xs
xsm
sm
md
lg

อัดดัดจริต! “ธีระชัย” ซัดเทคโนแครตอ้างประเทศพัฒนาแล้วใช้ระบบสัมปทานปิโตรเลียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จากเฟซบุ๊กเพจ @Thirachai Phuvanatnaranubala
ASTVผู้จัดการ – “ธีระชัย” อัดแรง คนอ้างข้อมูล “เมียปิยะสวัสดิ์” ที่ระบุว่า ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้ระบบสัมปทาน และประเทศที่ใช้สัมปทานมีระดับการคอรัปชั่นต่ำเมื่อเปรียบกับประเทศที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ชี้ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกา - อังกฤษ ใช้สัมปทานได้ เพราะนักการเมือง-ข้าราชการมีธรรมาภิบาล ประชาชนไม่ต้องกังวลว่ารัฐจะเอื้อผลประโยชน์กลุ่มทุน ชี้ถ้าจะใช้ตรรกะนี้เพื่อให้ไทยดูเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ต้องเรียกว่าดัดจริต

วานนี้ (14 ก.พ.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์บันทึกลงในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala กรณีมีผู้อ้างอิงข้อมูล การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 สัมปทาน vs แบ่งปันผลผลิตของ นางอานิก อัมระนันทน์ ภรรยานายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 โดยอ้างตอนหนึ่งว่า “ประเทศพัฒนาแล้วที่มีระดับธรรมาภิบาลสูงล้วนใช้ระบบสัมปทาน” มิใช่ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC (Production Sharing Contract) ซึ่งภาคประชาชนพยายามเรียกร้องให้มีรัฐพิจารณา และเลื่อนการให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน

นายธีระชัย ได้กล่าวตอบโต้ตรรกะของผู้ที่นำข้อมูลดังกล่าวมาอ้าง โดยระบุว่า สาเหตุที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้ระบบสัมปทาน ก็อันเนื่องมาจากประเทศเหล่านั้นนักการเมืองและข้าราชการมีธรรมาภิบาลสูง ทำให้ประชาชนไม่ต้องกังวลว่า รัฐหรือผู้มีอำนาจจะมีการช่วยเหลือบริษัทใดเป็นพิเศษหรือไม่ ผิดกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศไทยที่ นักการเมืองบีบข้าราชการได้ง่าย และข้าราชการก็ไม่ทัดทานนักการเมือง, ข้าราชการระดับสูงมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่มทุนพลังงาน, กระบวนการตรวจสอบไม่มีอำนาจบังคับ, ทหารฟังข้อมูลจากเฉพาะข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นด้านพลังงานก็ถูกรัฐวิสาหกิจพลังงานฟ้องร้อง

“สภาพแบบนี้ ถ้าบอกว่าไทยควรจะใช้ระบบสัมปทาน เพียงเพื่อให้คนนอกมองเราว่าเป็นประเทศที่พัฒนาระดับโลก มีคอร์รัปชั่นต่ำอย่างนี้ต้องเรียกว่า ดัดจริตครับ” นายธีระชัย ระบุ

สำหรับบันทึกฉบับเต็มของนายธีระชัยซึ่งออกมาตอบโต้ตรรกะของเทคโนแครตผู้สนับสนุนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 มีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

มีผู้นำข้อมูลมาแสดงครับ “จาก https://www.facebook.com/notes/10205771569474626/ มี infographic ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศที่พัฒนาระดับโลกเขาใช้สัมปทานกันเกือบหมด และหากเอาประเทศมาเปรียบเทียบกับลิงค์ http://www.transparency.org/cpi2014/results#myAnchor1 ประเทศที่ใช้สัมปทานเป็นประเทศที่มีระดับการคอร์รัปชันต่ำเมื่อเปรียบกับประเทศที่ใช้ PSC”

ภาพที่มีผู้อ้างว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ล้วนใช้ระบบสัมปทาน


