“แก้วสรร” แจงเหตุต้องฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวจาก “ยิ่งลักษณ์” เพราะคดีมีอายุความแค่ 2 ปี หากรอคดีอาญาจบหมดสิทธิเรียกค่าเสียหายคืน แนะให้เอาผิด “ครม.ปู” ทั้งคณะ เนื่องจากความรับผิดชอบทางแพ่ง ต้องรวมรวมผู้รับผิดชอบทั้งหมดมาฟ้องในคราวเดียวกัน หากไม่ยอมชดใช้ต้องไปถึงศาลปกครอง
นายแก้วสรร อติโพธิ แกนนำกลุ่มไทยสปริง กล่าวว่า ปัญหาในโครงการจำนำข้าวยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังพาไปสู่การตรวจสอบทางกฎหมายเต็มรูปแบบทั้งการถอดถอนรัฐมนตรีจากวงการเมืองโดยสภา การลงโทษทางอาญาโดยศาลคดีอาญานักการเมือง และล่าสุดคือการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยกระทรวงการคลัง ส่วนมาตรการเรียกค่าเสียหาย การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้กระทรวงคลังเรียกค่าเสียหายกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์กว่า 6 แสนล้านบาทก่อนผลคดีอาญาจะออกมานั้นเพราะคดีแพ่งมีอายุความ 2 ปี และเริ่มนับไปแล้ว แม้คดีอาญาจะขึ้นศาล ผู้รับผิดชอบก็ต้องเร่งทำคดีแพ่งอยู่ดี เพราะอายุความแพ่งไม่สะดุดหยุดลงตามการฟ้องอาญา จะให้รอฟังผลคดีอาญาจนคดีแพ่งขาดอายุความไม่ได้ และหากศาลในคดีอาญาไม่พบความผิดก็ต้องยกฟ้อง แต่คดีแพ่งนั้นพบแค่ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติราชการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ศาลก็ตัดสินให้ต้องชดใช้ความเสียหายได้
“ดังนั้น ข้อเสนอให้รอฟังคดีอาญาก่อนแล้วค่อยพิจารณาฟ้องคดีแพ่งจึงไม่มีเหตุผล เพราะแม้จะเรื่องเดียวกันแต่มันคนละงาน งานทางแพ่งเป็นเรื่องชดใช้ความเสียหาย ไม่ใช่งานปราบคอร์รัปชัน ฐานความรับผิดสองคดีนี้มันคนละฐานกัน และเหตุหนึ่งที่ทำให้คดีแพ่งไม่ต้องรอผลคดีอาญา เพราะการตรวจสอบความเสียหาย และความรับผิดทางแพ่งต้องรวบรวมผู้รับผิดชอบทั้งหมดมาฟ้องในคราวเดียวกัน ใครในรัฐบาลปูที่รู้เห็นเกี่ยวข้องเห็นชัดตรงหน้าว่าเสียหายอยู่ทุกวัน แล้วยังร่วมกันดื้อดึงผลักดันโครงการต่อไปอีก ก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบหมด จะเหมามาลงที่ นายกฯปู คนเดียวไม่ได้ ถ้ารู้เห็นกันหมดทั้ง ครม. ก็โดนทั้ง ครม.เลยก็ได้ ส่วนใครจะโดนบ้างโดนคนละเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบทางแพ่งโดยผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น”
ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่ต้องรับความเห็น ป.ป.ช.ไปฟ้องแพ่งหรือไม่ นายแก้วสรรกล่าวว่า กระทรวงการคลังไม่มีหน้าที่อย่างนั้น เพราะฐานความรับผิดทางแพ่งกับอาญาอาจจะเป็นคนละฐานกันก็ได้ ป.ป.ช.เพียงแต่บอกกล่าวมายังฝ่ายบริหารให้ทำหน้าที่ตรวจสอบความรับผิดทางแพ่งต่อไปเท่านั้น ในส่วนนี้ก็มีกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ วางระบบไว้โดยเฉพาะอยู่แล้วว่า ต้องเริ่มกระบวนการตรวจสอบโดยการสั่งการของผู้รับผิดชอบทางบริหารก่อน
ต่อข้อถามว่าคดีจำนำข้าวใครคือผู้รับผิดชอบตรวจสอบ นายแก้วสรรกล่าวว่า คดีนี้ผู้เกี่ยวข้องสั่งการในโครงการเป็นถึงรัฐมนตรี ตามระเบียบสำนักนายกฯ ระบุให้คนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตรวจสอบ ตรวจทั้งความเสียหายและความรับผิดของทุกคนที่เกี่ยวข้องแล้วสั่งการออกมาในที่สุดว่าใครต้องใช้ค่าเสียหายคนละเท่าใด
“ในกฎหมายปกครองระบุให้นายกฯ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบแล้วทำสำนวนรายงานมา จากนั้นก็สั่งการตามความเห็นอีกครั้ง หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมชดใช้ คดีก็ต้องไปถึงศาลปกครองในที่สุด โดยกระบวนการนี้จะเดินตามกฎหมายไปเรื่อยๆ ไม่หยุดลงตามการเปลี่ยนรัฐบาล นายกฯ ที่สั่งสำนวนนี้ ในภายหน้าอาจไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้” นายแก้วสรรกล่าว