ผ่าประเด็นร้อน
แน่นอนว่าต้องคาดไม่ถึง กับการที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 190 ต่อ 18 เสียง งดออกเสียง 8 และเจตนาทำบัตรเสีย 3 ถอดถอน อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งทางการเมือง เพราะก่อนหน้านี้สื่อส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่าไม่มีทางที่เสียงในสภาจะเพียงพอ 3 ใน 5 หรือ 132 เสียงได้เลย เมื่อพิจารณาจากจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ในขั้นลงมติรับเรื่องไว้พิจารณาที่มีคะแนนก้ำกึ่งกัน ที่สำคัญก็คือท่าทีของสภาชิกในสายทหาร ตำรวจที่ถือว่าเป็นสายตรงของผู้มีอำนาจล้วนแสดงออกมาอย่างชัดเจนว่า “ไม่ถอดถอน” โดยอ้างว่าหลักฐานไม่ชัดเจน รวมไปถึงอ้างเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วถูกยกเลิกไปแล้ว
แต่เมื่อมติออกมาแบบท่วมท้นดังกล่าว มันย่อมเหนือความคาดหมาย แต่ขณะเดียวกันเชื่อว่าในอารมณ์แบบนี้หลายคนก็คงยินดีให้ “หน้าแตก” อยากให้คาดการณ์ผิดกันเหลือเกิน
อย่างไรก็ดี หากใครที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดก็ย่อมมองออกว่าผลที่ออกมาแบบนี้มันย่อมมีที่มาที่ไหนที่สามารถอธิบายได้ไม่ยาก พร้อมทั้งอธิบายได้ว่าทำไมเสียงของ สนช.จากเดิมที่ลงมติรับหลักการรับเรื่องการถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีที่ปล่อยปละละเลยจนทำให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดความเสียหายกับงบประมาณจำนวนมหาศาล ในตอนนั้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วมีเสียงให้รับเรื่องเพียงแค่ 87 ต่อ 75 เสียง แล้วยังมีพวกงดออกเสียงไม่มีความคิดใดๆ อีก 15 คน คะแนนเสียงก้ำกึ่งกันมาก จนไม่มีทางนึกได้เลยว่ามันพลิกกลับมาอย่างที่เห็น
อย่างที่บอกว่า ทุกอย่างมันต้องมีที่มาที่ไป และต้องเป็นเรื่องสำคัญเสียด้วยถึงทำให้เกิดความพลิกผันกันแบบนี้ และสิ่งนั้นก็คือ “กระแสสังคม” และความต้องการของสังคมต่างหากที่มาบีบคั้นให้ต้องเปลี่ยนแปลงท่าทีและตัดสินใจใหม่กันในนาทีสุดท้าย
หากจำกันได้ในตอนแรกหลังจากทราบมติของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่ลงมติด้วยเสียงก่ำกึ่ง หรือก่อนหน้านี้ยังมีท่าทีอิดออดจะไม่พิจารณารับเรื่องถอดถอนไว้พิจารณาไว้ด้วยซ้ำไป สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์โจมตี สนช.และที่สำคัญยังได้ลุกลามออกไปถึงผู้มีอำนาจ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นที่มาของการแต่งตั้ง สนช.ก่อนหน้านี้ ควนพวกนี้พลอยได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างหนักขึ้นเรื่อยๆ
นั่นคือความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 6-7 แสนล้านบาท มีหลักฐานชัดเจนเห็นกันอยู่ทนโท่ มีหลักฐานความเสียหายจากข้าวในโกดัง ข้าวหาย หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็เคยพูดออกมาว่า เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 6.8 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน ผลจากการตรวจสอบของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี “วิชา มหาคุณ” เป็นเจ้าของสำนวน รวมไปถึงเลขาธิการ ป.ป.ช. “สรรเสริญ พลเจียก” ได้เปิดเผยหลักฐานการทุจริตออกมาอย่างต่อเนื่อง จนก่อนหน้าที่จะมีการลงมติของ สนช.ก็มีการชี้มูลความผิดอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เกี่ยวกับการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐว่าเป็นการฉ้อฉลและไม่มีอยู่จริง โดย ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิด อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ “ภูมิ สาระผล” ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ และเอกชนอีกหลายราย
ในเวลาต่อมาทางกระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวนประมาณ 1 แสนล้านบาทเพื่อออกมาชำระหนี้ ความหมายโดยนัยก็คือการชำระหนี้โครงการรับจำนำข้าวนั่นเอง ก่อนหน้านั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “สมหมาย ภาษี” เคยระบุว่าหนี้สินจากโครงการดังกล่าวรัฐต้องตามใช้หนี้กันถึงชั่วลูกชั่วหลาน นั่นคือไม่น้อยกว่า 30 ปี
นี่คือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ มูลค่าความเสียหาย ภาระที่คนไทยผู้ที่เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมต้องรับแบบอัปยศอดสูที่สุด นี่ต่างหากคือกระแสสังคมที่บีบคั้นว่า “ต้องมีคนที่รับผิดชอบ” ในเมื่อความเสียหายมากมายขนาดนี้ จะปล่อยให้ “ลอยนวล” ไม่ได้เป็นอันขาด นี่ต่างหากคือคำตอบว่าทำไมถึงทำให้ สนช.ต้องพลิกกลับมาลงมติแบบเสียงท่วมท้นดังกล่าว ขณะเดียวกันงานนี้อาจถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญสำหรับความดำรงอยู่ของรัฐบาลและ คสช.ในอนาคตเลยก็ได้ เพราะหากวันนั้น “มติไม่ถอดถอน” หรือถอดถอนไม่ได้ ก็ลองนึกดูก็แล้วกันว่า ความศรัทธาจะเหลืออยู่เท่าไหร่กันแน่
ในขณะที่รัฐบาลกำลังรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ทั้งเรื่องของแพง ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ การแสดงท่าทีเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ การขยับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือนและภาคขนส่งอีกรอบ เหล่านี้ล้วนทำลายความนิยมทั้งสิ้น แต่การที่ สนช.ลงมติออกมาสอดคล้องกับความต้องการของสังคม มันก็ย่อมทำให้ความศรัทธากลับมา
แต่ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญที่ต้องจับตาและเป็นผลต่อเนื่องตามมาก็คือ ผลจากการลงมติถอดถอนดังกล่าวมันก็เหมือนกับการบีบให้ต้องเลือกข้างกลายๆหรืออย่างน้อย ก็ต้องมีการปะทะคารมกับฝ่าย ทักษิณ ชินวัตรมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ แต่เท่าที่เห็นก็เริ่มออกมาทางนี้หลังจากมีการออกมากล่าวโจมตีรัฐบาล และคสช.มากขึ้น จนถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติกันหลายรายแล้ว!