ผมต้องขอขอบคุณมากที่นำข้อมูลสำคัญมาช่วยผมอธิบายเรื่องนี้

ประเทศอย่างสหรัฐที่ให้กรรมสิทธิ์แก่ผู้เป็นเจ้าของโฉนด เอกชนเจ้าของที่มักจะเลือกระบบสัมปทานเพราะสะดวกและไม่มีภาระต้องลงทุนสำรวจเบื้องต้นเอง

ประเทศที่มีการบริหารจัดการดี มีระบบการเมืองดี อย่างอังกฤษ สำหรับแหล่งสาธารณะในทะเลนั้น จะใช้ระบบอะไรก็ได้ครับเพราะประชาชนจะไม่กังวลว่ามีการช่วยเหลือบริษัทใดเป็นพิเศษหรือไม่ จะไม่กังวลว่าข้าราชการย่อหย่อนไม่ผลักดันการเจรจาให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุดหรือไม่

ประชาชนจะไม่กังวลเรื่องเหล่านี้ เพราะผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีไม่มีการบีบให้ข้าราชการทำโน่นทำนี่ ข้าราชการเองก็ปฏิบัติตัวน่าเคารพนับถือ น่ายกย่อง พร้อมจะยืนตรงคานอำนาจรัฐมนตรี ประเทศที่ธรรมาภิบาลสูง จึงจะใช้ระบบใดก็ได้ ประชาชนไม่กังวล

แต่ถ้าดูประเทศกำลังพัฒนา จะเห็นว่าเกือบทั้งหมดใช้ระบบ PSC เหตุผลก็คือประชาชนเขาไม่เชื่อมั่นในผู้ที่เป็นรัฐบาลครับและหลายกรณี เขาเคยเห็นมาแล้ว นักการเมืองที่บริหารประเทศ ปู้ยี่ปู้ยำประเทศเขาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทต่างชาติและแก่นักการเมืองเอง โดยเฉพาะประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นมาก่อน

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา ถ้ามีพลังการเมืองมากพอ ก็จะบังคับให้ใช้ระบบ PSC เพราะในระบบบ PSC การเลือกบริษัทเข้าสู่ผลประโยชน์นั้น กระทำโดยวิธีประมูลแข่งขันกัน ประชาชนจึงมั่นใจได้โดยอัตโนมัติ ว่าไม่มีการลำเอียงอย่างแน่นอน และรัฐได้ประโยชน์สูงสุดอย่างแน่นอน ขบวนการประมูลมันทำให้เกิดการถ่วงดุลและธรรมาภิบาลในตัวของมันเองครับ

ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ใช้ระบบ PSC จึงเหลือแต่เฉพาะประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการหรือไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ผู้ปกครองเป็นซุลต่านหรือเชค เป็นต้น

กรณีประเทศไทย ประชาชนเคยเห็นแล้วว่า

1. นักการเมืองบีบข้าราชการได้ง่าย ข้าราชการเกาะนักการเมืองในระบบอุปถัมภ์ ข้าราชการไม่ทัดทานนักการเมืองที่บีบให้ทำตามคำสั่ง
2. ข้าราชการระดับสูงสุดหลายกระทรวงมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่มพลังงาน
3. ขบวนการตรวจสอบโดย สตง ก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับในสิ่งที่ถูกต้องได้
4. ทหารที่มีอำนาจและมีความจริงใจก็รับฟังข้อมูลเฉพาะจากข้าราชการที่มีประโยชน์ทับซ้อน
5. ผู้ที่วิพากวิจารณ์เรื่องพลังงานในทางลบก็ถูกรัฐวิสาหกิจฟ้องคดี ทั้งที่ควรจะทำตัวเป็นองค์กรของประชาชน

สภาพแบบนี้ ถ้าบอกว่าไทยควรจะใช้ระบบสัมปทาน เพียงเพื่อให้คนนอกมองเราว่าเป็นประเทศที่พัฒนาระดับโลก มีคอร์รัปชั่นต่ำอย่างนี้ต้องเรียกว่า ดัดจริต ครับ




ข้อมูล การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 สัมปทาน vs แบ่งปันผลผลิตของ นางอานิก อัมระนันทน์ ภรรยานายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557
กำลังโหลดความคิดเห็น