู่และเป็นหลักสำคัญ แต่ไม่ใช่เป็นหลักเดียวและจะต้องมีการนำไปสู่การร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายรวมทั้งกลุ่มการเมืองในการ เข้ามาแบกรับประเทศชาติและความร่วมมือร่วมใจแบบปรองดองด้วย ดังนั้น ความคุ้นชินในการมีพรรคการเมืองกลุ่มเดียว หรือมีพรรคเล็กมาร่วมประกอบเป็นรัฐบาลอย่างเดียว ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ๆกลับมาเป็นฝ่ายค้าน ต่อไปนี้จะไม่กลับไปเป็นแบบเดิม แต่จะเป็นรัฐบาลผสมที่ออกมาแบบโดยประชามติของประชาชน จึงได้มีเสียงวิจารณ์ต่างๆ เพราะเคยชินการเมืองแบบเดิมๆ ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ จะไม่ให้กลับไปสู่การเมืองแบบเดิมอีกจึงได้เสนอนวัตกรรมการเมืองขึ้นมา
“เรากำลังเขียนรัฐธรรมนูญที่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยความตั้งใจว่าเราจะไม่กลับไปเป็นแบบเดิม จะปฏิรูปประเทศอย่างแน่นอนและแจ่มชัด และรัฐธรรมนูญนี้นอกจากจะเป็นของประชาชนและประเทศชาติแล้ว ยังเป็นของสปช.ด้วย เพราะสิ่งที่เราได้เสียเวลาคิดหรือพูดในเนื้อหาสาระยังอยู่ในรัฐธรรมนูญ 15 มาตรา และ สปช. 60 คน จะต้องมาอยู่ในสภาขับเคลื่อน”
เชื่อปรองดองได้ปฏิรูปสำเร็จ
นายเอนก กล่าวว่า ส่วนเรื่องการปรองดองนั้นเป็นไปตามความคิดที่ว่าการปฏิรูปโดยปราศจากการปรองดองก็เหมือนตบมือข้างเดียว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปสำเร็จ โดยมีการเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีคณะกรรมการอิสระส่งเสริมความปรองดองแห่งชาติจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ส่วนที่อยู่ในความขัดแย้ง และส่วนที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง ทำหน้าที่เป็นคนกลางแก้ไขความขัดแย้ง รวบรวมข้อเท็จจริงวิเคราะห์หาสาเหตุและเสนอแนวทางแก้ไขต่อวุฒิสภา และทำหน้าที่เยียวยา ฟื้นฟูจิตใจผู้ได้รับความเสียหาย รวมถึงเสนอให้มี พ.ร.ฎ. อภัยโทษให้กับบุคคลที่ให้สำนึกผิด และความจริงที่เป็นประโยชน์กับคณะกรรมการ และให้การศึกษาเรียนรู้กับสาธารณชนให้เห็นถึงผลของการแตกแยกการใช้ปัญหาด้วยความรุนแรง ไม่ได้ย้ำให้คนเปลี่ยนความคิดหรืออุดมการณ์ แต่ให้ต่อสู้ด้วยสันติวิธี ตามระบอบประชาธิปไตย