xs
xsm
sm
md
lg

รักผู้อื่นเสมอด้วยตน : รักตามแนวพุทธ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า รักในทางจิตวิทยาหมายถึงพฤติกรรมแสวงหาสิ่งที่ผู้มีความรักต้องการมาเป็นของตน ตรงกันข้ามกับคำว่า เกลียด ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมที่มุ่งทำลายผู้มีความเกลียดไม่ต้องการให้หมดไป

ส่วนความรักตามนัยแห่งคำสอนในทางพุทธศาสนา อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ

1.ความรักซึ่งมีพื้นฐานหรือที่มาจากความเมตตาคือ ความปรารถนาที่จะให้คนที่เรารักมีความสุข อันได้แก่ความรักของพ่อแม่ซึ่งมีต่อลูก และความรักของญาติที่มีต่อญาติ รวมไปถึงความรักที่มีต่อมนุษย์ในฐานะเป็นเพื่อนร่วมโลก ซึ่งมีลักษณะเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน

2. ความรักที่มีพื้นฐานหรือที่มาจากความต้องการทางกามารมณ์ อันได้แก่ความรักของหนุ่มสาวหรือแม้กระทั่งความรักของเพศเดียวกันที่มีความต้องการทางเพศเป็นพื้นฐาน

ในความรัก 2 ประเภทนี้ ความรักประเภทแรกเป็นความรักในทางสร้างสรรค์ และมีความเสียสละเป็นที่ตั้ง โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จากคนที่ตนเองรัก

แต่ความรักประเภทหลังเป็นความรักที่หวังผลตอบแทน เริ่มด้วยต้องการให้คนที่ตนเองรักมีความรักตอบ และจบลงด้วยการเป็นเจ้าของคนที่ตนเองรัก ด้วยเหตุนี้จึงพูดได้ว่าความรักประเภทนี้ มีความเห็นแก่ตัวแอบแฝงอยู่

ตามนัยแห่งคำสอนในทางพุทธศาสนา ความรักเกิดจากอะไร?

ความรักประเภทแรกเกิดจากความรับผิดชอบในความเป็นพ่อและความเป็นแม่ รวมไปถึงความเป็นญาติทางสายโลหิต
ส่วนความรักประเภทที่ 2 พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า เกิดจากเหตุ 2 ประการคือ

1. บุพเพสันนิวาส อันได้แก่การอยู่ร่วมกันในชาติก่อน จะเห็นได้จากการที่คนสองคนเกิดความรักในทันทีที่ได้เห็นหน้ากัน หรือพูดได้ว่าเห็นปุ๊บรักปั๊บเนื่องจากถูกชะตากัน

2. การเกื้อกูลกันในปัจจุบันได้แก่ การที่คนรักกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนเกิดความเห็นใจ และกลายเป็นความรักในที่สุด

ในเหตุ 2 ประการนี้ ประการแรกไม่ต้องใช้เวลานานก็ตกลงปลงใจแต่งงานอยู่กินกันฉันสามีภรรยาได้โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ

ส่วนสาเหตุประการที่ 2 จะต้องใช้เวลาและวิธีการในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากน้อยขึ้นอยู่กับความเห็นใจของฝ่ายที่ถูกปองรัก โดยญาติแล้วฝ่ายชายจะต้องเป็นฝ่ายช่วยเหลือเกื้อกูล และฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายตอบสนองในการตกลงยอมรับเป็นคนรัก

แต่ก็มีอยู่มากที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายเกื้อกูลจนฝ่ายชายเกิดความเห็นใจ และตกลงปลงใจยอมรับความรัก

อีกประการหนึ่ง ความรักในแนวทางพุทธศาสนาคือความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความรักประเภทนี้เกิดขึ้นจากการที่มองเห็นผู้อื่นมีความเสมอภาคกับตนเอง โดยเริ่มจากการมองตนเอง และนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วยการคิดเปรียบในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ และไม่ทำสิ่งนั้นแก่ผู้อื่น และในขณะเดียวกัน ตนเองชอบสิ่งใดซึ่งเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ และให้สิ่งนั้นแก่คนอื่น เป็นต้น

ดังนั้น ความรักตามแนวทางของพุทธศาสนา จึงพูดได้ว่าเป็นความรักที่สร้างสรรค์ และควรแก่การส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง

ในทางกลับกัน ความรักที่ควรจะต้องระวังและคิดให้รอบคอบคือ ความรักของหนุ่มสาวตามนัยแห่งความรักเนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ความรักประเภทนี้เป็นดาบสองคม กล่าวคือ เมื่อได้มาก็เกิดความสุข และจากไป จะจากไปด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ดังปรากฏชัดเจนในคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า ปิยโต ชายเต โสโก ความเศร้าโศก ย่อมเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก เนื่องจากการพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเป็นทุกข์ ไม่ว่าการพลัดพรากจากกันด้วยการจากเป็นหรือจากตายก็เป็นทุกข์ทั้งสิ้น

2. ความรักประเภทนี้ เป็นเหตุให้เกิดความเห็นแก่ตัว ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่ต้องการให้คนที่ตนเองรักเป็นของตนเองเพียงผู้เดียว เป็นความรักผูกขาดและเมื่อมีเหตุให้ถูกปฏิเสธความรัก หรือสิ่งที่ตนเองรักเปลี่ยนไปก็ผูกใจโกรธ และทำลายทิ้งจะเห็นได้จากการมีการฆ่ากันตายอันเนื่องมาจากความหึงหวงเป็นเหตุปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ

3. แต่ถึงแม้ความรักประเภทนี้จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่มนุษย์ผู้มีกิเลสก็ยังพร้อมที่จะเป็นทุกข์ ด้วยเหตุนี้จึงมีการพูดแบบปลอบใจตนเองในทำนองว่า อกหักดีกว่ารักไม่เป็น ปรากฏอยู่ในสุภาษิตไทยหรือแม้ในความคิดแบบตะวันตก ก็ปรากฏให้เห็นในทำนองเดียวกับในหนังสือ The Way of the World ของ William Congreve ที่ว่า It is Better for Woman to be Love of than never to be loved and left โดยความหมายแล้วก็ทำนองเดียวกับอกหักดีกว่ารักไม่เป็น หรือถ้าจะแปลโดยพยัญชนะก็คือ สำหรับผู้หญิงแล้วมีความรักแล้วถูกทอดทิ้ง ย่อมดีกว่าไม่มีคนรักเสียเลย

จากนัยแห่งความรักทุกประการที่บอกมา จะเห็นได้ว่าแทนที่เราชาวพุทธจะยึดความรักที่ก่อให้เกิดทุกข์ ควรจะยึดความรักที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และในขณะเดียวกัน ปล่อยวางความรักที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ให้เป็นไปตามกฎแห่งกรรมจะดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น