“อำนวย” เผยผลประชุมคณะกรรมการยาง หลัง ครม. อนุมัติ 2 พันล้าน ซื้อน้ำยางและยางก้อนถ้วย ย้ำช่วยเกษตรกรรายย่อย สั่งจังหวัดตรวจสอบห้ามเงินไหลเข้าเกษตรกรรายใหญ่ คาดระบายยางในสต๊อกได้หลังฤดูปิดกรีด 28 ก.พ. นี้
วันนี้ (19 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ก่อนการประชุมตัวแทนเกษตรกรได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีถึงข้อสั่งการให้เกษตรกรรวมตัวกันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้พูดคุยกันได้ในทุกเรื่องและเป็นผู้ประสานงานให้รัฐบาลนั้น ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรจากเดิมที่มีอยู่ 5 กลุ่ม เป็น 7 กลุ่ม จากทุกภาค ซึ่งจะนำมติจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยางพารา เพื่อให้เสียงเกษตรกรและผู้ผลิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้รัฐบาลจะได้แก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางคนที่ยังไม่เข้าใจ แต่ก็มีความพร้อมที่จะทำความเข้าใจเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกับรัฐบาล เพราะเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้นเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องและทำเพื่อเกษตรกรจริงๆ นอกจากนี้ ในส่วนพระราชบัญญัติการยางนั้นมีการแก้ไขสัดส่วนคณะกรรมการที่มีทั้งสิ้น 5 คน โดยการปรับสัดส่วนเกษตรกรซึ่งจากเดิมจะมีตัวแทนเกษตรกรเพียง 1 คน ให้มีเกษตรกร 3 คน และตัวแทนภาครัฐ 2 คน ที่มี รมว.เกษตรและสหกรณ์และอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นตัวแทน
นายอำนวย กล่าวว่า ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือภาคเกษตรกรที่ต้องลืมตาอ้าปากได้ เป็นความสำคัญอันดับแรก และขอให้ทุกฝ่ายมีความสามัคคีกันเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมการยางให้มีความก้าวหน้าขึ้นไปและเดินหน้าเพื่อให้เป็นอันดับหนึ่งของโลกให้ได้ นอกจากนี้ วาระสำคัญที่มีการประชุมวันนี้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบสถานการณ์ยางพาราของโลกและของประเทศไทย โดยสถานการณ์โลกขณะนี้อยู่ในช่วงอาการสาหัส เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงถึง 30 บาทต่อลิตร ทำให้ราคายางเทียมอยู่ที่ 35 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหากยางธรรมชาติราคาเพิ่มสูงกว่านี้จะทำให้หันกลับมาใช้ยางเทียมแทน
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่รัฐบาลพยายามทำในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานั้น ได้ขับเคลื่อนทำให้ราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ที่ส่งออกมาที่สุดในไทยนั้นมีราคาขยับสูงขึ้ง จาก 55 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 63.15 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ยางแผ่นดิบอยู่ที่ 58 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยที่มีปัญหาขณะนี้ รัฐบาลได้มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ก.พ. อนุมัติงบประมาณ 2 พันล้านบาท เพื่อเข้าไปจัดซื้อในโครงการมูลภัณฑ์กันชนยางพารา ซึ่งเมื่อมีการประกาศราคายางก้อนถ้วยก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 40 กว่าบาท และน้ำยางสดขึ้นเป็น 45.5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเดินหน้าไปด้วยดี ขณะเดียวกัน ก็จะประกาศปิดฤดูกาลภายในวันที่ 28 ก.พ. นี้ และช่วงเวลาที่เหลืออีก 2 เดือนครึ่งก็จะเป็นช่วงการทำนโยบายของปี 58 - 59 กลไกต่างๆ ที่ใช้มาเมื่อ 3 เดือนก่อนมีปัญหาอะไร เกษตรกรก็สามารถร่วมกันปรับปรุงแก้ไข เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลกรีดอีกครั้งในเดือน พ.ค. จะได้ไม่มีปัญหาขึ้นอีก
นายอำนวย กล่าวว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาถึงหลักเกณฑ์และวิธีการซื้อยางก้อนถ้วยและน้ำยางสดโดยให้ กนย. เป็นผู้กำหนดและเสนอ ครม. ทราบ โดย กนย. มีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่า หลักสำคัญจะต้องไม่ใช้เงินก้อนนี้ไปให้เกษตรกรรายใหญ่ เพราะวัตถุประสงค์ของเงินก้อนนี้ไปยังเกษตรกรรายย่อย ผ่านสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีหลักฐานชัดเจนและกำชับให้จังหวัดตรวจสอบในเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับทะเบียนที่จะซื้อขายกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทั้ง 16 โครงการ แบ่งเป็นโครงการของ คสช. 12 โครงการและโครงการของรัฐบาล 4 โครงการ ว่าติดขัดอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งการและกำหนดเวลาให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยางในประเทศ ซึ่ง กนย. ได้เสนอแพกเกจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยางในประเทศที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกกระทรวงเสนอโครงการ และให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง นำไปรวบรวมให้เป็นระบบและเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อทำให้มีการใช้ยางในประเทศให้มากที่สุด เช่น การทำสนามฟุตซอล สนามกีฬาต่างๆ ส่วนปริมาณยางที่จะใช้ในปี 58 อยู่ที่ประมาณ 1 แสนตัน
นายอำนวย กล่าวว่า การระบายยางพารานั้นตามมติ ครม. ขอให้มีการระบายยางพาราในขณะที่ราคายางไม่ตกต่ำ ถ้าระบายในช่วงที่ราคาตกก็จะตกที่ราคาตลาดโลกและจะกดราคาของเกษตรกร ทำให้นโยบายที่จะทำให้ราคายางพาราที่ 60 บาท ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถดำเนินการได้จนถึงสิ้นฤดูปิดกรีดยางแล้ว ซึ่งหลังฤดูปิดกรีดแล้วถือเป็นช่วงที่เหมาะสมที่จะระบายยางที่มีอยู่ ส่วนจะกระทบหรือไม่นั้นต้องดูสถานการณ์การซื้อยางของประเทศไทยที่เป็นราคาส่งออกยางพารา ซึ่งขยับใกล้เคียงกับราคาของโครงการรัฐบาลแล้ว แต่ที่ผ่านมา มีช่วงราคาห่างกันมาก ส่วนปริมาณที่จะระบายออกไปนั้น ถือเป็นเรื่องยุทธศาสตร์การค้าขาย จำเป็นต้องมีเทคนิค จึงไม่สามารถเปิดเผยได้ขณะนี้ อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการภายใต้เอ็มโอยู ไทย - จีน ให้แล้วเสร็จที่จะต้องมีการซื้อขายรูปแบบรัฐต่อรัฐในสินค้า 2 ชนิด ได้แก่ ข้าว 2 ล้านตัน และยางพารา 2 แสนตัน หากตกลงกันได้ในราคาภายใต้เอ็มโอยูดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเป็นฤดูกาลผลิตปี 58 - 59 ที่จะเริ่มวันที่ 15 พ.ค. และถัดไปอีก 12 เดือน ก็น่าจะเป็นโอกาสของฤดูกาลนั้น หากยางในสต๊อกที่มีอยู่ได้ระบายไปหมดในช่วงหลัก 28 ก.พ.