xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ไฟเขียวกฎหมายอุ้มบุญ ห้ามตั้งครรภ์แทนต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
สนช. ไฟเขียวกฎหมายอุ้มบุญ วางกรอบเข้มป้องกันไทยตกเป็นศูนย์กลางรับจ้างตั้งครรภ์ โดยคู่ สามี - ภรรยา ที่ต้องการให้ตั้งครรภ์แทน ต้องมีสัญชาติไทย ผู้รับอุ้มบุญต้องผ่านการมีบุตรแล้ว หากมีสามีต้องขอความเห็นชอบ

วันนี้ (19 ก.พ.) ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ....ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีสาระสำคัญคือผู้หญิงสามารถอุ้มบุญได้ แต่ต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไข คือ มาตรา 21 สามี และภรรยาที่แต่งงานชอบด้วยกฎหมายไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีสามีหรือภรรยามิได้เป็นสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่ถ้าทั้งสามีและภรรยามิได้มีสัญชาติไทย หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนนั้นต้องมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย

ขณะที่หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมิใช่บุพการี หรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สามารถเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายได้ แต่หากไม่มีญาติสืบสายโลหิต สามารถทำได้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ รมว.สาธารณะสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยผ่านการคลอดบุตรมาก่อน และถ้าหญิงนั้นมีสามีต้องได้รับความยินยอมจากสามีด้วยไม่ว่าจะเป็นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้สามี ภรรยา ปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานกรรมาธิการ ชี้แจงว่า กรรมาธิการได้มีการแก้ไขในบางมาตรา แต่ไม่มีสมาชิกยื่นคำแปรญัตติ โดยประเด็นสำคัญคือ หากคู่สมรสเป็นคนไทยทั้งคู่ หรือ คู่ไทยกับสากลสามารถหาหญิงไทยมาอุ้มบุญได้ภายใต้เงื่อนไขต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป แต่กรณีที่เป็นต่างชาติทั้งคู่เราไม่อนุญาต เพราะจะเกิดปัญหาได้ เพราะประเทศไทยจะกลายเป็นฮับอุ้มบุญ มดลูกหญิงไทยกลายเป็นมดลูกโลกไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสมาชิก สนช. ซักถาม นิยามคำว่า “ขาย” มีการเพิ่มข้อความว่า “ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม” ว่าทำไมต้องระบุไว้ รวมถึงการตัดคำว่า “ทารก หมายความว่าตัวอ่อนของอมนุษย์ที่มีอายุเกินกว่าแปดสัปดาห์ ไม่ว่าอยู่ในหรือนอกมดลูกของมนุษย์” ออกไปทั้งวรรค

ซึ่งตัวแทนกรรมาธิการชี้แจงว่าเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล ที่ถือว่าแม้จะยินยอมหรือไม่ก็ตามเข้าข่ายว่า ‘ขาย’ และสอดคล้องกับความผิดในกฎหมายอาญาที่ว่าแม้จะยินยอมก็ถือว่าเข้าข่าย เป็นการให้ความสำคัญกับกรณีห้ามไม่ให้ผู้ใดขายตัวอ่อน อสุจิ ไข่ โดยมีบทกำหนดโทษสูงพอสมควร คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล เพราะองค์ประกอบความผิดจะคล้ายตามกฎหมายอาญา แม้ผู้เสียหายจะยินยอมก็มีความผิดที่เห็นได้ชัดคือกฎหมายการค้ามนุษย์ ส่วนที่ตัดคำว่า “ทารก” ออกไปเพราะมีการบัญญัติ “การตั้งครรภ์แทน” และเป็นความเข้าใจโดยทั่วไปอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมี “ทารก” ให้มีเจตนาพิเศษเป็นอย่างอื่น

อย่างไรก็ตาม สมาชิกหลายคนยังแสดงความเป็นห่วงว่า การบัญญัติร่างกฎหมายนี้อาจจะขัดหลักรัฐธรรมนูญในส่วนสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. กล่าวว่า ไม่ควรเอาข้อตกลงระหว่างประเทศมาใส่ในกฎหมายไทยอย่าจิตนาการเลยเถิด ที่อ้างให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญา นั้น หัวใจของกฎหมายอาญาจะต้องมีเจตนา ถ้าไม่มีเจตนาถือว่าไม่มีความผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานสมาชิก สนช. ยังคงยืนยันให้มีการคงข้อความ “ทารก หมายความว่าตัวอ่อนของมนุษย์ที่มีอายุเกินกว่าแปดสัปดาห์ ไม่ว่าอยู่ในหรือนอกมดลูกของมนุษย์” กลับมาเช่นเดิม

ต่อมาเมื่อเวลา 21.15 น. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 160 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง เห็นชอบวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น