ผ่าประเด็นร้อน
“หากจำเป็นก็ต้องปรับ” และ “ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นจุดอ่อน”
นั่นเป็นคำพูดของนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อต้นสัปดาห์ถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีที่กลับมาอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
สาเหตุหนึ่งที่กระแสการปรับคณะรัฐมนตรีหวนกลับมาแรงอีกครั้งก็เป็นเพราะที่มีผ่านมามีการตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำหน้าที่ไม่ต่างจากการเร่งรัดการทำงานตามนโยบายของรัฐบาลและคสช.มีการตรวจการบ้านรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ความหมายก็เพื่อสร้างผลงานให้กับรัฐบาลและ คสช.ซึ่งในตอนนั้นมีการกำหนดระยะเวลาเอาไว้เป็นเดือนมีนาคมจะมีการสรุปว่าจะมีการประเมินผลงานว่าจะปรับใครออกบ้าง หากผลงานไม่ผ่าน หรือไม่มีผลงาน ประเภทรัฐมนตรีโลกลืม ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อความกระชฉับกระเฉง
แน่นอนว่า หากพูดแบบนี้ก็ต้องพุ่งสายตาจับจ้องไปที่กระทรวงเศรษฐกิจ หรือ “ทีมเศรษฐกิจ” ที่นำทีมโดยรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อำนวย ปะติเส รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ คนพวกนี้มักถูกวิจารณ์ว่า “ผลงานไม่เข้าตา” ผลงานด้านเศรษฐกิจไม่กระเตื้อง จนถ่วงรัฐบาล ที่ต้องการสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์โดยเร็วเนื่องจากมีเวลาจำกัด อีกทั้งด้วยเงื่อนไขด้านอำนาจที่มีอยู่พร้อมสรรพ ภายใต้กฎหมายพิเศษ แต่หากทำได้แค่นี้ หรือผลงานเฉื่อยแฉะเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมันก็แย่เหมือนกัน
อย่าลืมว่าเรื่อง “ปากท้อง” ของชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ค้ำจุนรัฐบาลและผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ต่างจากเรื่องความมั่นคง
ในรอบ 8 เดือนเรื่องเศรษฐกิจถือว่าเป็นจุดอ่อน เหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับออกมาจริงๆ เพราะจากผลสำรวจออกมาทุกครั้งเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องจะมาที่โหล่ ถูกวิจารณ์ทุกครั้ง ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากคำพูดดังกล่าวนั่นก็แสดงว่าเขารับรู้ถึงจุดอ่อนดังกล่าวอย่างดี และยอมรับความเป็นจริง ซึ่งเชื่อว่าจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพโดยด่วน
แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วทีมเศรษฐกิจชุดนี้ของรัฐบาลจะเป็น “จุดอ่อน” แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณากันถึงรายละเอียดภายในว่า ส่วนหนึ่งมาจากเรื่อง “ไม่เป็นเอกภาพ” หรือพูดกันตรงๆ ก็คือ “เกาเหลา” กันนั่นแหละ โดยมีข้อสังเกตในเรื่องการประสานงาน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยปรากฏว่ามีการประชุมร่วมกันมากี่ครั้ง
ที่สำคัญมักมีข่าวเป็นระยะถึงความไม่ลงรอยกันระหว่าง “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ขณะเดียวกัน หากสังเกตให้ดีจะพบว่าตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาเป็นต้นมาบทบาทด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับมหภาคกลับเทน้ำหนักไปที่ทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ คสช.ที่นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ภายใต้การกำกับของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ที่กลายเป็นว่าระยะหลังเข้ามามีบทบาทนำในด้านเศรษฐกิจแทบจะเต็มตัว
นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนด้านเศรษฐกิจที่สำคัญและมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด นั่นคือ ผลงานที่กระทรวงเกษตรฯ ภายใต้การบริหารของ ปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา และรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ อำนวย ปะติเส ผลงานยังไม่เข้าตา ราคาสินค้าการเกษตรไม่ค่อยกระเตื้อง จนมีเสียงเรียกร้องจากเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้ลาออกไป อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัญหาหลายอย่างอยู่นอกเหนือการควบคุม นั่นคือเป็นปัจจัยภายนอกระเทศที่ไม่เป็นใจ แต่มันก็ช่วยไม่ได้ ในเมื่อไม่อาจสร้างการยอมรับมันก็อาจถึงเวลาที่ต้องไปอย่างเจ็บปวดก็ได้
แม้ว่าที่ผ่านมาหลายคนในทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลล้วนมาในเครือข่าย “เซนต์คาเบรียล คอนเนกชัน” ร่วมทางมากับ “พี่ใหญ่ที่มากบารมี” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่ในเมื่อยุทธศาสตร์ข้างหน้าสำคัญกว่า มันก็ต้องถึงเวลาตัดสินใจ เหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสัญญาณออกมาแล้วว่า “ถ้าจำเป็นก็ต้องปรับ” และ “ฝ่ายเศรษฐกิจเป็นจุดอ่อน” ก็พอมองออกแล้วว่าหวยจะออกแบบไหน!!