xs
xsm
sm
md
lg

จับสัญญาณน็อก ประยุทธ์ ไฟเขียวกฎหมายชี้ขาด ธัมมชโย !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

หากพิจารณาจากคำพูดหลายครั้ง ต่างกรรมและวาระ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในทำนองว่า ทุกคดีจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด เริ่มตั้งแต่เมื่อเสียงจากสังคมเริ่มฮือขัดขวางการ “เกี้ยเซียะ” ปรองดองกับ ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคุก และจำเลยหนีหมายจับคดีทุจริตหลายคดี

มีการเสนอให้เดินทางไปเจรจาถึงต่างแดน อ้างว่าเพื่อความสงบในบ้านเมือง แต่ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกมาสยบความเคลื่อนไหว ด้วยการยืนยันในความหมายว่า “ไม่คุยกับโจร” ให้เหตุผลชัดเจนว่า ตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปคุยกับคนที่กฎหมายต้องการตัวแบบนั้น ถือว่า “ผิดกฎหมาย” และใครก็ตามก็ไปคุย หรือเจรจาด้วยไม่ได้เป็นอันขาด

พร้อมทั้งเรียกร้องให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม มาติดคุก และสู้คดีที่มีอยู่ทั้งหมด ขณะเดียวกันยังย้ำว่า ทุกคดีไม่ว่าใครก็ตามทุกกลุ่ม หากเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีคดีฟ้องฟ้องก็ต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด แน่นอนว่า วิธีการแบบนี้น่าจะเป็นทางออกให้กับบ้านเมือง และหากพิจารณาตามความเป็นจริงมันก็น่าจะเป็นการ “ปรองดอง” ที่ถูกต้อง และยั่งยืนที่สุด หากกระบวนการยุติธรรมที่ว่านั้นเชื่อถือได้ และได้มาตรฐานที่ต้องยอมรับ

ขณะเดียวกัน วิธีการและหลักการแบบนี้ยังเป็นการ “เซฟตัวเอง” อย่างดี หลังก้าวลงจากหลังเสือไปแล้ว หลังจากมีการเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่ในปีหน้าไปแล้ว ซึ่งเจ้าตัวยืนยันก่อนหน้านี้แล้วว่า “จะกลับไปอยู่บ้าน” อยู่กับครอบครัว หรือหากมองในมุมคลาสสิกก็อาจมองได้ว่า นี่คือการ “ลอยตัว” แบบหนึ่งได้อย่างแนบเนียนที่สุดก็ว่าได้

แน่นอนว่าหลายคดีในเวลานี้ ได้สร้างความขัดแย้งในสังคมมานาน ทั้งที่ในความเป็นจริงมันเป็นเรื่องของการต่อสู้กันระหว่าง “ถูกกับผิด” ระหว่างคนที่ไม่ยอมให้ “บางคนละเมิดกฎหมาย” เอาเปรียบสังคม ทนไม่ได้ที่เห็นบางคนบางกลุ่ม “จาบจ้วง” สถาบันเบื้องสูง ทนไม่ได้ที่เห็นการใช้อำนาจทุจริตงบประมาณ เงินภาษีของประชาชนไปหาเสียงทางการเมืองแบบไม่ต้องลงทุนสักบาท นี่ต่างหากคือต้นตอของ “ความไม่สงบ” ถ้าจะเรียกว่า “ขัดแย้ง” กันก็ขอยืนยันว่าไม่ใช่แน่นอน

ถามว่าชาวบ้านที่ออกมาประท้วง ทักษิณ ชินวัตร ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาล “หุ่นเชิด” ของเขา ไม่ใช่เป็นเพราะขัดแย้งกับเขา ไม่ใช่ขัดแย้งกับคนของเขา เพียงแต่ว่าพวกเขาออกมาทวงสิทธิ์ และรับไม่ได้กับการละเมิดกฎหมาย ใช้นโยบายแบบมีผลประโยชน์ทับซ้อน นี่ต่างหาก

แต่ถึงอย่างไร ฝ่ายประชาชนที่ออกมา เมื่อมีคดีคนพวกนี้ก็ก้มหน้าเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้ว่าหลายครั้งยังมีความเคลือบแคลงว่า จะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็ยังเชื่อมั่นให้ศาลตัดสิน และทุกวันนี้ มีบางคดีที่มีการจำคุก มีการประกันตัว มีแต่ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้นที่ไม่ยอม ในทางตรงกันข้าม ยังโวยวายว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งมันก็น่าแปลกถ้าคนอย่างเขา และคนในครอบครัวนี้ไม้ได้รับความเป็นธรรมแล้ว จะมีใครบ้างในประเทศนี้จะได้รับความเป็นธรรม

อย่างไรก็ดี จากท่าทีดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในบ้านเมือง ยืนยันว่า ทุกเรื่องทุกปัญหาต้องให้กฎหมายชี้ขาด ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ โดยไม่ใช้อำนาจพิเศษเข้าไปแทรกแซง นาทีนี้ ก็ต้องนับรวมเอาคดีเงินบริจาคของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ที่มี ศุภชัย ศรีศุกอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ ดังกล่าวที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงเงินสหกรณ์ฯ นับหมื่นล้านบาท โดยเงินส่วนหนึ่ง นำมาบริจาค และโอนเข้าบัญชีให้กับวัดธรรมกาย และเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย คือ “ธัมมชโย” จำนวนไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท

คดีนี้ถือว่าเป็นคดีอาญา และเชื่อมโยงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าบุคคลดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นมาเป็นเวลานาน ซึ่งเวลานี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังสอบสวนอยู่ และเริ่มเดินหน้าอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะหยุดนิ่งไปพักหนึ่ง ขณะเดียวกัน กำลังรื้อฟื้นคดีที่อัยการสูงสุดถอนฟ้อง ธัมมชโย ในคดียักยอกทรัพย์ กลางศาลฎีกา เมื่อปี 49 ก่อนที่ศาลจะตัดสินเพียงไม่กี่วันขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เป็นเรื่องที่น่าจับตาว่านี่อาจเป็น “หมัดน็อก” คาผ้าเหลืองก็ได้

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเป็นการกดดันจากภายนอกที่เวลานี้มีสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำนวนนับร้อยรายได้รวมตัวกันเรียกร้องกันทวงเงินของพวกเขาคืนมา และให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ฉ้อโกง มันก็ทำให้คดีต้องเดินหน้า

และเมื่อจับสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากเข้าใจไม่ผิด กรณีเงินบริจาควัดพระธรรมกาย ก็น่าจะเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเต็มรูปแบบ โดยไม่ถูกตัดตอนเสียก่อน และแม้ว่ายังไม่มีการชี้ขาดออกมา แต่เท่าที่มองเห็นคดีอาญา มันก็พอมองเห็นคนทำผิดได้ชัดเจน และคงจะไม่ใช่เป็นแบบที่ว่า “เมื่อคืนเงินกลับมาให้แล้วก็จบกัน ปรองดองกันไป” คงไม่ใช่ เพราะการรับของโจรนั้น ความผิดนั้นมันสำเร็จแล้ว หลายกรณีมีข้อเปรียบเทียบให้เห็นมาแล้ว

ดังนั้น งานนี้ ถ้าไม่น็อกมีทางเดียว คือ ด้วยเหตุผลปรองดองเท่านั้น แต่จะทำแบบนั้นได้หรือเปล่า น่าติดตาม !!
กำลังโหลดความคิดเห็น