เกาะกระแส
00 วันศุกร์ที่ผ่านมา นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยข้อมูลว่า มี"บางกลุ่ม" เตรียมก่อเหตุรุนแรงในบ้านเมือง ซึ่งนายกฯได้เตือนเข้มว่า "อย่าทำ" เป็นอันขาด เพราะจะต้องเจอมาตรการทางกม.อย่างเด็ดขาด เมื่อเป็นแบบนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า "กลุ่มไหนจะเป็นคนทำ" และมีมูลเหตุมาจากเรื่องใด อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ มันก็พอคาดเดาได้ไม่ยาก เรื่องแรกก็คือ คำบอกปัดคุยกับ ทักษิณ ชินวัตร แบบ "ปิดประตูตาย" เพราะมีสถานะเป็น "นักโทษ" ถูกดำเนินคดีสารพัดคดี นายกฯ หรือใครที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีสิทธิ์ที่จะไปคุย หรือเจรจาเพราะเป็นเรื่องผิดกม. ซึ่งมันเป็นหลักการที่ถูกต้องอยู่แล้ว
00 อีกทั้งการ "ปรองดอง" มันต้องเข้าใจสาเหตุด้วย ที่สำคัญเวลานี้ในความเป็นจริงคนไทยไม่ได่ขัดแย้ง หรือแตกแยกกัน เพียงแต่ว่ามีบางคนที่เอาเปรียบทำตัวอยู่เหนือกม. ไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาล เที่ยวปลุกระดมมวลชนให้หลงเชื่อ ก่อความวุ่นวาย ขณะที่มวลชนอีกกลุ่มหนึ่งทนไม่ไหวกับการเอาเปรียบดังกล่าว จึงออกมาต่อต้านทั้งในรูปแบบของพันธมิตรฯ ต่อเนื่องมาเป็น กปปส. หรือในชื่ออื่นๆ ไม่ใช่ขัดแย้งอย่างที่พูดกัน ดังนั้นการปรองดองที่ถูกต้องที่สุดก็คือ ให้ทุกอย่างเดินเข้าสู่ศาล ให้ศาลตัดสินชี้ขาด ส่วนใครที่ยังหลบหนี ต่อต้าน ก็ต้องจับกุมมาดำนเนินคดีให้หมด หลังจากนั้นค่อยมาว่ากันว่าจะอภัยโทษ หรือนิรโทษฯ แต่ต้อง "หาความจริง" กันให้เรียบร้อยก่อน ที่จริงมันไม่ได้ซับซ้อนอะไร หากทุกฝ่ายทำตามกม. ตรงไปตรงมา ปัญหามันก็ไม่เกิด
00 อีกเรื่องที่อาจเป็นชนวนเหตุความรุนแรง ก็คือเรื่องที่มีการฟ้องอาญา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกำลังตามมาด้วยการฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหายอีกไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งมันก็ไม่น่ามีปัญหา หากให้ศาลพิสูจน์ว่าผิดหรือไม่ผิด แต่ก็อย่างว่าละ พวกนี้มันก็อ้างว่าตัวเองไม่ผิด ถูกแกล้งสารพัด ทำราวกับว่าโครงการรับจำนำข้าวที่ฉิบหายวายป่วงอยู่ในเวลานี้ มันไม่มีความเสียหายอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เรื่องการเมือง เรื่องของอุดมการณ์ต่างกัน แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจของครอบครัวชินวัตร การทุจริตโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น ดังนั้นถูกต้องแล้วที่ นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่คุยกับ "โจร" แล้วให้ทุกคดีศาลเป็นผู้ชี้ขาด !!
00 อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน หรืออาจสำคัญที่สุดก็คือ การปฏิรูปพลังงาน ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า โดยเฉพาะเรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่าจะใช้แบบไหน ระหว่างแบบให้สัมปทานรวดเดียว 39 ปี กับวิธีการแบ่งปันผลิต หรือจะใช้สองแบบผสมกัน แต่พิจารณาจากแนวโน้มแล้วยังเชื่อว่า คงออกมาแบบแรก แม้ว่าจะมีการเปิดเวลารับฟังข้อมูลจากภาคประชาชน แต่นั่นก็ยังจับตาว่าเป็นเพียงแค่ "ปาหี่" เพื่อหาความชอบธรรมเท่านั้น เพราะทำให้เห็นว่า นี่ไงยอมรับฟังความเห็นแล้ว แต่ขอโทษ "ไม่ทำตาม" เหมือนกับมติของ สปช. ที่เสนอให้รัฐบาลชะลอการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมออกไปก่อน เพื่อรอผลศึกษาให้รอบคอบก่อน ซึ่งคราวนั้นรัฐบาลบอกว่า สปช. ไม่มีอำนาจ สั่งไม่ได้ อ้าวเวร !!
00 เหมือนกับตอนนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการตั้งเวทีไม่นาน สรุปว่าให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาชุดหนึ่ง โดยให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่16 มี.ค. ที่อุตส่าห์ขยายวันออกมาจากเดิมที่กำหนดเอาไว้สำหรับการให้ยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่คำถามก็คือ รมว.พลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี ยืนยันว่า หลังวันที่ 16 มี.ค.ก็เดินหน้าเปิดสัมปทาน นี่มันหมายความว่าอย่างไร ถ้าไม่ใช่ปาหี่ "ตั้งธง" เอาไว้ล่วงหน้าแล้วจะเรียกว่าอะไร หือ !!