ผ่าประเด็นร้อน
เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองตามมากันทันทีแบบอัตโนมัติหลังจากที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติด้วยเสียงท่วมท้นถอดถอนพ้นจากตำแหน่ง ทำให้ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากกรณีที่ไม่ระงับยับยั้งจนทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และยังมีสิทธิ์เจอเด้งที่สองจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ต้องยกร่างตามโรดแมปของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 (4) ที่กำหนดเอาไว้เป็น “บัญญัติ 10 ประการ” เกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้าม นั่นคือ “ห้ามเข้าสนามการเมืองตลอดชีวิต” อีกด้วย
แม้ว่าเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง เป็นเรื่องอนาคตสำหรับกรณีหลัง แต่รับรองว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวก็ต้องเดินไปตามเส้นทางนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ดี สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังมีบ่วงกรรมขนาดใหญ่รออยู่ข้างหน้า นั่นคือ “คดีอาญา” ที่ทางอัยการสูงสุดได้แถลงสั่งฟ้องอาญาต่อศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว โดยคาดว่าจะมีการสรุปสำนวนส่งฟ้องได้ภายในเดือนมีนาคม นั่นเท่ากับว่า “เสี่ยงคุก” เข้าไปอีกขั้น สำหรับคนที่เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ต้องมาโดนดำเนินคดีอาญามันก็เป็นเรื่องน่าเจ็บปวด แต่เมื่อเทียบกับความเสียหายของบ้านเมืองที่ประจานให้เห็นอยู่ทนโท่ มันก็ต้องแยกความรู้สึกออกจากกัน เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปตามกระบวนการยุติธรรม
แต่ขณะเดียวกัน คำถามที่ต้องตามมาก็คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะ"หนี"หรือไม่ แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนนั้นคำถามแรกก็คือ “จะไปนอก” หรือไม่ แม้ว่ายังไม่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนจากเธอออกมาให้เห็น เพราะอาจยังไม่มีจังหวะเหมาะ แต่สำหรับฝ่ายที่มีอำนาจทั้งจาก นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ก็แสดงท่าทีออกมาว่า ไม่ห้ามหาก ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางออกนอกประเทศ เพียงแต่ว่าต้องขออนุญาตตามระเบียบเท่านั้น
แน่นอนว่าสำหรับ ยิ่งลักษณ์ เป็นบุคคลที่อยู่ในข่ายต้องขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติทุกครั้งก่อนออกเดินทางไปต่างประเทศโดยต้องแจ้งกำหนดการเดินทางทั้งไปและกลับ รวมทั้งไปที่ไหน ไปทำไมอะไรประมาณนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เธอก็เคยขออนุญาตออกไปแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งในตอนนั้นยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ยังไม่สิ้นสุด ยังไม่มีความผิด ทำให้ไม่มีเหตุผลที่จะรั้งเธอเอาไว้ แม้ว่าจะมีความสงสัยอยู่บ้างก็ตาม
สำหรับคราวนี้ก็เช่นเดียวกัน เริ่มมีคำถามตามมาอีกหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอนทำให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี และหลังจากที่อัยการสูงสุดตัดสินใจฟ้องคดีอาญาจากโครงการรับจำนำข้าว โดยจะสรุปสำนวนส่งฟ้องในราวเดือนมีนาคม คำถามก็คือเธอจะไปต่างประเทศหรือเปล่า ซึ่งถ้าจะไปก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตก่อน และท่าทีของผู้มีอำนาจคือ รัฐบาล และ คสช.ยังไม่มีท่าทีขัดขวาง
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตามความเป็นจริง ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอสำหรับการขัดขวาง เพราะการลงมติถอดถอน และตัดสิทธิการเมือง เป็นเรื่องทางการเมือง ขณะที่คดีอาญาแม้ว่าทางอัยการแถลงว่าต้องฟ้องอาญา แต่ในตอนนี้ยังไม่ฟ้อง ทำให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ได้เป็นจำเลย ยังไม่มีความผิด และถึงแม้จะฟ้องศาลแล้วก็ยังสามารถขออนุญาตต่อศาลและเป็นดุลพินิจในตอนนั้นว่าจะอนุญาตหรือไม่ เพียงแต่ว่าตราบใดที่ยังไม่ชี้ขาดออกมา ก็ยังมีสิทธิเสรีภาพได้ตามสมควร
แต่อาจเป็นเพราะประสบการณ์เก่าๆ ที่สังคมเคยเห็นเป็นบทเรียนว่ากรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะซ้ำรอยพี่ชาย คือ ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยหนีโทษจำคุกจากคดีทุจริตซื้อที่ดินรัชดาฯหรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าหากเธอคิดจะหนีคดีอาญาจริงๆ มันจะทำได้ยากกว่าเดิมหรือเปล่า และสิ่งที่ต้องทำก็คือต้อง “รีบทำ” เสียก่อน ก่อนที่มีการส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯที่เธอกลายเป็นจำเลยหรือเปล่า เพราะในเวลานี้หากขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศก็ไม่มีเหตุผลที่จะห้ามได้ อีกทั้งท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ขัดขวางด้วยเหตุผลดังกล่าวนั่นเอง
ดังนั้น ทำให้ต้องจับตามองกันไม่น้อยว่าในที่สุดแล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีความเคลื่อนไหวที่จะเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนี้หรือต่อเนื่องไปจนถึงช่วงตรุษจีนในเดือนหน้าหรือไม่ เชื่อว่าเป็นเรื่องที่สังคมกำลังให้ความสนใจ แต่ถึงอย่างไรจะต้องตอบคำถามกันมากกว่าเดิม ทั้งคนขออนุญาตและคนอนุญาต คือ คสช.!!