xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง รธน.ใหม่เข้ม ให้ กก.องค์กรตรวจสอบยื่นบัญชีทรัพย์สิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้กรรมการองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน พร้อมภาษีย้อนหลัง ขณะเดียวกันยังสกัดทุจริตเชิงนโยบาย ห้ามออกกฎเอื้อธุรกิจครอบครัว ปิดช่องใช้นอมินีดำเนินการแทนตัว

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ขณะนี้มีการยกร่างฯไปแล้ว 120 มาตรา โดยในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณา ในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาลและกระบวนการยุติธรรม หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 1 บททั่วไป ซึ่งในส่วนนี้จะมี 2 มาตรา และในส่วนที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์มี 5 มาตรา โดยในบททั่วไปมีสาระที่เปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญในอดีต คือเพิ่ม กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. และเปิดเผยต่อสาธารณชน จากเดิมที่มีเพียง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการเมืองอื่นและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

ส่วนหลักฐานที่ยื่นประกอบการฯ ให้มีการเพิ่มสำเนาแสดงการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลังตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งมีการอภิปรายว่าในกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้ย้อนหลัง 3 ปี แต่ถ้าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย้อนหลังไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยบุคคลทั้งหมดต้องยื่นแสดงบัญชี ทรัพย์สินหนี้สินของตนเอง คู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และรวมถึงทรัพย์สินของผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ครอบครอบครองหรือดูแลทรัพย์สินแทนตนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งถ้าผู้ดำรงตำแหน่งฯมอบทรัพย์สินให้ใครก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้นต่อ ป.ป.ช.ด้วย ไม่เช่นนั้นก็ถือว่ามีเจตนาที่จะปกปิด

อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าวกรรมาธิการได้มีการเพิ่มเติมขึ้น หลังจากเห็นว่าหากกำหนดไว้เพียงให้ “ผู้ซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยา” ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ จึงได้ตัดถ้อยคำดังกล่าวออกไป

นอกจากนี้ มีการเพิ่มเติมในส่วนกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของรัฐโดยมีการระบุไว้ 4 ข้อ คือ 1. ไม่กำหนดนโยบาย หรือเสนอกฎหมาย หรือกฎที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่ตน คู่สมรส บุตรหรือบิดามารดามีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ 2. ไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่น มาประกอบการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้น 3. ไม่ใช้เวลาราชการหรือหน่วยงาน เงิน ทรัพย์สิน บุคลากร บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก ข้อมูลภายในของทางราชการหรือหน่วยงานไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนหรือผู้อื่น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎ 4. ไม่กระทำการใด ดำรงตำแหน่งใด หรือปฏิบัติการใดในฐานะส่วนตัว ซึ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงว่าจะขัดกับประโยชน์ส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน้าที่ หรือเป็นที่เสื่อมเสียแก่ตำแหน่งหน้าที่

ทั้งนี้ มีการเพิ่มการกระทำต้องห้ามให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลอื่นนอกเหนือไปจาก นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คู่สมรส และบุตร โดยกำหนดให้หมายรวมถึงผู้ถูกใช้ ผู้ร่วมดำเนินการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีให้กระทำการที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ คือ ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการรับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่ได้รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานตามปกติ


กำลังโหลดความคิดเห็น