xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาพิพากษากลับจำคุก 2 ปี “อมเรศ-วิชรัตน์” เอื้อ บ.เลแมนฯ ประมูลขายหนี้เน่าปี 2541 (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษากลับให้จำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท “อมเรศ ศิลาอ่อน” อดีตประธาน ปรส. และ “วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ” อดีตเลขาฯ ปรส.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เอื้อบริษัท เลแมนฯ ประมูลขายสินทรัพย์หนี้เน่าปี 2541 โทษจำคุกให้รอลงอาญา 3 ปี



ที่ห้องพิจารณา 905 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 26 ส.ค. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีดำ อ.3344/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอมเรศ ศิลาอ่อน อายุ 83 ปี อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.), นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อายุ 69 ปี อดีตเลขาธิการ ปรส., บริษัท เลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ จำกัด โดยนาย ชาร์ล เจสัน รูบิน (CHARLES JASON RUBIN) ผู้รับประโยชน์, บริษัท เลแมน บราเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายชาร์ล เจสัน รูบิน (CHARLES JASON RUBIN) ที่ปรึกษา ปรส., กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ผู้รับโอนสิทธิจากการประมูลสินทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ผู้จัดตั้งกองทุนรวมโกลบอลไทยฯ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11

คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2551 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. - 1 ต.ค. 2541 นายอมเรศ จำเลยที่ 1 ในฐานะประธาน ปรส.มีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของ ปรส. รวมทั้งกำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์เน่า) ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้จัดตั้ง ปรส.ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินฟื้นฟูฐานะของสถาบันการเงิน

ส่วนนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดำเนินกิจการของ ปรส.ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่องค์การกำหนด โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2541 คณะกรรมการ ปรส.มีมติให้มีการจำหน่ายสินทรัพย์หลักการเช่าซื้อที่อยู่อาศัย ครั้งที่ 2 แล้ววันที่ 3 ก.ค. 2541 ปรส. และบริษัท เลแมน บราเดอร์สฯ จำเลยที่ 3 ได้ออกข้อกำหนดนโยบาย และขั้นตอนการจำหน่ายสินทรัพย์ พร้อมกำหนดวันประมูลในวันที่ 30 ก.ค.41 และปิดการจำหน่ายในวันที่ 1 ก.ย. 2541

แต่ต่อมา ปรส. มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2541 ให้เลื่อนการประมูลจากวันที่ 30 ก.ค. 2541 ไปเป็นวันที่ 13 ส.ค. 2541 แทน โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2541 ปรส.และบริษัทจำเลยที่ 3 ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายประการโดยให้ผู้เสนอราคา สามารถเสนอราคาโดยให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแทนผู้ซื้อได้หากกองทุนดังกล่าวสามารถจัดตั้งได้ภายในวันปิดการจำหน่ายแล้วบริษัทจำเลยที่ 3 ยื่นแบบฟอร์มขอเสนอราคาซื้อในนามของตนเอง เข้าประมูลร่วมกับผู้ประมูลรายอื่นอีก 3 รายโดยเสนอราคาที่ 11,520 ล้านบาทพร้อมวางหลักประกันเป็นเงิน 10 ล้านบาท โดยบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้เสนอราคาประมูลสูงสุด ปรส.จึงมีมติให้จำเลยที่ 3 ต้องทำสัญญาซื้อขายภายใน 7 วันนับจากวันที่ 20 ส.ค. 2541 และต้องชำระเงินงวดแรก 20% ของราคาเสนอซื้อที่ชนะการประมูลเป็นเงิน 2,304 ล้านบาท ซึ่งหากจำเลยที่ 3 แต่วันที่ 20 ส.ค. 2541 ที่เป็นวันครบกำหนดจำเลยที่ 3 กลับไม่เข้าทำสัญญาซื้อขายและไม่ชำระเงินงวดแรก

กระทั่งวันที่ 11 ก.ย. 2541 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.คลังขณะนั้นแจ้งว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ ปรส.ไม่โปร่งใส มีความขัดแย้งผลประโยชน์ โดยบริษัทจำเลยที่ 3 ที่ชนะการประมูลเป็นบริษัทกลุ่มเดียวของจำเลยที่ 4 ที่ปรึกษา ปรส. และจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการตรวจสอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่กลับให้ ปรส.เข้าทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทจำเลยที่ 5 ในวันที่ 1 ต.ค. 2541 ทั้งที่จำเลยที่ 5 ไม่มีสิทธิเข้าทำสัญญาในฐานะผู้ซื้อเนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ร่วมประมูลและไม่ได้รับอนุมัติให้ชนะประมูลทั้งในนามตนเองและผู้อื่น และการกระทำของจำเลยที่ 1-4 กับพวก ยังเป็นการดำเนินการให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร เข้าทำสัญญาซื้อขายเพื่อประโยชน์ทางภาษีอากร เหตุเกิดที่แขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน และแขวงสีลม เขตบางรัก กทม.เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี โดยเฉพาะจำเลยที่ 1-2 อ้างว่าถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง

โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2555 เห็นว่า การที่ ปรส.มีมติให้ให้เลื่อนการประมูลออกไปจากเดิมวันที่ 30 ก.ค. 2541 เป็นวันที่ 13 ส.ค. 2541 ทำให้จำเลยที่ 3 สามารถไปจัดตั้งจำเลยที่ 5 เพื่อมารับโอนสิทธิการประมูลทรัพย์ได้ทันนั้น แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ และการกระทำที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ขณะเดียวกันก็ทำให้ ปรส. ในฐานะผู้เปิดประมูลขายสินทรัพย์ได้รับความเสียหาย ดังนั้น จำเลยที่ 1-2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ส่วนการจัดเก็บภาษีนั้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอื่น ซึ่ง ปรส.มีหน้าเพียงการซื้อขายสินทรัพย์ จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์แล้วจำเลยที่ 1-2 เป็นผู้บริหารสูงสุดของ ปรส. และต่อมาได้มีการชำระเงินเต็มจำนวนจากการประมูลสินทรัพย์ให้แก่ ปรส.จนครบถ้วนแล้ว จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท

ขณะที่ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 เคยเป็น รมว.พาณิชย์ และประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 เคยเป็นประธานคณะอนุกรรมการการกลั่นกรองติดตามแผนการฟื้นฟูกิจการของสถาบันการเงิน 58 แห่ง กรณีถือว่าได้เคยทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประกอบกับขณะตัดสิน จำเลยที่ 1 มีอายุ 79 ปี จำเลยที่ 2 มีอายุ 65 ปี จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนภายกำหนด 1 ปี พร้อมทั้งให้ทำกิจกรรมบริการสังคมตามสมควรอีก 24 ชั่วโมง

ส่วนบริษัทจำเลยที่ 3-6 จากทางนำสืบของโจทก์คงปรากฏเพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการกระทำของจำเลยที่ 1-2 สำหรับจำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษา ปรส. จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับโอนสิทธิการประมูลสินทรัพย์ และจำเลยที่ 6 เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 5 กรณีจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 3-6 กระทำผิด จึงให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3-6 ให้ยกฟ้อง

ต่อมานายอมเรศ และนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 1-2 ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2557 ให้ยกฟ้องทั้งสอง

ภายหลังอัยการโจทก์จึงยื่นฎีกาเฉพาะในส่วนของนายอมเรศ และนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 1-2 ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด

โดยวันนี้ นายอมเรศ อดีตประธาน ปรส.เดินทางมาพร้อมบุตรชายและทนายความ ขณะที่นายวิชรัตน์ อดีตเลขาธิการ ปรส.ก็เดินทางมาฟังคำพิพากษา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า การกระทำที่จำเลยที่ 1-2 รับบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้เข้าร่วมประมูลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแล้วให้บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชนะประมูล ทำให้ ปรส.ได้รับชำระราคาน้อยลงและรัฐบาลไทยเสียหายเพราะต้องรับผิดชอบในส่วนต่าง อีกทั้งทำให้บริษัทจำเลยที่ 3 ได้เปรียบผู้ร่วมประมูลรายอื่นอันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

อย่างไรก็ดี โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษจำคุก 2 ปีและปรับ 20,000 บาทโดยรอการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ ซึ่งแม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงแต่ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษหนักขึ้นได้ จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายอมเรศกล่าวว่า ที่ผ่านมาตนทำงานเพื่อส่วนร่วมมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีและ ปรส. หลังจากนี้ตนจะกลับไปบอกให้ลูกหลานว่าจะไม่ให้ทำงานเพื่อนส่วนร่วมอีก หรือถ้าคิดจะทำอะไรให้ส่วนร่วมก็ต้องคิดให้ดีๆ และจะต้องทำงานเพื่อตัวเองก่อน เพราะทำให้ส่วนร่วมแล้วถูกลงโทษคิดว่ามันคุ้มหรือไม่

นายอมเรศกล่าวอีกว่า หากทุกคนเข้าใจการค้าต้องรู้อยู่แล้ว ซึ่งประเด็นที่บอกว่าตนทำผิดคือไม่ยกเลิกการประมูลหรือปล่อยให้คนไม่มีสิทธิ์เข้าไปประมูล ตนจึงตั้งคำถามว่าคนของ ปรส.ไม่เข้าใจแล้วจะมีใครที่จะเข้าใจได้อีก และตอนที่ธนาคารปิดไปแล้ว อยากให้ไปถามว่าธนาคารได้เงินคืนไปเท่าใด


กำลังโหลดความคิดเห็น