xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองกลางยกฟ้องชาวบ้านสุวรรณภูมิ ร้องระงับบินหลังเที่ยงคืน กำหนดแหล่งมลพิษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องชาวบ้านย่านสุวรรณภุมิ หลังขอระงับบินขึ้นลง 23.00-05.00 น. พร้อมประกาศเป็นแหล่งกำหนดมลพิษ และชดใช้ค่าเสียหายทางเสียงรายละ 1-7.8 แสนรวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ชี้โครงการที่พิพาทไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเหตุอนุมัติตั้งแต่ปี 34 ก่อน รธน.40 ใช้ ซ้ำผลการตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมยังไม่พบมีการก่อมลพิษถึงขั้นรุนแรง

วันนี้ (10 ก.พ.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่นายณรงค์ศักดิ์ ด้วงนิล กับพวกรวม 30 ราย ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยื่นฟ้องบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-6 กรณีขอให้ระงับการบริการขึ้นลงของเครื่องบินทุกประเภทในเวลา 23.00-05.00 น.ของทุกวัน ให้มีกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินหรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใหม่ เนื่องจากรายงานฯฉบับวันที่ 10 มี.ค. 48 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกาศให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และต้องกำหนดมาตรฐานควบคุม เพื่อดำเนินการควบคุม ลด ขจัดมลพิษ และให้ชดใช้ค่าเสียหายจากทรัพย์สิน การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันมลภาวะทางเสียงรายละตั้งแต่ 1 แสนบาท จนถึง 7.8 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง

โดยเหตุที่ศาลยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ยังไม่มีการตรากฎหมายตามมาตรา 56 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 40 ที่บัญญัติว่าการจะดำเนินการโครงการขนาด หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแดวล้อมจะกระทำไม่ได้เว้นแต่จะมีการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ก็ไมได้บัญญัติให้ต้องดำเนินการกระบวนการดังกล่าวไว้ แม้ต่อมารมว.วิทยาศาสตร์ จะออกประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมลงวันที่ 24 ส.ค. 35 กำหนดให้สนามบินพานิชย์ทุกขนาดที่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนก่อนของอนุมัติต่อ ครม. แต่เมื่อโครงการที่พิพาทนี้ ครม.ได้อนุมัติให้ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ 7 พ.ย. 34 ทำให้โครงการที่พิพาทไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศกรณีจึงฟังได้ว่ากฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่อนุมัติโครงการพิพาทไม่ได้กำหนดให้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่อาจฟังได้ว่าการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อฉบับวันที่ 10 มี.ค. 48 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนที่อ้างว่า การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ครม.ไม่ประกาศให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ไม่กำหนดมาตรฐานการควบคุมเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติเห็นว่าจากรายงานการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในด้านต่างๆ ทั้งเสียง มลพิษทางอากาศ ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โครงการที่พิพาท ยังไม่ถึงขั้นมีปัญหามลพิษซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อนามัยของประชาชน ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ยังอยู่ในวิสัยที่จะปรับปรุงได้ จึงไม่ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 59 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ที่จะให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมประกาศให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ

สำหรับที่ขอให้ศาลสั่งระงับการบินขึ้นลงของเครื่องบินในเวลา 23.00-05.00 น.ของทุกวันนั้น เห็นว่า การกำหนดห้ามบินในเวลากลางคืนอาจส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนเป็นวงกว้าง ซึ่งมีผลเสียมากกว่าเมื่อเทียบกับการคุ้มครองสิทธิในการพักผ่อนของนายณรงค์ศักดิ์ กับพวก และจากการตรวจวัดระดับเสียงตั้งแต่เดือน ก.ค. 50 - มิ.ย. 55 จำนวน 13 สถานีตรวจจัด มีเพียงสถานีตรวจวัดหมู่บ้านพนาสนธ์การ์เด้นโฮม 3 สถานีตรวจวัดสาวิตรีอพาร์ตเมนต์ และสถานีตรวจวัดบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยเกริก ที่ค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินจากเกณฑ์มาตรฐานเล็กน้อยและเฉพาะในบางช่วงของการวัดเท่านั้น ซึ่งกรมการบินพลเรือนได้ดำเนินการทางเทคนิคเพื่อแกไขแล้วจึงไม่ถึงขนาดที่จะต้องระงับการให้บริการขึ้นลงของเครื่องบินในเวลากลางคืนแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น